ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เกษตรกร7จังหวัดภาคกลางตอนล่างร่วมสะท้อนความเห็น TPP


 


เกษตรกรกว่า 220 คนจาก 7 จังหวัดในภาคกลางตอนล่างเข้าร่วมสัมมนา 'รู้จัก TPP' และแสดงความคิดเห็น ข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) 

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2559 ได้ลงพื้นที่พร้อมกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกรมวิชาการเกษตร เพื่อจัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับความตกลง TPP และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ภายใต้อนุสัญญา UPOV 1991 แก่เกษตรกรในภาคกลางตอนล่าง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพดของไทย โดยมีประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัด สมาชิกสภาเกษตรกร เครือข่ายเกษตรกรตำบล ภาควิชาการและภาคประชาสังคม จาก 7 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี เพชรบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร กว่า 220 คน เข้าร่วมการสัมมนา       ณ จังหวัดกาญจนบุรี 
 
 
 
นายวินิจฉัย กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้รับทราบข้อเสนอจากภาคเกษตรที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการ ได้แก่ ขอให้ภาครัฐซึ่งมีนักวิชาการจำนวนมากทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพดี เหมาะสมกับสภาพอากาศ เนื่องจากปัจจุบันมีภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะภัยแล้ง เพื่อเพิ่มผลผลิตและมีราคาถูก เพื่อลดต้นทุนของเกษตรกร และให้สามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้ ให้ความรู้แก่เกษตรกรในการจดสิทธิคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ส่งเสริมให้มีการวิจัยเพื่อให้มีเกษตรทางเลือกมากขึ้น ส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในการสูบน้ำบาดาล ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ออแกนิค  

นายวินิจฉัย กล่าวเสริมว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ยังเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและคลายข้อห่วงกังวลของเกษตรกรต่อประเด็นที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ภายใต้อนุสัญญา UPOV 1991 ได้แก่ เรื่องต้นทุนเมล็ดพันธุ์มีราคาสูง ซึ่งปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนเมล็ดพันธุ์หรือพันธุ์พืชที่มีคุณภาพดีและราคาถูกเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกร สำหรับเรื่องการตรวจสอบพันธุ์พืชใหม่โดยตรวจ DNA นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ความจริงแล้วอนุสัญญา UPOV 1991 ไม่มีข้อกำหนดดังกล่าว แต่ให้เปรียบเทียบความใหม่ ซึ่งต้องมีลักษณะที่แตกต่างจากพันธุ์พืชเดิม ในส่วนของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจากต่างประเทศในภาคเกษตรโดยไม่มีการควบคุมอย่างเหมาะสม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรที่มีสารดังกล่าวตกค้าง จึงได้แนะนำให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรอินทรีย์ตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสู่ตลาดโลก 

 
นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีข้อห่วงกังวลในเรื่องการเสียเปรียบด้านความสามารถทางการแข่งขันของเกษตรกร   รายย่อยโดยเฉพาะปศุสัตว์ที่มีต้นทุนสูง ไม่สามารถแข่งขันด้านราคา และการทุ่มตลาดของเครื่องในวัวและสุกรจากสหรัฐอเมริกา จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐจะต้องเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาให้เข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรขอให้วิเคราะห์ประโยชน์และผลกระทบอย่างรอบด้าน และให้จัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องต่อไป 
“กระทรวงพาณิชย์ ยินดีรับฟังความเห็นและข้อห่วงกังวลของเกษตรกรและภาคประชาสังคม โดยจะพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงตามที่เกษตรกรนำเสนอประกอบกับข้อมูลเชิงวิชาการ เพื่อประเมินความพร้อมและแนวทางที่เหมาะสมของไทย และพร้อมทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทุกภาคส่วน โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อพัฒนาและยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของภาคการเกษตรของไทยต่อไป” นายวินิจฉัย กล่าว
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 มิ.ย. 2559 เวลา : 13:13:29

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 7:33 pm