ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์คืนอนาคตประเทศไทย คืนประชามติ


 


วันนี้ (8 มิ.ย.)พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์พรรคเพื่อไทย คืนอนาคตประเทศไทย คืนประชามติที่อยู่ในบรรยากาศเสรี เป็นธรรม และเท่าเทียมกันทุกฝ่าย เนื้อหาของแถลงการณ์ระบุดังนี้ 

ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งคำร้องพร้อมความเห็น ต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 สาระสำคัญคือถ้อยคำที่กำหนดไว้ในมาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ. ดังกล่าวที่ห้ามเผยแพร่ข้อความในลักษณะผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างหนึ่งอย่างใด หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าเป็นความผิดและมีโทษทางอาญาฐานกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นการบัญญัติกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคบรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ได้ให้ความคุ้มครองไว้ 

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การออกเสียงประชามติมีความสำคัญและมีความหมายอย่างยิ่ง เพราะเป็นการกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศ และการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญต้องมีหลักประกัน 2 ประการ ได้แก่
 
1) ต้องเสรี (Free) โดยประชาชนต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ ต้องเปิดโอกาสให้มีการให้ความเห็นและถกเถียงถึงข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญอย่างอิสระ และ 2) ต้องเป็นธรรม (Fair) โดยประชาชนทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญต้องมีโอกาสที่จะเผยแพร่/รณรงค์เสนอความคิดเห็นต่อสาธารณะได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน 
         
แต่ก็เป็นที่น่าเสียใจว่าก่อนหน้าและนับแต่ได้มีการนำเสนอ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 เข้าสู่การพิจารณาของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ได้มีการสร้างบรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ มีการชี้นำห้ามประชาชนกระทำการใดๆ โดยจะถือว่าเป็นความผิด ประหนึ่งว่าตนคือกฎหมายเสียเอง
 
โดยเหตุดังกล่าวเนื้อความของกฎหมายนี้จึงมีการแปรญัตติตัดข้อความที่ควรเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนออก ใช้ถ้อยคำที่กำกวมยากจะเข้าใจได้ว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจตีความการกระทำของบุคคลได้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน มิให้วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเสรี เป็นการใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อจำกัดสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน เป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจ ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการของการทำประชามติ 
 
            
ในขณะเดียวกัน พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ยังได้ให้อำนาจข้าราชการและบุคคลากรฝ่ายรัฐสามารถรณรงค์/โน้มน้าวประชาชนให้รับร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเปิดเผย ซึ่งโดยส่วนใหญ่ดำเนินการโดยใช้งบประมาณของรัฐ ซึ่งมาจากภาษีประชาชน ในทางตรงกันข้ามประชาชนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญกลับไม่สามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะเช่นเดียวกันนั้นได้ 
            
พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวจะนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้รับการยอมรับ ประชามติที่ขาดความชอบธรรม ดังนั้นฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องหาหนทางแก้ไขและหาข้อยุติโดยเร็ว พรรคเพื่อไทยขอเสนอให้รัฐบาลและ คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คืนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ เพื่อให้เกิดบรรยากาศการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เสรี (Free) และเป็นธรรม (Fair) อันเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้งในประเทศและนานาอารยประเทศต่อไป 

พรรคเพื่อไทย 
8 มิถุนายน 2559 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 มิ.ย. 2559 เวลา : 09:11:48

23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 10:07 pm