ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สบส. เตือนบ้านที่ปลั๊กไฟอยู่ต่ำน้ำท่วมระวังไฟฟ้าดูด


 


สบส. เตือนบ้านที่ปลั๊กไฟอยู่ต่ำน้ำท่วมระวังไฟฟ้าดูด  แนะให้เช็คสภาพสายไฟปั๊มสูบน้ำไฟฟ้าทั้งเก่า/ใหม่ก่อนใช้งาน

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมระวังภัยไฟฟ้าดูด  โดยเฉพาะบ้านที่ปลั้กไฟอยู่ต่ำ เช่นบ้านสมัยใหม่ที่ฝังปลั๊กไฟในผนัง   ขอให้สำรวจระบบควบคุมไฟในบ้านหรือเบรคเกอร์ หากเกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันให้ตัดไฟทันที ส่วนผู้ที่มีปั๊มสูบน้ำไฟฟ้าสูบน้ำออกจากบ้าน ขอให้ตรวจสอบสภาพสายไฟ หากพบสายแตกลายงา ข้อต่อหักงอ ห้ามใช้เทปหรือสก๊อตเทปพันสาย เพราะไม่สามารถกันน้ำเข้าได้   ขอให้เปลี่ยนสายไฟหรือส่งซ่อมให้มีสภาพปลอดกัยก่อน

เช้าวันนี้ (18 สิงหาคม 2559) ที่โรงแรมไพลิน จังหวัดพิษณุโลก นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการสุขภาพภาคประชาชนและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพในจังหวัดที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 2 ได้แก่ พิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย และเพชรบูรณ์  จัดโดยสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 2 จ.พิษณุโลก  เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพภาคประชาชนในตำบลจัดการสุขภาพ เพิ่มความเข้มแข็งสู่การพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน ผู้เข้าร่วมประชุม 200 คน    ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือซึ่งมวลน้ำจะไหลลงมาสู่จังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง เช่น สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน จึงเน้นย้ำขอความร่วมมืออสม ให้ดูแลชุมชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ 5 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ/ ผู้พิการ และหญิงตั้งครรภ์ ให้อยู่ในที่ปลอดภัย โดยกรม สบส.ได้จัดส่งถุงกู้ชีพฉุกเฉินไปให้สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต เพื่อสนับสนุนการทำงานอสม.ในพื้นที่ประสบภัย อุปกรณ์ภายในถุงประกอบด้วย เชือกเส้นใหญ่และเล็ก เสื้อชูชีพเพื่อช่วยชีวิตผู้ที่พลัดตกน้ำ นกหวีด ไฟฉาย รองเท้าบู๊ทยาง พร้อมทั้งสนับสนุนเรือท้องแบนเพื่อออกไปช่วยเหลือประชาชน
 

 
ประเด็นที่น่าห่วงคือปัญหาการเสียชีวิตจากเหตุไฟฟ้าดูดในช่วงน้ำท่วม ซึ่งพบรองจากการจมน้ำ โดยเฉพาะบ้านที่ปลั๊กไฟอยู่ต่ำ เช่นบ้านสมัยใหม่ซึ่งมักจะนิยมฝังปลั้กไฟในผนังปูนหรือที่เสาบ้านในระดับต่ำเพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน จึงมีความเสี่ยงน้ำท่วมปลั้กไฟได้ง่าย ทำให้ไฟฟ้ารั่วไหลเป็นอันตรายต่อผู้พักอาศัย ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ลุ่มหรือใกล้แม่น้ำให้เตรียมพร้อม หากเป็นไปได้ให้ย้ายปลั้กไฟขึ้นที่สูง     กรณีที่เป็นบ้าน 2 ชั้นให้ตรวจสอบระบบควบคุมไฟฟ้าหรือเบรคเกอร์ในบ้านว่ามีการแยกระบบระหว่างชั้นบนกับชั้นล่างหรือไม่ หากมีให้ตัดไฟชั้นล่างทันทีเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม  และให้ย้ายเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูงให้พ้นจากน้ำ ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในขณะที่ตัวเปียกหรือร่างกายสัมผัสกับน้ำ หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้จุดเสี่ยงกระแสไฟรั่วไหลเช่น เสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ อย่างน้อย 2 เมตรขึ้นไป

ทางด้านนายสาธิต นฤภัย ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 2 จ.พิษณุโลก กล่าวว่า เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้ามก็คือเครื่องปั้มสูบน้ำไฟฟ้า ซึ่งประชาชนมักจะนำมาใช้กันบ่อยในช่วงน้ำท่วม ขอให้ตรวจสอบสภาพความปลอดภัยทั้งเครื่องเก่าและใหม่ก่อนใช้งานไว้แต่เนิ่นๆ   หากพบว่าสายไฟชำรุด  สายแตกหักจนเห็นลวดทองแดง หรือสายไฟอยู่สภาพแตกเป็นลายงา ไม่ควรใช้เทปพันสายไฟหรือเทปกาวพัน  เนื่องจากไม่สามารถกันน้ำเข้าได้ หากสายแช่น้ำจะทำให้กระแสไฟฟ้ารั่วไหลออกมาได้ จึงขอให้เปลี่ยนสายไฟ หรือส่งซ่อมก่อนเพื่อความปลอดภัย ในกรณีที่ปลั้กไฟในบ้านถูกน้ำท่วม หลังน้ำลดห้ามเปิดเบรคเกอร์ที่เชื่อมต่อกับปลั้กไฟตัวนั้นโดยทันที เพราะในปลั้กไฟจะมีความชื้นหรือยังชุ่มน้ำอยู่   ขอให้ติดต่อช่างไฟฟ้าเข้ามาตรวจสอบความพร้อมก่อนใช้งาน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ส.ค. 2559 เวลา : 10:32:21

24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 4:44 pm