ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
อธิบดีกรมควบคุมโรคขออย่าตระหนกไวรัสซิก้า หลังพบผู้ป่วยที่เชียงใหม่


 


สธ. เฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสซิกาเข้มข้น เจ้าหน้าที่พร้อมลงพื้นที่สอบสวนโรคภายใน 24 ชั่วโมง หากพบผู้ป่วยจะดำเนินการควบคุมโรคทันที

  
วันนี้(22 มิถุนายน 2559) นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่าพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในจังหวัดเชียงใหม่ นั้น กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้รับรายงานจากพื้นที่และได้ส่งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ  ทั้งสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่  และสำนักระบาดวิทยา  ลงพื้นที่ดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา โดยดำเนินการภายใน 24 ชั่วโมง ทันทีที่ได้รับรายงานจากพื้นที่ และทางจังหวัดเชียงใหม่ได้เปิดศูนย์ปฎิบัติการภาวะฉุกเฉิน(EOC) ทั้งในระดับอำเภอและระดับจังหวัด เพื่อดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเต็มที่ เบื้องต้นผู้ป่วยเป็นเด็กไทยอายุ 9 กับ 11 ปี (เป็นพี่น้องกัน) มีอาการไข้ออกผื่นทั้งสองราย ไม่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยทั้งสองรายได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ขณะนี้อาการหายเป็นปกติและเดินทางกลับบ้านแล้ว  ผลการสอบสวนโรคล่าสุดขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่มเติม  
 
 
 
          
สำหรับการดำเนินการควบคุมโรคในพื้นที่ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง สอบสวนควบคุมโรคตามมาตรการการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มข้นในระดับสูงสุด ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคติดต่อโรคที่ต้องเฝ้าระวัง 1 ใน 57 โรคที่ต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558  หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบทันที และเป็นไปตามมาตรการองค์การอนามัยโลกและกฎอนามัยระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด โดยมุ่งเน้นที่การค้นหาผู้ป่วย การกำจัดยุงพาหะ และการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย  นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้ดำเนินการมาตรการเชิงรุกโดยการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง หากพบผู้ป่วยจะดำเนินการตามมาตรการป้องกัน ควบคุมโรคในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยทันที
          
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนอย่าได้กังวลและตื่นตระหนกในเรื่องดังกล่าว ประชาชนสามารถเดินทางได้ตามปกติ แต่ขอให้ตระหนักในการป้องกันโรคและช่วยกันกำจัดยุงและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายร่วมกัน ขอให้เชื่อมั่นในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทยและติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ส่วนอาการของโรค ได้แก่  มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ข้อบวม ปวดหลัง  อาจมีอาการ อื่นๆ ได้  เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ  ต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อาการเหล่านี้ทุเลาลงภายในเวลา 2-7 วัน  แต่หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อหรือมีอาการดังกล่าวข้างต้น  ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว เพราะถ้าติดเชื้ออาจส่งผลต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ทำเกิดภาวะสมองเล็กได้
          
นอกจากนี้ ผลการสำรวจทัศนคติ ความเห็นของประชาชน DDC Poll ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยกรมควบคุมโรค ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนกว่า 3,200 คนทั่วประเทศ พบว่ามีประชาชนเพียงร้อยละ 19.8 เท่านั้นที่มีพฤติกรรมกำจัดยุงลายภายในบ้าน หากพบว่ามียุงลายชุกชุมภายในบ้านของตนเอง
 
ในทางตรงกันข้ามมีประชาชนร้อยละ 45.0 จะแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และร้อยละ 13.0 จะรอให้ อสม. มาแจกทรายอะเบท หากพบว่ามียุงลายชุกชุมภายในบ้านของตนเอง เป็นต้น ซึ่งผลการสำรวจดังกล่าวบ่งชี้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังให้ความร่วมมือในระดับน้อยในการกำจัดยุงและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย  ดังนั้น จึงควรมีการประชาสัมพันธ์การดำเนินตามมาตรการ 3 เก็บ “เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ” เพื่อป้องกัน 3 โรค อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
 
          
ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงที่จะพบการระบาดได้หลายโรค โดยเฉพาะโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และหญิงในวัยเจริญพันธุ์ ดังนี้ 1.กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย โรงเรียน และสถานที่ทำงานอย่างสม่ำเสมอ  2.การป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยใช้ยาทากันยุง นอนในมุ้ง หรือห้องที่มีมุ้งลวด  และ 3.หญิงตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์ที่สถานบริการสาธารณสุขทั่วไป  หากมีข้อมูลเพิ่มเติม กระทรวงสาธารณสุขจะแจ้งให้ประชาชนทราบเป็นระยะ ประชาชนสามารถติดตามแนวทางคำแนะนำและข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เป็นปัจจุบันทางเว็บไซต์กรมควบคุมโรค หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 มิ.ย. 2559 เวลา : 11:48:05

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 8:35 pm