ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ก.แรงงาน ยก 3S ให้คนพิการเป็นพลังสร้างสรรค์เศรษฐกิจ


 


นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งรัดพัฒนาอาชีพคนพิการ โดยใช้กลไก “ประชารัฐ” ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ส่งเสริมให้คนไทยทุกกลุ่มมีงานทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัฐบาลมุ่งเน้นยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการให้ดียิ่งขึ้น ให้มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
 

โดยในส่วนของกระทรวงแรงงานเองได้ผนึกการทำงานร่วมกันทุกกรม อาทิ กรมการจัดหางาน อำนวยความสะดวกเรื่องการจ้างงาน ตรวจสัญญาจ้าง วิเคราะห์ความเหมาะสมของงานตามสัญญาจ้าง, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ช่วยฝึกฝีมือให้คนพิการทั้งการฝึกร่วมกับคนปกติและฝึกเฉพาะคนพิการรวมทั้งการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมที่สถานประกอบการให้การสนับสนุนตามมาตรา 35, สำนักงานประกันสังคม รับขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนสำหรับคนพิการที่ได้รับการบรรจุงานตามมาตรา 33, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้การคุ้มครองแรงงานที่เป็นคนพิการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน, สำนักงานปลัดกระทรวง ออกกฎกระทรวง ดูแลเรื่องนโยบาย แผนงาน และการประสานงานในภาพรวม
 
 
โดยการดำเนินการข้างต้น เพื่อให้คนพิการมี 3S (3เอส) คือ Skill ให้มีทักษะความสามารถในการประกอบอาชีพ Social ให้เป็นที่ยอมรับของสังคมมีงานทำ มีรายได้ และ Security ให้ได้รับความคุ้มครองทางสังคม มีประกันสังคมและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย นอกจากนั้น ต้องผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดด้วย เพื่อให้คนพิการทำงานอย่างมั่นคง มีความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของตนเอง และเป็นพลังในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในสถานประกอบการ (ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2550) หรือการส่งเสริมอาชีพตามมาตรา 35 ทั้งด้านการให้สัมปทาน การจัดสถานที่จำหน่ายสินค้า การจัดจ้างเหมาช่วงงาน การฝึกงาน การให้การช่วยเหลืออื่นเพื่อแทนการจ้างงานคนพิการ โดยผู้จ้างไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอีกต่อไป
 

นายธีรพลฯ กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายการจ้างงานและส่งเสริมอาชีพคนพิการในปี 2559 จำนวน 10,000 คน ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสถานประกอบการไม่สามารถรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 ได้ และไม่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ตามมาตรา 34 (กรณีสถานประกอบการไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงานตามกำหนด คือ มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไปต้องรับคนพิการที่สามารถทำงานได้จำนวน 1 คน) ยังสามารถดำเนินการตามมาตรา 35 ได้ โดยมีทางเลือกที่หลากหลาย อาทิ สร้างโรงเพาะชำให้กลุ่มคนพิการปลูกพืชผัก หรือมอบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัทให้คนพิการนำไปจำหน่าย มอบวัตถุดิบเพื่อให้คนพิการนำไปผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายให้เกิดรายได้ เช่น ผ้าชิ้นเพื่อตัดเย็บเสื้อผ้า/แปรรูปผ้าขาวม้า, ประดิษฐ์รถชอปเปอร์, ปุ๋ยจากมูลไส้เดือน ตลอดจนมอบเครื่องดนตรีในการประกอบอาชีพนักดนตรี เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้ ตั้งแต่ ต.ค. 58 – มิ.ย. 59 สามารถสร้างอาชีพให้คนพิการได้แล้ว 7,000 คน มีสถานประกอบการสนับสนุน จำนวน 889 แห่ง
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ก.ค. 2559 เวลา : 15:37:33

18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 8:09 am