ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เผยผลช่วยเกษตรกรจากภัยแล้ง พื้นที่ภาคเหนือตอนบน


 


สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เผย ผลประเมินโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59 ครั้งที่ 2 พื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน ภาพรวมในมาตรการที่ 4 เกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในระดับมาก ช่วยสร้างรายได้เฉลี่ย 5,376 บาท/ราย ด้านมาตรการที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ เกษตรกรส่วนใหญ่พึงพอใจต่อมาตรการในระดับปานกลางที่ร้อยละ 64

นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามประเมินผลโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59 ครั้งที่ 2 ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน (แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย และพะเยา) โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (สศท.1) ระหว่างวันที่ 5 – 25 กรกฎาคม 2559 โดยสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่โครงการ ประธานศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) ที่นำเสนอโครงการ เกษตรกรที่สมัครเป็นแรงงานในโครงการ และเกษตรกรในพื้นที่แต่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ รวม 350 ราย โดยเน้นการวัดผลสัมฤทธิ์ภายใต้มาตรการที่ 4 การเสนอโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชน ที่ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 กรกฎาคม 2559 และมาตรการที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำด้านปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อลดปัญหาหมอกควัน

ผลการติดตามประเมินผล มาตรการที่ 4 การเสนอโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชน พบว่า เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงระดับมากที่สุดร้อยละ 44 ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและต้องการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เนื่องจากไม่มีน้ำเพื่อการเกษตรไม่สามารถเพาะปลูกในฤดูแล้งได้โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่สูง บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคร่วมด้วย โดยเกษตรกรร้อยละ 89 ไม่มีการปรับเปลี่ยนการผลิตทางการเกษตรจากเดิม ยังคงปลูกพืชเดิมหรือลดพื้นที่ลง ทำให้เกิดปัญหาการว่างงานในฤดูแล้ง ชุมชนจึงเสนอโครงการเพื่อบรรเทาปัญหา เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการกักน้ำและการกระจายน้ำ การสร้างฝายชะลอน้ำ การปรับปรุงระบบคลองส่งน้ำ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การสร้างลานตาก รวมถึงการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ เช่น การเลี้ยงสุกร  การเพาะเห็ด การแปรรูปสินค้าเกษตร หัตถกรรมจักรสาน การประดิษฐ์ดอกไม้ การผลิตน้ำดื่ม การเย็บผ้าห่ม และการเย็บผ้าปาเต๊ะ เป็นต้น

เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาโครงการพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อมาตรการในระดับมากร้อยละ 53 เนื่องจากมีรายได้จากการรับจ้างเป็นแรงงานโครงการเฉลี่ย 5,376 บาท/ราย ส่วนใหญ่ร้อยละ 92 เบิกเงินมาใช้จ่ายแล้ว โดยนำไปใช้เพื่ออุปโภคบริโภคร้อยละ 64 รองลงมาลงทุนทางการเกษตร ชำระหนี้ เก็บออม และอื่นๆ (ค่าเล่าเรียนบุตร,ทำบุญ)

สำหรับมาตรการที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ด้านปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อลดปัญหาหมอกควัน เกษตรกรประสบปัญหาจากหมอกควันร้อยละ 74 โดยเกษตรกรส่วนใหญ่พึงพอใจต่อมาตรการในระดับปานกลาง   ร้อยละ 64 เนื่องจากสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งบางพื้นที่ที่ประสบปัญหาหมอกควัน เช่น บริเวณพื้นที่ใกล้ชายแดนยังไม่สามารถดำเนินการได้สะดวก

อย่างไรก็ตาม พบว่า หากมีการดำเนินโครงการในระยะต่อไป ชุมชนต้องการให้มีการอนุมัติโครงการและงบประมาณให้รวดเร็วสอดคล้องตามแผนดำเนินการโครงการของชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และให้การทำงานเกิดประสิทธิผลตามเป้าหมายโครงการมากขึ้น



 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ส.ค. 2559 เวลา : 11:10:07

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:21 pm