ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ครม.อนุมัติ 4มาตรการช่วยเกษตรกรชาวสวนผลไม้


 


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติอนุมัติการดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนผลไม้ที่ประสบภัยแล้ง ปี 2559 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง กษ.เสนอว่า คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนไม้ผลที่ประสบภัยแล้งปี 2559 ให้สามารถฟื้นฟูการผลิตไม้ผลที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรมีแนวทางปฏิบัติต่อสวนไม้ผลเพื่อประกอบอาชีพชาวสวนผลไม้ได้อย่างยั่งยืน โดยมาตรการช่วยเหลือมี 4 มาตรการ ดังนี้
          
1. มาตรการขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้เดิมของเกษตรกร ออกไปเป็นระยะเวลา 2 ปี นับถัดจากงวดชำระเดิม และลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรอัตราร้อยละ 3 ต่อปี โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกรให้ ธ.ก.ส. ในวงเงินกู้รายละไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลา 2 ปี ให้ช่วยเหลือเกษตรกรทั้งหมด จำนวนเป้าหมาย 95,000 ราย
          
2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อลงทุนสร้างแหล่งน้ำสำรองและการบริหารจัดการน้ำ รายละไม่เกิน 130,000 บาท โดย ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR-2 (ปัจจุบัน MRR=7) และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนเกษตรกรอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปีแรก โดยให้เกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 เป็นเวลา 3 ปี และช่วยเหลือเกษตรกรทั้งหมด จำนวนเป้าหมาย 95,000 รายสำหรับกำหนดชำระคืน และหลักประกันเงินกู้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ธ.ก.ส. กำหนด ทั้งนี้ การดำเนินการในมาตรการนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องไม่เคยได้รับการสนับสนุนด้านแหล่งน้ำที่ทางราชการดำเนินการให้มาก่อน
          
3. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปลูกทดแทนไม้ผลชนิดเดิมหรือปรับเปลี่ยนไม้ผลชนิดอื่นที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ อัตราไร่ละไม่เกิน 10,000 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ ให้แก่เกษตรกรประเภทเสียหายสิ้นเชิงที่เข้าร่วมโครงการให้ช่วยเหลือเกษตรกรทั้งหมด 11,600 ราย โดย ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR-2 (ปัจจุบัน MRR=7) และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนเกษตรกรอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 4 ปีแรก สำหรับกำหนดชำระคืน และหลักประกันเงินกู้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ธ.ก.ส. กำหนด
          
4. มาตรการให้ความรู้เกษตรกรในเรื่องการผลิตไม้ผลคุณภาพดี การบริหารจัดการการผลิต และการตลาด ตลอดจนถึงระบบโลจิสติกส์ ให้ดำเนินการกับเกษตรกรเต็มจำนวนเป้าหมายทั้งหมด (95,000 ราย) ทั้งประเภทเสียหายสิ้นเชิงและประเภทได้รับผลกระทบ
          
พื้นที่ดำเนินการ 35 จังหวัด มีดังนี้
          
-ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี และจังหวัดอ่างทอง
          
-ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด
         
-ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี
         
-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์
         
-ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดตาก จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดลำพูน จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดอุตรดิตถ์
         
-ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดชุมพร จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดพัทลุง จังหวัดยะลา จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสตูล และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ก.ค. 2559 เวลา : 18:38:28

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 3:20 pm