ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ลงทุน 48,717 ลบ. เปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน ระยะเวลา10ปี


 


กฟน. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมเดินหน้าโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคมแบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน
 

วันนี้ (29 มิถุนายน 2559) นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการการไฟฟ้านครหลวง เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคมแบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน โดยมี นายสมชาย โรจน์รุ่งวศินกุล ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง พร้อมด้วย นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการ กสทช. นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ พล.ต.อ. เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา ที่ปรึกษา (สบ.10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมลงนาม ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ

 
นายสมชาย โรจน์รุ่งวศินกุล ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะที่เป็นองค์กรชั้นนำด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในระดับสากล ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนอย่างเพียงพอ มีความมั่นคง และคำนึงถึงความปลอดภัยในระบบไฟฟ้า
 
พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการปรับทัศนียภาพให้มีความสวยงาม ตอบสนองตามนโยบายของภาครัฐบาล จึงได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นระบบสายไฟฟ้าใต้ดินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา กฟน. มีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานกับกรุงเทพมหานครเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้พื้นที่ดำเนินโครงการฯ การประสานงานกับตำรวจเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ก่อสร้าง ตลอดจนการแก้ไขปัญหาสายสื่อสาร ที่มีหน่วยงานอย่าง สำนักงาน กสทช. และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะปรับปรุง ภูมิทัศน์ของกรุงเทพมหานคร ด้วยการดำเนินการเปลี่ยนระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคมให้กับประชาชนในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร โดยการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน และนำสายสื่อสารโทรคมนาคมที่อยู่ในพื้นที่โครงการฯ ลงใต้ดินทั้งหมด เพื่อให้กรุงเทพมหานครมีภาพลักษณ์ที่ดี สวยงาม และเหมาะสมกับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน
 

ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวงกล่าวว่า ในด้านบทบาทการดำเนินโครงการฯ ของแต่ละหน่วยงาน การไฟฟ้านครหลวงจะเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการก่อสร้างเพื่อเปลี่ยนระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้า โดยกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนการบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และมีผลกระทบต่อประชาชนในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะให้การสนับสนุนการบริหารจัดการ วิเคราะห์และแก้ไขปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้การจราจรเกิดความคล่องตัว และประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาการจราจร น้อยที่สุด นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนการบริหารจัดการ และกำหนดนโยบายให้ผู้ประกอบการดำเนินการนำสายสื่อสารทั้งหมดลงใต้ดิน โดยมี บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการก่อสร้างเพื่อรองรับการนำสายสื่อสารทั้งหมดลงใต้ดิน

สำหรับขอบเขตความร่วมมือในครั้งนี้ ประกอบด้วย โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินที่ กฟน. กำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ จิตรลดา ปทุมวัน และพญาไท (เพิ่มเติม) นนทรี พระราม 3 รัชดาภิเษก-พระราม 9 รวมถึงโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นระบบสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน. ระยะที่ 1 รวม 127.3 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 48,717 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นโครงการระยะยาว 10 ปี (2559-2568) ทั้งนี้ การได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการแผนพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ ในภาพรวมเพื่อให้การดำเนินการเป็นเอกภาพ ไม่เกิดความซ้ำซ้อน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน




 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 มิ.ย. 2559 เวลา : 16:29:19

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 12:42 am