ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
อย. เผยการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อาจเป็นสาเหตุสาวตรังดับ


 


 
อย. เผยการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อาจเป็นสาเหตุสาวตรังดับ เตือนผู้บริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด


กรณีสาวตรังเสียชีวิต อย. รุดเร่งตรวจสอบผู้ผลิตและผู้จำหน่าย ตามข้อมูลในแผ่นพับและฐานข้อมูลจากเลขสารบบอาหาร เผย อย. ไม่เคยอนุญาตให้ใส่สารสกัดหมามุ่ยในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากข้อมูลทางวิชาการมีสารสำคัญเรียกว่า L-dopa ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของการสื่อประสาท dopamine ที่มีผลต่อการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้ความดันโลหิตต่ำ เตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอวดสรรพคุณเกินจริง อ้างรักษาได้สารพัดโรค ย้ำ! ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค ต้องไม่แสดงสรรพคุณในการบำบัด บรรเทา หรือป้องกันโรค ผู้ใดโฆษณาถือว่ากระทำผิดกฎหมาย เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค แนะผู้บริโภคพิจารณาถี่ถ้วนก่อนซื้อ มิฉะนั้นอาจเสียเงินโดยไม่จำเป็น และเสียโอกาสในการรักษาโรค ทำให้โรคกำเริบ และเป็นอันตรายได้
 

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ตามที่มีข่าวหญิงสาวจากจังหวัดตรังเสียชีวิตหลังจากรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ระบุว่ามีสารสกัดหมามุ่ยอินเดีย นั้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว จึงเร่งรุดตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัญหาทันที โดยทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรังได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าทางมารดาและผู้เสียชีวิตสมัครเป็นสมาชิกขายตรงและได้รับผลิตภัณฑ์ชื่อ RESETมารับประทาน หลังจากนั้น มีอาการปากบวม ตาบวมปากเจ่อ มีผื่นขึ้น เจ้าหน้าที่พบแผงผลิตภัณฑ์ ระบุข้อความ MUBEAN RESET BODY BALANCE ไม่อยู่ในกล่องบรรจุ ไม่มีเลขสารบบอาหาร และได้ติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์ตัวแทนที่มาเปิดศูนย์จำหน่ายที่จังหวัดตรังแต่ไม่สามารถติดต่อได้ 
 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบแผ่นพับที่ได้มาจากทางครอบครัวผู้เสียชีวิตพบข้อความโฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์ RESET เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้รับเลขสารบบอาหารที่ 13-1-02954-1-0546 จำหน่ายโดย The Best International Co.Ltd และกล่าวอ้างสรรพคุณกระตุ้นฮอร์โมน ลดไขมันในร่างกาย ขับสารพิษออกจากตับ ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น มีการกล่าวอ้างส่วนประกอบสำคัญของหมามุ่ยอินเดีย ได้แก่ L-dopa ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์สำคัญในหมามุ่ยดังนั้น เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2559 เจ้าหน้าที่ อย. และตำรวจ บก. ปคบ. ได้นำหมายค้นเข้าตรวจสอบสถานที่จำหน่ายตามที่กล่าวอ้างในแผ่นพับ คือ บริษัท The Best International Co.Ltdตั้งอยู่เลขที่ 555 ซ.ประเสริฐมนูกิจ 43 แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ผลการตรวจสอบพบกล่องผลิตภัณฑ์สีน้ำเงิน 1 กล่อง ฉลากแสดงชื่อ “MUBEAN RESET BODY BALANCE”MANUFACTURED BY The Best International Co.,LTD ไม่มีเลขสารบบอาหาร ภายในมีผลิตภัณฑ์จำนวน 4 แผงบลิสเตอร์ แผงละ 10 แคปซูล ซึ่งเป็นแผงที่มีลักษณะเหมือนกับแผงผลิตภัณฑ์ที่ได้รับจากต้นทางที่เกิดเหตุ (ระบุ MUBEAN RESET BODY BALANCE รุ่นหมดอายุ EXP 01042018) 

ทางเจ้าหน้าที่จึงได้เก็บผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์หายา และสารสกัดหมามุ่ย ณกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งพบฉลากสติกเกอร์แสดงชื่อผลิตภัณฑ์ MUBEAN RESET BODYBALANCE ผลิตโดย The Best International Co.Ltd แสดงเลข อย. 13-1-02954-1-0546 และส่วนประกอบ หมามุ่ยอินเดีย นอกจากนี้ยังได้ไปตรวจสถานที่ตามข้อมูลเลขสารบบอาหารที่ปรากฏในแผ่นพับโฆษณา ปรากฏว่าไม่พบผลิตภัณฑ์หรือโฆษณาใด ๆ และได้ข้อมูลว่า หลังจากได้รับเลขสารบบอาหารแล้ว ยังไม่มีการผลิตเพื่อจำหน่าย

