ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
อาเซียน-จีนบังคับใช้พิธีสารเพื่อยกระดับความตกลงการค้าเสรี-เร่งแก้ปัญหาเหล็กจีนทะลักอาเซียน


 


ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีน ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2559 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ยินดีกับการบังคับใช้พิธีสารยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ผลักดันจีนแก้ไขปัญหาเหล็กจีนทะลักอาเซียน และเร่งรัดการเจรจาตามแผนงานที่ระบุในพิธีสารฯ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า พิธีสารเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความตกลงในส่วนที่เกี่ยวข้องระหว่างอาเซียน–จีน ที่ได้ลงนามเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 ณ ประเทศมาเลเซีย และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 ปัจจุบันมีผลบังคับใช้แล้วกับจีน เวียดนาม สิงคโปร์ สปป.ลาว เมียนมา และบรูไน ขณะที่ประเทศอื่นอยู่ระหว่างดำเนินการภายในและคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วนี้ โดยพิธีสารดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Area: ACFTA) ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาพการค้าในปัจจุบันในเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 
 

ทั้งนี้ ที่ประชุมเร่งรัดขอให้ประเทศสมาชิกที่เหลือเร่งดำเนินกระบวนการภายในและให้สัตยาบันพิธีสารฯ โดยเร็ว เพื่อสามารถใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรี ACFTA ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการเจรจาตามแผนงาน เพื่อให้แล้วเสร็จตามกำหนด ได้แก่ การปรับปรุงกฎถิ่นกำเนิดสินค้าให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี การเร่งลดภาษีในรายการสินค้าอ่อนไหวให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี และการปรับปรุงการคุ้มครองและการเปิดเสรีการลงทุนให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับจากกลางปีนี้
นางอภิรดี กล่าวว่า ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานของอาเซียน-จีน ได้ผลักดันการจัดประชุมร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนของอาเซียนกับจีน เพื่อแก้ไขปัญหาเหล็กจีนที่ทะลักเข้ามาในตลาดอาเซียน ซึ่งสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเหล็กในอาเซียนเป็นอย่างมาก โดยจีนตอบรับข้อเสนอดังกล่าว 

นางอภิรดี กล่าวเสริมว่า อาเซียนและจีนเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมระหว่างอาเซียนกับจีนว่าด้วยความร่วมมือในการเสริมสร้างศักยภาพการผลิต ซึ่งสนับสนุนและสร้างโอกาสการยกระดับความร่วมมือด้านการลงทุนภาคการผลิตระหว่างอาเซียนกับจีน และยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับจีนเห็นชอบที่จะเสนอให้ผู้นำอาเซียนและจีนรับรองในช่วงการประชุม ASEAN-China Summit ปลายปีนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์อาเซียน-จีน 25 ปี ด้วย 
ความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-จีน มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2548 ส่งผลให้ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน โดยมีปริมาณการค้าสูงถึง 350 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 15.2 ของมูลค่าการค้าในอาเซียน และการลงทุนทางตรงจากจีนมายังอาเซียนมีมูลค่าถึง 8.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้จีนกลายเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 4 ของอาเซียน 
การค้ารวมระหว่างไทยกับจีนในปี 2558 คิดเป็น 65 พันล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกไปจีน 24 พันล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากจีน 41 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ มูลค่าการค้าไทย-จีน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-มิ.ย.) การค้ารวมไทย-จีน มีมูลค่า 31 พันล้านเหรียญสหรัฐ ไทยนำเข้าจากจีนมูลค่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกไปจีน มูลค่า 11 พันล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของไทยภายใต้ความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-จีน ในปี 2558 มีมูลค่า 11 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 79 ของสินค้าส่งออกที่ได้รับสิทธิทั้งหมดซึ่งมีมูลค่า 14 พันล้านเหรียญสหรัฐ



 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ส.ค. 2559 เวลา : 11:30:06

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 5:28 pm