ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
หยิบเงินหยิบทอง - บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง


 


ตลาดหุ้นไทยวานนี้
          SET INDEX วานนี้ ฟื้นตัวเด่นในช่วงบ่าย หลัง SCC รายงานกำไรสุทธิใน 2Q59 ออกมาดีกว่าคาดถึง 20% พร้อมปันผลมากกว่าคาดเล็กน้อย ทำให้บรรยากาศโดยรวมเป็นบวกอีกครั้ง ปิด ณ สิ้นวัน SET INDEX บวก 10.59 จุด มาอยู่ที่ 1,515.40 จุด มูลค่าการซื้อขาย 59,855 ล้านบาท 
ต่างชาติยังคงเลือกซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยเป็นวันที่ 13 เร่งขึ้นเป็น 3,192 ล้านบาท แม้ Short สุทธิใน SET50 Index Futures เป็นวันแรกในรอบ 3 เพียง 151 สัญญา และขายสุทธิตลาดตราสารหนี้เป็นวันที่ 6 อีก 2,913 ล้านบาท ก็ตาม

ปัจจัยสำคัญวันนี้
          ผลการประชุมเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาด พร้อมติดตามภาวะเศรษฐกิจโลก และอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด 
          เงินทุนต่างชาติยังคงหนาแน่นในตลาดเอเชียเกิดใหม่
          ติดตามการประชุม BoJ อาจมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลัง นายกฯ Abe ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 28 ล้านล้านเยนไปแล้ววานนี้
          ติดตามการรายงานงบ 2Q59 ของ PTTEP เราคาดเพิ่มขึ้น 96% yoy เป็น 2.57 พันล้านบาท แต่หดตัว 54% qoq
          โบรกเกอร์ต่างชาติ 3 รายปรับราคาเหมาะสมของ SCC ขึ้นเป็น 570-575 ล้านบาท

มุมมองต่อตลาดวันนี้: กลาง (วันที่ 6)
          เราให้น้ำหนักกับ SET INDEX วันนี้มีโอกาสทดสอบด่าน 1,520 จุด และมีความเป็นไปได้สูงที่จะปิดยืนเหนือแนวดังกล่าว หลังตัวเลขการส่งออกเดือนมิ.ย.ของไทยออกมาดีกว่าคาด SCC รายงานกำไรสุทธิ 2Q59 ดีกว่าคาดถึง 20% พร้อมแรงเก็งกำไรต่อการประชุม BoJ ซึ่งในช่วงสายๆ ของวันนี้เราก็จะทราบกันว่า BoJ จะเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาเสริมต่อจากนโยบายการคลังของนายกฯ Abe หรือไม่ หาก BoJ เพิ่มมาตรการเข้ามา เชื่อว่าบรรยากาศตลาดหุ้นทั่วโลกจะตอบรับเชิงบวก รวมถึงตลาดหุ้นไทย
          ประเมินกรอบแกว่งของ SET INDEX วันนี้ระหว่าง 1,510-1,525 จุด มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 6.0 หมื่นล้านบาท +/- นำโดย SCC ตอบรับเชิงบวกจากผลการดำเนินงาน และการฟื้นตัวของกลุ่มธนาคาร นำโดย SCB หลังพักฐานมาราว 1 สัปดาห์ 
          สำหรับการประชุมเฟด เป็นไปตามคาด ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% พร้อมประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจในระยะสั้นลดลง แต่ยังคงติดตามอย่างใกล้ชิดกับภาวะเงินเฟ้อและความผันผวนในเศรษฐกิจโลก เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
          กลยุทธ์การลงทุนยังคงแนะนำ “ทยอยสะสมหุ้นขนาดกลางและเล็กที่มีประเด็นการลงทุนเชิงบวกเฉพาะตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการดำเนินงาน 2Q59” ส่วนหุ้นหลักเราให้น้ำหนักกลุ่มธนาคาร และอสังหาฯ ต่อเนื่อง 

