ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กฟผ. ยืนยันการประกวดราคาโรงไฟฟ้ากระบี่ไม่ขัดแย้งไตรภาคี


 


กฟผ. ยืนยัน การประกวดราคาโรงไฟฟ้ากระบี่ ยังไม่มีผลทางกฎหมาย ต้องได้รับความเห็นชอบรายงาน EHIA จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รวม ทั้ง ความเห็นของคณะกรรมการไตรภาคีตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี และได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลครบ ถ้วนแล้วเท่านั้น

นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ดำเนินการประกวดราคาโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ขนาดกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ คู่ขนานไปกับขั้นตอนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เพื่อให้ระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2015) ตามที่กำหนดไว้ และมิได้ละเมิดข้อตกลงของคณะกรรมการไตรภาคี เนื่องจากขั้นตอนการ อนุมัติโครงการ ยังต้องรอความเห็นจากคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ (ไตรภาคี) ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ซึ่งตามแผน PDP2015 โครงการจะแล้วเสร็จในปี 2562 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี ซึ่งจากขั้นตอนของคณะกรรมการไตรภาคีดังกล่าว ณ เวลาปัจจุบัน ทำให้คาดว่า โครงการจะต้องเลื่อนออกไปอย่างน้อยอีก 1 ปี
 

 
ทั้งนี้ การเปิดซองราคาโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 กลุ่มกิจการค้าร่วม พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ ไชน่า และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเว ล๊อปเมนต์ เสนอราคาต่ำสุดที่ประมาณ 32,000 ล้านบาท โดยผู้เสนออีกรายคือ 34,900 ล้านบาท เสนอราคา สูงกว่าราว 2,600 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการพิจารณาการประกวดราคาของโรงไฟฟ้ากระบี่ ยังไม่แล้วเสร็จ ยังมีขั้นตอนการเจรจา ในรายละเอียดกับกลุ่มผู้เสนอราคาเปรียบเทียบต่ำสุด โดยจะใช้ระยะ เวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งการเปิดซองประกวดราคานี้ ยังไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย โดย กฟผ. ได้ระบุใน เงื่อนไขการออกเอกสารสนองรับราคา (Letter of Intent-LOI) ไว้อย่างชัดเจนว่า จะออกเอกสารสนองรับ ราคาเมื่อโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบรายงาน EHIA จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนด รวมถึงได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการจากรัฐบาลครบถ้วนแล้วเท่านั้น หากรายงาน EHIA ไม่ผ่านการพิจารณาและคณะรัฐมนตรี ไม่อนุมัติการดำเนินโครงการฯ กฟผ. จะยกเลิกการประกวดราคา ในครั้งนี้

 
สำหรับประเด็นที่กรีนพีซไทยแลนด์ระบุว่า ราคาประมูลต่ำสุด 3.2 หมื่น ล้านนั้น สร้างความกังวลถึงประสิทธิภาพและการกำกับดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยอ้าง อิงข้อมูลที่ระบุว่า การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมมลพิษที่เข้มงวดของโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์ จะทำ ให้โครงการมีมูลค่าถึง 6.028 หมื่นล้านบาทนั้น รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. ชี้แจงว่า ราคาประมูลต่ำ สุดจากการเปิดซองประกวดราคา มาจากการประกวดราคาในระดับนานาชาติ (International Bidding) โดย เป็นเทคโนโลยีสะอาดที่รวมอุปกรณ์ควบคุมมลภาวะตามมาตรฐานสากลแล้ว คือ ระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ ไดออกไซด์ (FGD) ระบบควบคุมก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (SCR) อุปกรณ์ดักจับฝุ่น (ESP) และระบบ กำจัดสารปรอท (ACI) ซึ่งเป็นราคาใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดทั้งของเอกชนในประเทศ ไทยและในภูมิภาคอาเซียน (ณ ระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประมาณ $46 ต่อบาร์เรล)

ส่วนข้อมูลที่กรีนพีซอ้าง ระบุว่า องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA ) ประมาณการณ์ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด ประเภท Ultra-supercritical ที่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เนื่องจาก IEA (มีนาคม 2013) ประมาณการณ์ต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์ ประเภท Ultra- supercritical อยู่ในช่วงระหว่างประมาณ 17,000 – 53,000 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 35 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ) ซึ่งเป็นราคาที่รวมอุปกรณ์ควบคุมมลภาวะตามมาตรฐานสากลแล้ว (โดยขณะนั้น ราคาน้ำมันดิบมีราคาประมาณ $80 ต่อบาร์เรล) แต่การคำนวณของกรีนพีซยังได้นำ 6 หมื่นล้านบาท ที่ถูก อ้างถึง ได้มีการบวกรวมเพิ่มค่าอุปกรณ์ควบคุมมลสารต่างๆ ซ้ำอีกครั้ง โดยอ้างอิงราคาการติดตั้งเพิ่มเติมโรง ไฟฟ้าเก่าของสหรัฐอเมริกาในปี 2008 (NESCAUM 2011) ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้นับเป็นส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้า ถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดใหม่ในปัจจุบันอยู่แล้ว

 “กฟผ. เป็นองค์การรัฐวิสาหกิจ ไม่ได้ต้องการมุ่งผลกำไรสูงสุด แต่มุ่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม จึงได้ปฏิบัติทุกขั้นตอนตาม กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และมีแนวทางการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด โดย ใช้เทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน” นายรัตนชัย นามวงศ์ กล่าวในที่สุด



 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ส.ค. 2559 เวลา : 17:43:39

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 4:42 pm