ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
อักษร จุฬาฯ จับมือ ก.วิทย์ -สวทช. สานต่อโครงการระบบสื่อสาระออนไลน์ฯ


 


อักษร จุฬาฯ จับมือ ก.วิทย์ - สวทช. สานต่อโครงการระบบสื่อสาระออนไลน์ฯหวังประชาคมจุฬาฯ และสังคม ใช้สารสนเทศเพิ่มพูนความรู้เป็นประโยชน์กว้างขวางแก่วงการศึกษาไทย

ณ ห้อง ๑๐๕ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : ความร่วมมือการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการดำเนินงานโครงการระบบสื่อสาระออนไลน์ฯ

รองศาสตราจารย์ ดร. กิ่งกาญจน์ เทพกาญจนา คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กล่าวว่า ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๒ โดยเป็นการรวมห้องสมุดคณะอักษรศาสตร์ (ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙) และศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง เข้าเป็นหน่วยงานเดียวกัน เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและให้บริการทรัพยากรสารนิเทศด้านมนุษยศาสตร์ทุกรูปแบบทั้งหนังสือ วารสาร สิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ รวบรวมความรู้ชั้นนำทางมนุษยศาสตร์ที่สมบูรณ์และทันสมัย ซึ่งเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรม ให้บริการทรัพยากรสารนิเทศทุกรูปแบบแก่คณาจารย์และนิสิตในทุกหลักสูตรที่เปิดสอนในคณะอักษรศาสตร์ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน สนับสนุนการศึกษา ค้นคว้าวิจัย ที่จะช่วยตอบปัญหาของสังคมในยามเกิดวิกฤตอันเป็นเป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัย จัดหา เผยแพร่ และบริการสารนิเทศได้อย่างรวดเร็ว ตรงตามความต้องการของนิสิต คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย ในสาขา ทั้งระดับชาติและนานาชาติ
 

ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. จัดทำโครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกล เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ขนาดใหญ่ เพื่อให้ได้สื่อสาระสำหรับครูอาจารย์ผู้สอนได้นำไปใช้สร้างสื่อการสอน เพื่อการเรียนรู้ทางไกลสำหรับนักเรียนทั่วราชอาณาจักร ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าโครงการสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลนี้ เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อนักเรียน นิสิต นักศึกษา ครู อาจารย์ และประชาชนเป็นอย่างยิ่ง  ศูนย์สารนิเทศฯ มีทรัพยากรสารนิเทศหลากหลาย เช่น หนังสือ ตำรา วิทยานิพนธ์ งานวิจัย วารสาร สื่อการศึกษา คลังหรือแหล่งความรู้มากมาย ให้บริการเชิงรุก หลากหลายรูปแบบด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้ประชาคมจุฬาฯ และสังคม สามารถใช้สารสนเทศและความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกับความต้องการ สะดวก รวดเร็วโดยใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาพัฒนาศักยภาพ การเรียนการสอน การวิจัย ไปยัง นักเรียน นิสิต นักศึกษา ครู อาจารย์ บุคลากรในหน่วยงานของรัฐ และประชาชนทุกภาคส่วน ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ จึงได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางแก่วงการศึกษาของไทย

ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กำหนดแผนการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ตามโครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลฯ โดย สำรวจ คัดเลือก และจัดเตรียมข้อมูลของคณะอักษรศาสตร์ และพิพิธพัสดุ์ไท-กะไดประเภทภาพถ่าย เพื่อนำเข้าในคลังจัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศแบบเปิด (Open Education Resources : OER) เพื่อเพิ่มเติมความรู้ในเรื่องต่างๆ ของศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ ว่า ตลอดระยะเวลากว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริให้กับกลุ่มหน่วยงานต่างๆ ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาจัดระบบการศึกษาในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ในการดำเนินงานโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทรงเป็นองค์ประธานกรรมการโครงการฯ ด้วยพระองค์เอง
 
 
 
 
หนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่ดำเนินการภายใต้โครงการฯ คือการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพที่ดีขึ้นให้แก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนที่อยู่ในชนบทที่ห่างไกล ที่มักจะประสบกับปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอน รวมถึงผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ อาทิ ผู้พิการ ผู้ต้องขัง เด็กป่วยในโรงพยาบาล ฯลฯ โดยตัวอย่างของโครงการที่ได้ดำเนินการและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี คือ โครงการระบบการศึกษาทางไกลที่มีชื่อเรียกว่า eDLTV ซึ่งทำให้เด็กในชนบทห่างไกลหรือเด็กที่เรียนในโรงเรียนที่ขาดแคลนครู หรือครูจบการศึกษาไม่ตรงกับรายวิชาที่สอน ได้มีโอกาสเรียนผ่านจอทีวีหรือจอคอมพิวเตอร์ ระบบนี้มีผู้ใช้งานอย่างแพร่หลายถึงประมาณปีละ ๒ ล้านครั้ง และเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ ในปี พ.ศ.๒๕๕๘ สวทช. จึงได้จัดทำโครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสดังกล่าวเสนอต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผ่านหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ซึ่งฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. พิจารณาเห็นว่าโครงระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรตินี้ จะเป็นประโยชน์ต่อโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนของทุกระดับ ทั้งการเรียนในระบบ การเรียนนอกระบบ และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย
 

อนึ่ง โครงการนี้มีกรอบแนวคิดที่สำคัญคือ การพัฒนาระบบออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลขนาดใหญ่ 
ที่บรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนจำนวนมาก และจัดทำคลังจัดเก็บทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด ซึ่งเป็นคลังข้อมูลหรือฐานข้อมูลสำหรับจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ที่ปลอดปัญหาลิขสิทธิ์ โดยหน่วยงานเจ้าของข้อมูลที่เข้าร่วมโครงการฯ อนุญาตให้เปิดเผยต่อสาธารณะและให้นำไปใช้ประโยชน์ได้ เพียงแต่ผู้ใช้จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่หน่วยงานเจ้าของข้อมูลกำหนดตามสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ เช่น ให้อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามดัดแปลงแก้ไข หรือห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า เป็นต้น





 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ส.ค. 2559 เวลา : 18:37:17

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 3:34 am