ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ก.แรงงานเผย พ.ร.บ.แรงงานทางทะเลเบื้องต้นคุ้มครองแรงงานกว่า 4 หมื่นคน


 


นายธีรพล  ขุนเมือง  ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ศิริชัย  ดิษฐกุล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่ 5 เม.ย.59 โดยจุดเน้นคือการดูแลคุ้มครองคนประจำเรือ ทั้งด้านสภาพการทำงานบนเรือเดินทะเล สภาพการจ้าง ความปลอดภัย และสุขอนามัย
 
ตลอดจนการคุ้มครองด้านการประกันสังคม อาทิ ห้ามใช้คนประจำเรือที่อายุต่ำกว่า 16 ปี ต้องจัดให้มีเวลาพักผ่อน ไม่น้อยกว่า 1 ชม. มีสิทธิในการลาขึ้นฝั่ง ลาคลอด ต้องมีหนังสือข้อตกลงการจ้างที่ชัดเจน ระบบการรักษาพยาบาล การคุ้มครองชีวิต ป้องกันอุบัติเหตุต้องพร้อม ค่าล่วงเวลาต้องไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าต่อ ชม. และต้องจัดหาคนประจำเรือให้เพียงพอกับงานให้เป็นตามมาตรฐานสากล โดยเบื้องต้นมีคนที่ทำงานประจำเรือเดินทะเลที่ได้รับประโยชน์และได้รับการคุ้มครองจาก พ.ร.บ.นี้โดยตรงจำนวนกว่า 40,000 คน ประการสำคัญได้มีผลบังคับใช้ภายในรัฐบาลนี้  นอกจากนั้น เจ้าของเรือเอง ซึ่งมีเรือขนาด 200 ตันกรอสขึ้นไปกว่า 1,000 ลำ จะได้ประโยชน์พร้อมกันไปด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้การรับรองว่าปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากลภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ.2559 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ซึ่งไทยได้ลงสัตยาบันไว้แล้วเมื่อ 7 มิย.2559 ณ นครเจนีวา จะทำให้สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ว่าจ้าง ส่งผลให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศได้อย่างดียิ่ง

 นายธีรพลฯ กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เน้นย้ำว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.แรงงานทางทะเลนี้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 กระทรวง คือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน จึงเน้นการทำงานเชิงบูรณาการอย่างใกล้ชิด โดยใช้กลไก “ประชารัฐ” ร่วมมือกันทั้งคนประจำเรือ ภาครัฐ และเจ้าของเรือ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการเดินเรือทะเล และการคุ้มครองแรงงานทางทะเลตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดไว้ อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย
 
 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 18 ก.ค. 2559 เวลา : 18:24:22

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:29 am