ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 6-10 มิ.ย. 59: บมจ.ไทยออยล์


 


แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 6-10 มิ.ย. 59: บมจ.ไทยออยล์

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ. ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 2 มิถุนายน 2559  ราคาน้ำมันดิบคาดจะลดลงเล็กน้อยหลังโอเปคไม่สามารถตกลงกันได้และการผลิตของแคนาดาเริ่มกลับมา
          
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 46 - 51 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 46 - 51 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
         
 
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (6 - 10 มิ.ย. 59)
          
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดยังไม่สามารถทะลุผ่านแนวต้านที่สำคัญที่ระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปได้หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปคยังคงมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันในประเด็นเรื่องเพดานการผลิตน้ำมันดิบและโควตาการผลิต ส่งผลให้ผู้ผลิตแต่ละรายยังคงเดินหน้าผลิตน้ำมันดิบในระดับสูงต่อเนื่องเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ขณะที่การผลิตน้ำมันดิบของแคนาดาที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังไฟป่าเริ่มคลี่คลาย และแรงเทขายทำกำไรของนักลงทุน ยังส่งแรงกดดันต่อราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดี ราคาอาจปรับลดลงไม่มากนัก เนื่องจากตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบของไนจีเรียที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 22 ปี และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดตั้งแต่ ต.ค. 57
          
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
          
- ผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปคยังคงเดินหน้าเพิ่มปริมาณการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด โดยในการประชุมโอเปคล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. กลุ่มโอเปคยังคงไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นเรื่องเพดานการผลิตน้ำมันดิบ เนื่องจากอิหร่านไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว โดยอิหร่านต้องการให้กำหนดโควตาการผลิตเป็นรายประเทศ ประกอบกับต้องการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้กลับไปอยู่ระดับเดิมก่อนที่จะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติมหาอำนาจ โดยล่าสุดการส่งออกเดือน พ.ค. พุ่งขึ้นแตะระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ปริมาณการส่งออกในปีก่อนหน้าอยู่ที่ระดับเพียง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น
           
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของแคนาดามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังสถานการณ์ไฟป่าคลี่คลายและรัฐบาลมีคำสั่งให้ประชาชนที่อพยพไปก่อนหน้านี้กลับเข้าพื้นที่ได้ตามปกติ ส่งผลให้บริษัทผลิตน้ำมันดิบบางรายเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตแล้ว โดยนักวิเคราะห์คาดว่าการผลิตกว่า 500,000 บาร์เรลต่อวัน จะกลับมาได้ในเดือน มิ.ย. จากเดิมที่หายไปรวมทั้งสิ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
          
- จับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) วันที่ 14-15 มิ.ย. นี้ หลังนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่ Fed อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในช่วงเดือน มิ.ย. นี้ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ยังคงสดใส ทั้งจีดีพีไตรมาส 1/59 ที่ยังขยายตัวระดับสูงที่ 0.8% อย่างไรก็ตาม จากโพลของนักวิเคราะห์ต่างๆ มีเพียงร้อยละ 30 ที่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเดือนดังกล่าว
          
- สถานการณ์ความไม่สงบไนจีเรียยังคงยืดเยื้อ หลังกลุ่มติดอาวุธ ไนเจอร์ เดลต้า อเวนเจอร์ ยังเดินหน้าโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีการใช้กองกำลังทหารโจมตีทั้งทางน้ำและทางอากาศสร้างความเสียหายต่อแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบอย่างรุนแรง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบล่าสุดปรับลดลงต่อเนื่องสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 22 ปีที่ระดับ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยกลุ่มติดอาวุธได้มีการส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าโจมตีต่อเนื่องจนกว่ากลุ่มบริษัทน้ำมันต่างชาติจะอพยพออกไปหมด ส่งผลให้ปริมาณการผลิตของไนจีเรียคาดจะยังคงอยู่ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานาน
         
 - ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐ ยังคงชะลอการลงทุนและการผลิตน้ำมันดิบ ส่งผลให้จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐ รายงานโดย Baker Hughes (สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 พ.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปีที่ 316 แท่น และส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ซึ่งรายงานโดยสำนักสารสนเทศน์ด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) ปรับตัวลดลงกว่า 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 8.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
          
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 1/59 ยูโรโซน ยอดการส่งออกจีน ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคจีน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ ดัชนีความอ่อนไหวของผู้บริโภคสหรัฐ
          
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 พ.ค. - 3 มิ.ย. 59)
          
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 0.71 ดอลลาร์ ปิดที่ 48.62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.32 ดอลลาร์ ปิดที่ 49.64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยตลาดน้ำมันดิบได้รับกดดันจากการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ที่ไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นของการปรับเพดานการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม สาเหตุเนื่องจากอิหร่านไม่เห็นด้วยที่จะมีการกำหนดเพดานการผลิตและคงกำลังการผลิต โดยอิหร่านต้องการเพิ่มที่จะเพิ่มปริมาณการส่งออกให้กลับไปสู่ระดับเดิมก่อนการคว่ำบาตร ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.5 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือน มิ.ย. หรือ ก.ค. นี้หากข้อมูลเศรษฐกิจในประเทศยังคงแข็งแกร่งเช่นนี้ต่อไป




 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 มิ.ย. 2559 เวลา : 07:31:18

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 12:30 am