Strategy of the Day          
          1.  สะสม SCC : ราคาปิด 514.00 บาท ราคาเหมาะสม 600.00 บาท
          a)  SCC รายงานกำไรสุทธิ 2Q59 ทำระดับสูงสุดใหม่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท เติบโต +15% yoy และ +18% ออกมาดีกว่าคาดการณ์ของตลาดถึง 20% จาก Margin ของธุรกิจปิโตรเคมีที่ดีกว่าคาดการณ์ และประกาศจ่ายเงินปันผล 1H59 หุ้นละ 8.50 บาท 
          b)  คงมุมมองเชิงบวกในระยะกลาง-ยาว จากจุดเด่นของบริษัทคือเป็นผู้นำธุรกิจปิโตรเคมีและวัสดุก่อสร้างในภูมิภาคอาเซียน และบริษัทคงเป้าหมายการลงทุนปีละ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายฐานลูกค้าในภูมิภาครวมทั้งการเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและให้อัตรากำไรสูง 
          c)  คาดกำไรสุทธิปี 2559 เติบโต +8.7% yoy เป็น 4.9 หมื่นล้านบาท ทำระดับสูงสุดใหม่ของบริษัทได้ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าจะเป็นหุ้นหลักที่ได้อานิสงค์โดยตรงจากการไหลเข้าของกระแสเงินทุนต่างชาติ            
          2.  เก็งกำไร LH : ราคาปิด 9.80 บาท ราคาเหมาะสม 10.80 บาท
          a)  ราคาหุ้นมี Sentiment บวก หลัง LHBANK รายงานกำไรสุทธิ 2Q59 เติบโตถึง +91% yoy ดีกว่าคาดการณ์ของตลาดของตลาดถึง 60% จึงคาดจะส่งผลให้ Equity Income ของ LH เติบโตสูงใน 2Q59 โดยปัจจุบัน LH ถือหุ้น 33.9% และจะลดลงเหลือ 21.9% หลัง CTBC ชำระเงินเพิ่มทุนใน LHBANK 
          b)  คาดกำไรสุทธิ 2Q59 เติบโต qoq และจะเด่นใน 2H59 จากการรับรู้รายได้ Backlog โครงการคอนโดมิเนียม ได้แก้ 333 Riverside และ The Room Sathorn 11
          c)  ผลตอบแทนจากเงินปันผลในระดับสูง โดยคาดการณ์เงินปันผล 1H59 หุ้นละ 0.25 บาท คิดเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผล 2.5% และทั้งปี 2559 หุ้นละ 0.56 บาท คิดเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผล 5.7% 

Fund Flow Analysis

Fund Flow in Emerging Markets
ซื้อสุทธิอีก US$722 ล้าน ใกล้เคียงกับวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ US$714 ล้าน 
และซื้อสุทธิทุกตลาดเป็นวันที่ 

Foreign Investors Action วานนี้
ต่างชาติยังคงซื้อหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นวันที่ 13 รวมกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท
          นักลงทุนต่างชาติ คงการซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยเป็นวันที่ 13 ขยับขึ้นเป็น 3,192 ล้านบาท รวม 13 วันทำการซื้อสุทธิทะลุ 35,000 ล้านบาท เป็น 36,138 ล้านบาท และทำให้ YTD ต่างชาติซื้อสุทธิทะลุ 75,000 ล้านบาท เป็น 76,058 ล้านบาท
          ด้าน SET50 Index Futures นักลงทุนกลุ่มนี้กลับมา Short สุทธิเป็นวันแรกในรอบ 3 วันทำการ แต่ก็เพียง 151 สัญญาเท่านั้น เทียบกับ 2 วันทำการก่อนหน้า Long สุทธิ 10,331 สัญญา คาดว่านักลงทุนกลุ่มนี้ปิดสถานะ Long เล็กน้อย ส่งผลให้ QTD มีสถานะ Long ลดลงเล็กน้อยเป็น 4,928 สัญญา ขณะที่ S50U16 ปิดต่ำกว่า SET50 Index กว้างขึ้นเป็น 7.67 จุด จากวันก่อนหน้า Discount เท่ากับ 6.66 จุด 
          และตลาดตราสารหนี้ นักลงทุนกลุ่มนี้คงการขายสุทธิเป็นวันที่ 6 อีกเล็กน้อย 2,913 ล้านบาท รวม 6 วันทำการขายสุทธิทะลุ 15,000 ล้านบาท เป็น 16,424 ล้านบาท เทียบกับ 2 วันทำการก่อนหน้าซื้อสุทธิ 4,293 ล้านบาท โดยที่ราคาพันธบัตรไทยปรับฐานลงแรง ผ่านพันธบัตรไทย อายุ 10 ปี ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นถึง 4.15bps จากวันก่อนหน้าลดลง 1.76bps ปิดที่ 2.139%

Short-Selling วานนี้ 
ลดลงเหลือ 633 ล้านบาท จากวันก่อนหน้า 784 ล้านบาท           

NVDR Movement
NVDR ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 15 กลับมาเน้นกลุ่มธนาคารอีกครั้ง
          การซื้อขายผ่าน NVDR ซื้อสุทธิอีก 1,626 ล้านบาท ชะลอตัวจากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ 2,034 ล้านบาท รวม 15 วันทำการ ซื้อสุทธิทะลุ 40,000 ล้านบาท เป็น 42,749 ล้านบาท ทั้งนี้ NVDR กลับมาเน้นสะสมกลุ่มธนาคารมากกว่าครึ่งของยอดซื้อสุทธิรวม

ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ – การเงินรายภูมิภาค

สหรัฐอเมริกา
          เฟดคงอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาด
          - ทั้งนี้ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจลดลง ภาวะการจ้างงานตึงตัว ซึ่งเป็นสัญญาณบวกที่เอื้อต่อการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในระยะถัดไป
          - แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะสั้นนั้นชะลอตัวลง โดยเฟดจะยังติดตามทิศทางอัตราเงินเฟ้อ และพัฒนาการด้านเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด 
          - ประธานเฟดยังคงยืนยันที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป หากแต่ความผันผวนในตลาด และภาวะการจ้างงานที่ชะลอตัวอย่างคาดไม่ถึง จะเป็นตัวแปรที่จะทำให้เฟดเลื่อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม เฟดก็ยังไม่มีการกำหนดช่วงเวลาที่แน่นอนว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นได้เมื่อใด

          ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาเป็นลบ
          - ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือนมิ.ย. หดตัว 4.0% mom มากกว่าที่ Bloomberg consensus คาดลดลงเพียง 1.3% mom และเป็นการหดตัวในอัตราเร่งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -2.8% mom ส่วนยอดคำสั่งซื้อที่ไม่รวมขนส่ง หดตัวเป็นเดือนที่ 2 อีก 0.5% mom สวนทางกับที่ Bloomberg consensus คาด +0.3% mom 
          - ยอดขายบ้านมือสองรอปิดการขาย เดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 0.2% mom ต่ำกว่า Bloomberg consensus คาด +1.3% mom แต่ฟื้นตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ -3.7% mom 
 

ยุโรป
          ยอดค้าปลีกอังกฤษหดตัวลงแรงสุดในรอบเกือบ 4 ปี: ยอดค้าปลีกเดือนก.ค. เท่ากับ -14 จุด เป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2555 และลดลงแรงจากเดือนมิ.ย.ที่ 4.0 จุด พร้อมแนวโน้มยอดค้าปลีกจะชะลอตัวในเดือนส.ค. เป็นผลกระทบจากการลงประชามติ Brexit ในวันที่ 23 มิ.ย. 
          เศรษฐกิจอังกฤษขยายตัวดีกว่าคาดใน 2Q59: เติบโต 0.6% qoq เร่งขึ้นจาก 1Q59 ที่ขยายตัว 0.4% qoq และดีกว่า Bloomberg consensus คาด 0.5% qoq โดยภาคบริการมีการขยายตัวแข็งแกร่งสุด 0.5% qoq ใน 2Q59 ส่วนผลผลิตภาคอุตฯ ขยายตัว 2.1% qoq เป็นระดับดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2542 ขณะที่ภาคการก่อสร้างหดตัว 0.4% qoq 

จีน          
          ธนาคารกลางจีนเริ่มเข้าแทรกแซงตลาดเงิน: วันที่ 27 ก.ค. ธนาคารกลางจีนได้ขาย Reverse-Repurchase 7 วัน วงเงิน 1.8 แสนล้านหยวน เป็นการเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในระบบธนาคารพาณิชย์  ถือเป็นวงเงินสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. หลังอัตราดอกเบี้ย RP7 วันในตลาดเงินเพิ่มขึ้นตลอด 6 วันทำการก่อนหน้า เนื่องจากความต้องการนำเงินไปชำระภาษี รวมถึงการเก็งกำไรว่าจะมีการเข้าแทรกแซงค่าเงินหยวน 
          ทางการจีนอยู่ระหว่างการพิจารณาจำกัดผลิตภัณฑ์ของ Wealth Management: ซึ่ง WMP มีมูลค่ารวมถึง US$3.6 ล้านล้าน โดยทางการอาจกำหนดวงเงินสูงสุดในการลงทุนในตลาดหุ้น และผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่มาตรฐานของสินทรัพย์ เช่น สินเชื่อ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้การตรวจสอบมีความเข้มงวด และลดการ Leverage ผ่านตลาดเงินเพื่อควบคุมความเสี่ยง 

เอเชียแปซิฟิก
          นายกฯ ญี่ปุ่นตัดสินใจออกมาตรกากระตุ้นเศรษฐกิจ 28 ล้านล้านเยน: หรือคิดเป็น US$2.65 แสนล้าน โดยเป็นมาตรการทางการคลัง 13 ล้านล้านเยน เพียงแต่ยังไม่มีรายงานถึงรายละเอียดของแผนกระตุ้น 

ไทย
          ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ เดือนมิ.ย.ลดลง: ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ระดับ 85.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.4 ในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากความกังวลต่อความเปราะบางของเศรษฐกิจภายในประเทศ สะท้อนจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ปัญหาการแข่งขันด้านราคา การขาดแคลนวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนความกังวลต่อความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และผลกระทบจากการลงประชามติของสหราชอาณาจักรที่สนับสนุนออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (BREXIT)
 


         
โดยบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด ประจำวันที่ 28 ก.ค. 2559
 

บันทึกโดย : วันที่ : 28 ก.ค. 2559 เวลา : 10:16:01

16-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 16, 2024, 11:48 am