ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ก.แรงงานจัดอบรม จนท.4กระทรวงหลัก สร้างความเข้าใจ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล


 


กระทรวงแรงงาน จัดอบรมให้ความรู้พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มีพนักงานเจ้าหน้าที่ 4 กระทรวงหลัก เจ้าของเรือ คนประจำเรือ รวมกว่า 200 คนเข้าร่วม มุ่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง พนักงานนำไปปฏิบัติต่อ เจ้าของเรือรู้หน้าที่ คนประจำเรือรู้สิทธิตนเอง เพื่อพัฒนากิจการพาณิชย์นาวีของไทย และพัฒนาการคุ้มครองแรงงานสู่มาตรฐานสากล

วันนี้ (14 ก.ค. 59) เวลา 11.00 น. ณ ห้องเจ้าพระยาบอลรูม ชั้น 2 โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการอบรมให้ความรู้พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 โดยกล่าวว่า สภาพการจ้างสภาพการทำงานบนเรือเดินทะเล มีความเสี่ยงเนื่องจากมีระยะเวลาการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน รวมถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ใช้ปัจจุบันไม่ครอบคลุมถึงคนประจำเรือ รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ขึ้น ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2559 เพื่อกำหนดมาตรฐานสภาพการทำงาน สภาพการจ้าง ความปลอดภัยและสุขอนามัยของคนประจำเรือ และการคุ้มครองด้านประกันสังคม โดยกำหนดมาตรการให้มีการออกใบรับรองแรงงานทางทะเลแก่เรือที่ชักธงไทยเพื่อรับรองว่าคนประจำเรือจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม
 

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารกฎหมาย 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และกระทรวงแรงงาน และได้มีการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติการตามกฎหมายและร่วมกันขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดหลักกลไกประชารัฐมาบูรณาการความร่วมมือระหว่างประชาชน กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อบริหารกฎหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อกิจการขนส่ง การคุ้มครองแรงงานทางทะเล และพัฒนากิจการพาณิชย์นาวีของประเทศไทย และเพื่อให้การทำงานของคนประจำเรือเป็นกิจการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศเป็นไปตามมาตรฐานสากล ประเทศไทยจึงให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2559 หรือ Maritime Labour Convention, 2006 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ คนประจำเรือ ได้รับการคุ้มครองมีสภาพการจ้างสภาพการทำงานที่ดี มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย สุขอนามัย มีสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ฝ่ายเจ้าของเรือก็จะได้รับการรับรองว่าปฏิบัติถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ว่าจ้าง รวมทั้งรัฐบาลจะมีรายได้จากการจดทะเบียนเรือ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศ

“แม้ว่าจะได้ไปลงสัตยาในอนุสัญญาฯ และมีกฎหมายที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลแล้วก็ตาม แต่ถ้าหากขาดการบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดการนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง รวมถึงการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และภาคประชาชนแล้ว ก็คงยากที่จะทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการการขนส่งและการคุ้มครองแรงงานทางทะเลตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ได้วางไว้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การอบรมครั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้ และเผยแพร่สาระสำคัญของพระราชบัญญัติดังกล่าวให้แก่ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานทั้ง 4 กระทรวง รวมไปถึงฝ่ายเจ้าของเรือ ฝ่ายคนประจำเรือและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้นำความรู้ไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งฝ่ายเจ้าของเรือจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และคนประจำเรือได้รับทราบถึงสิทธิของตนเองด้วย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ก.ค. 2559 เวลา : 13:55:55

18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 5:44 pm