ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ปภ.ประสาน9 จังหวัดภาคตะวันออก-ใต้ รับมือภาวะฝนตกหนัก 8-13 ก.ค.


 


นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสาน 9 จังหวัด แยกเป็น ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 5 จังหวัด ประกอบด้วย ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มจากภาวะฝนตกหนักและฝนตกสะสม 
          
จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ในช่วงวันที่ 8 – 13 กรกฎาคม 2559 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนเพิ่มมากขึ้น คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยเฉพาะทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ และภาคตะวันออก ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม
 

ทั้งนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อม ปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดให้เตรียมการป้องกันและระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักและฝนตกสะสม ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบน ควรงดออกจากฝั่งในช่วงดังกล่าวในระยะนี้ โดยประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุกระจายเสียงประจำท้องถิ่น เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สถานีโทรทัศน์และเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น รวมถึงอาสาสมัคร พร้อมตรวจสอบท่อและทางระบายน้ำในเขตเมืองมิให้มีสิ่งของหรือวัสดุอุดตัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ตรวจสอบความแข็งแรงของป้ายโฆษณา สิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ขนาดใหญ่ พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่ดำเนินการแก้ไขให้อยู่ในสภาพปลอดภัย รวมถึงตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง 
          
กรณีที่มีฝนตกหนัก ถึงหนักมาก ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปยังสถานที่ปลอดภัย หรือจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และแผนปฏิบัติการฯ แผนเผชิญเหตุของอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแนวทางการจัดการสาธารณภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากสถานการณ์รุนแรงเกินศักยภาพ ให้รายงาน กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางทราบทันที เพื่อประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ก.ค. 2559 เวลา : 12:57:40

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 7:47 pm