ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สภาเกษตรกรฯยื่นหนังสือค้านนำเข้าข้าวสาลีและกากข้าวโพดเอทานอลเพื่อผลิตอาหารสัตว์


 


ปัจจุบันเกษตรกรผู้ทำไร่มีพืชทางเลือกหลัก 3 ชนิด คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อย ซึ่งข้อาวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ส่วนมันสำปะหลังสามารถนำไปผลิตเป็นแป้งมัน เป็นอาหารสัตว์ และส่งออกเป็นบางส่วน แต่ในหลายปีที่ผ่านมาผู้ผลิตอาหารสัตว์กลับหันไปนำเข้าข้าวสาลี และ  กากข้าวโพดเอทานอล(DDGS) มาใช้ผลิตอาหารสัตว์แทนการใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น ทั้งยังลดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศ โดยดูเหมือนไม่ได้คำนึงถึงเกษตรกรคนไทยด้วยกันให้มีโอกาสทางอาชีพทางการเกษตรที่มั่นคงในระยะสั้น และระยะยาว

เมื่อ 7 มิถุนายน 2559 ณ อาคารวชิรานุสรณ์ ชั้น 2 ห้อง 201 (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) บางเขน กทม. นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ พร้อมตัวแทนเกษตรกร และนายกสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว สมาคมโรงสีข้าวแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตข้าวโพดและค่าพืชไร่ สมาคมการค้าพืชไร่ร่วมกันแถลงถึงปัญหาที่กระทรวงพาณิชย์อนุญาตนำเข้าข้าวสาลี ขี้ตะกอนและเศษจากการต้มกลั่นหรือกากข้าวโพดเอทานอล โดยไม่มีภาษีเพื่อผลิตอาหารสัตว์ จนเกินความต้องการใช้กระทบต่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังรำข้าวและอ้อยในประเทศตกต่ำอย่างหนัก โดยปี57 นำเข้า 6 แสนตันปี58 เพิ่ม3.5ล้านตัน ในปี59 นำเข้ามาแล้ว 1.6ล้านตัน เพียง 4 เดือนแรก ซึ่งแนวโน้มคาดว่าจะนำเข้าถึง 6 ล้านตันในปีนี้

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่าสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกี่ยวกับการนำเข้าข้าวสาลีเพื่อทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ โดยในปี 2557 มีการนำเข้าข้าวสาลีเพียง 6 แสนตัน ในปี 2558 เพิ่มจำนวนเป็น 3 ล้าน 4 แสนตัน และในช่วง 4 เดือนแรกในปี 2559 มีการนำเข้าข้าวสาลี 1.15 ล้านตัน ทั้งนี้สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตามหนังสือที่ สภช 0101/154 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้พิจารณาเรื่องการนำเข้าข้าวสาลีฯ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเกษตกรผู้ปลูกพืชไร่ ผู้ประกอบการในประเทศ ผู้ประกอบการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ภายในประเทศหลายชนิด ทำให้ผู้ประกอบการวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศ หลายล้านคนพังทั้งระบบ แต่มีคนได้ประโยชน์คือผู้ค้าอาหารสัตว์รายใหญ่ของประเทศ โดยที่ผ่านได้ไปยื่นหนังสือต่อกระทรวงพาณิชย์มาแล้วแต่ยังไม่มีการลดการนำเข้าแต่อย่างใด 
 

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ให้ลดการนำเข้าทันทีเพราะเกษตรกรทุกคนรอราคาขึ้น แต่ปรากฎว่าผลผลิตไม่ดีกระทบแล้งและยังมาเจอปัญหาราคายังตกต่ำมาตลอดเพราะวัถตุดิบนำเข้าราคาถูกกว่า มากดราคาในประเทศ ความจริงกระทรวงพาณิชย์ ควรพิจารณานำเข้าไม่เกิน 5แสนตัน ให้พอดีกับส่วนที่ขาด แต่ภายในปีเดียวกลับกระโดดไปเป็นล้านๆตัน ขณะนี้เกษตรกรลำบากยากจน มีคนเดียวคือนายกรัฐมนตรี ที่เป็นที่พึ่งของเกษตรกรได้  และพวกเราเห็นว่าช่วงเปลี่ยนผ่านการเมือง ไม่ควรจัดม็อบ จึงอยากเห็นการแก้ไขถูกต้องเป็นธรรมทุกฝ่าย อย่าให้มีผู้ได้ประโยชน์มากโดยเฉพาะผู้ผลิตอาหารสัตว์ กำไรเพิ่มขึ้น 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่เกษตรกรล้มสลายไปหมด

ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว มันสำปะหลังของเกษตรกรที่เพาะปลูกภายในประเทศ ซึ่งเป็น ผลจากการนำเข้าข้าวสาลี ขี้ตะกอนและเศษจากการต้มกลั่นหรือกากข้าวโพด (DDGS) ของผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ที่ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีมีดังนี้
1. สมาคมพืชไร่ ได้ชี้แจงถึงผลกระทบว่าการที่ผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ ได้นำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ข้าวสาลีที่ต้องมีการควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฉบับที่ 1 พ.ศ. 2559 และ DDGS ทำให้มีการนำเข้าในปริมาณที่มากเกินไป ส่งผลกระทบต่อราคาผลผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง เนื่องจากผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ หยุดรับซื้อผลผลิต จากผู้ประกอบการการค้าวัตถุดิบภายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร
2. ผู้ประกอบการค้ามันสำปะหลังประกอบด้วย 4 สมาคม ได้แก่ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสมาคมแป้งมันสำปะหลัง ได้แจ้งว่าจากการนำเข้าข้าวสาลีและ DDGS ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณการใช้มันเส้นในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ จากเดิม 1,600,000 ตัน/ปี เหลือ 7000,000 ตัน/ปี ส่งผลกระทบในการรับซื้อผลผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกรภายในประเทศประมาณ 2 ล้านตัน/ปี
3. ผู้ประกอบการการค้าข้าวไทย ได้แจ้งว่าการนำเข้าข้าวสาลี ส่งผลกระทบต่อการใช้วัตถุดิบ        รำข้าวซึ่งเป็นผลผลิตภายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวที่จะรับซื้อต่อเกษตรกร

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าสภาเกษตรกรแห่งชาติร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการการค้าพืชไร่ สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ประกอบการมันสำปะหลัง สมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว  ขอเสนอแนวทางการบริหารจัดการ ด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านราคาและกระทบต่อปริมาณผลผลิตของเกษตรกรดังนี้
1. ขอให้กระทรวงพาณิชย์ควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี ซึ่งเป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฉบับที่ 1 พ.ศ. 2559 ให้อยู่ในปริมาณไม่เกินกับวัตถุดิบ    อาหารสัตว์ที่จำเป็นต้องทดแทนอย่างเข้มงวด
2. ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจสอบการใช้อาหารสัตว์ที่จำหน่ายให้กับเกษตรกร            จากบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ ในเรื่องคุณภาพและผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสูตรอาหารสัตว์ที่ใช้วัตถุดิบข้าวสาลีและ DDGS ที่นำเข้าจากต่างประเทศ
3. ขอให้รัฐบาลกำหนดสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศกับการรับซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ผลิตโดยเกษตรกรไทยในประเทศ สำหรับส่วนที่เกินความจำเป็นในการใช้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรผู้ผลิตภายในประเทศ
4. ขอให้ผู้ประกอบการการผลิตอาหารสัตว์พิจารณาสต๊อกข้าวสารในคลังสินค้าของรัฐบาล   ก่อนที่จะนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ
5. ขอให้เพิ่มเติมผู้แทนจากสภาเกษตรกรแห่งชาติและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ในคณะทำงานวางแผน การตลาด วัตถุดิบอาหารสัตว์ครบวงจร ปี 2559
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 มิ.ย. 2559 เวลา : 17:36:55

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 12:14 pm