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ.ยังได้ล่อซื้อผลิตภัณฑ์ Reset ซึ่งได้รับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นชนิดขวด (ไม่ใช่แผงบลิสเตอร์ตามที่เป็นข่าว) โดยระบุเลข อย. 13-1-02954-1-0546 และระบุส่วนประกอบ หมามุ่ยอินเดียเช่นกัน ผลิตโดยThe Best International Co.Ltd ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้ อย. เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ต่อไป

ส่ว น ข อ ง ก า ร ดำ เ นิน ค ดี ห า ก พ บการเผยแพร่แผ่นพับและเว็บไซต์ที่มีการโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์อาหารเกินจริง รวมทั้งมีการผลิต/จำ หน่าย อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องในเบื้องต้นจะมีความผิด ดังนี้

1. โฆษณาสรรพคุณอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
2. ถ้ามีการโฆษณาสรรพคุณอาหารโอ้อวดเกินจริง หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. จำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
4. หากผลการตรวจวิเคราะห์ พบใส่ยาในผลิตภัณฑ์อาหาร จะจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5. สำหรับสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ RESET ที่แสดงเลขสารบบอาหารที่ 13-1-02954-1-0546 ของผู้อื่นนั้น อาจเข้าข่ายเป็นการผลิตอาหารที่มีฉลากเพื่อลวง จัดเป็นอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปีและปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม กล่าวต่อว่า อย. ไม่เคยอนุญาตให้ใส่สารสกัดหมามุ่ยในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากข้อมูลทางวิชาการมีสารสำคัญเรียกว่า L-dopa ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของการสื่อประสาท dopamine ที่มีผลต่อการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้ความดันโลหิตต่ำ และ อย. จะดำเนินการเฝ้าระวังติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จำหน่ายในท้องตลาดและผ่านทางสื่อต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค มิให้ได้รับผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตราย 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ผู้บริโภคจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรพิจารณาฉลากที่ข้างบรรจุภัณฑ์อย่างถี่ถ้วน ต้องมีข้อความภาษาไทยแสดงชื่ออาหาร โดยมีคำว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นส่วนหนึ่งของชื่ออาหาร สำหรับอาหารที่ผลิตในประเทศให้แสดงชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือ ผู้แบ่งบรรจุเพื่อจำหน่าย สำหรับอาหารที่นำเข้าให้แสดงชื่อและที่ตั้งของผู้นำเข้าและประเทศผู้ผลิต ปริมาณสุทธิ ส่วนประกอบที่สำคัญ วันเดือนปีที่ผลิตและวันเดือนปีที่หมดอายุ คำแนะนำในการเก็บรักษา เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. ข้อความคำเตือน และที่ฉลากต้องมีข้อความระบุว่าควรกินอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นประจำ และไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค พร้อมกันนี้ อย. ขอย้ำเตือนมายังผู้บริโภค อ่านข้อมูลของผลิตภัณฑ์จากฉลากที่ได้รับอนุญาต ไม่ควรเชื่อข้อมูลจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง อ้างรักษาได้สารพัดโรค เพราะนอกจากทำให้สิ้นเปลืองเงินทองแล้ว ยังอาจไม่ได้ผลตามที่โฆษณาอวดอ้าง มิหนำซ้ำอาจได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์นั้น ๆ
โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวอีกด้วย พึงระลึกไว้เสมอว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคืออาหาร ไม่ใช่ยา จึงไม่สามารถบรรเทา บำบัด หรือรักษาโรคใดๆ ตามที่โฆษณาอวดอ้างได้ ทั้งนี้ข้อความโฆษณาที่มีการอวดสรรพคุณในทางยาหรืออวดสรรพคุณรักษาโรค อย.จะไม่อนุญาตให้โฆษณาแต่อย่างใด ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ทางเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หรือที่ Oryor Smart Application

นอกจากนี้ หากผู้บริโภคได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงทางสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะทาง Social Media สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อ อย. จะดำเนินการติดตาม และดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด



 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 มิ.ย. 2559 เวลา : 15:21:17

17-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 17, 2024, 4:03 am