ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
มกอช.เตรียมรับมือ7ระเบียบย่อยกม.สหรัฐฯ


 


เกษตรฯ จับมือ อย.สหรัฐฯ เร่งติดอาวุธผู้ส่งออกไทย เตรียมความพร้อมรับมือ 7 ระเบียบย่อยสำคัญตามกฎหมาย “การปรับปรุงความปลอดภัยอาหารให้ทันสมัย” ของสหรัฐอเมริกา คาดช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า  สร้างความเชื่อมั่นยกระดับประเทศไทยสู่ “ผู้นำด้านมาตรฐานความปลอดภัยอาหารแห่งอาเซียน”
 
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศใช้กฎหมาย “การปรับปรุงความปลอดภัยอาหารให้ทันสมัย” หรือ FSMA ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2554 เพื่อยกระดับความปลอดภัยอาหารของสหรัฐอเมริกาทั้งระบบ พร้อมทั้งประกาศระเบียบย่อยที่สำคัญจำนวน 7 ฉบับ ได้แก่ (1) การควบคุมเชิงป้องกันเพื่ออาหารสำหรับผู้บริโภค (2) การควบคุมเชิงป้องกันสำหรับอาหารสัตว์ (3) ความปลอดภัยของผักผลไม้จากฟาร์ม (4) การป้องกันการจงใจปลอมปนอาหาร
 
(5) สุขลักษณะในการขนส่งอาหารสำหรับผู้บริโภคและอาหารสัตว์ (6) การตรวจทวนสอบซัพพลายเออร์ต่างประเทศที่ส่งสินค้ามายังสหรัฐอเมริกา และ (7) การตรวจประเมินโดยหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้รับการยอมรับจาก องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา หรือ USFDA ซึ่งเดิมผู้ประกอบการจะต้องทยอยปฏิบัติตามข้อกำหนดภายใต้ระเบียบเหล่านี้ โดยฉบับแรกเริ่มต้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 ขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจหรือความเสี่ยงของแต่ละกิจกรรมในสถานประกอบการนั้นๆ  แต่ขณะนี้ USFDA ได้ประกาศขยายระยะเวลาการปรับตัวให้กับผู้ประกอบการในการเริ่มปฏิบัติตามระเบียบต่างๆ ออกไปอีก ยกเว้น ระเบียบ 4 ฉบับ ที่ยังคงบังคับใช้ไม่เกินปี 2563 ได้แก่ อาหารสำหรับผู้บริโภค การป้องกันการจงใจปลอมปนอาหาร  สุขลักษณะในการขนส่งอาหารสำหรับผู้บริโภคและอาหารสัตว์ และการตรวจประเมิน ทำให้ระเบียบที่เหลือ 3 ฉบับ จะบังคับใช้ในปี 2564 - 2565 ซึ่งก็ถือว่าเป็นโอกาสดีให้ผู้ประกอบการไทยได้มีเวลาปรับตัวมากขึ้น
 
ดังนั้น สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช รวมทั้งมาตรการที่มิใช่ภาษีของประเทศ ได้ติดตามศึกษาผลกระทบของกฎหมาย FSMA ระเบียบย่อย รวมทั้งเตรียมความพร้อมเข้ารับการเทียบเคียงมาตรฐานการรับรองระบบงานกับ USFDA ได้เล็งเห็นความสำคัญและผลกระทบของกฎหมายดังกล่าว จึงได้ผลักดันความร่วมมือทางวิชาการกับ USFDA ในการจัดสัมมนา “จับจุด 7 ระเบียบ FSMA เพื่ออนาคตส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยไปสหรัฐอเมริกา” เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร โรงคัดบรรจุ โรงงานแปรรูป คลังสินค้า ผู้ประกอบการภาคขนส่งและลอจิสติกส์ หน่วยงานรับรองระบบงานและหน่วยตรวจประเมิน ผู้ส่งออก ตลอดจนถึงหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยอาหารของประเทศไทย ให้สามารถรองรับผลกระทบตามระเบียบย่อยทั้ง 7 ฉบับ ทั้งยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านมาตรฐานความปลอดภัยอาหารจากกฎหมายของประเทศคู่ค้าสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 
 
“ปัจจุบันสหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 15 ของปริมาณการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะจากไทยมีมูลค่าสูงกว่า 130,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าว ผักผลไม้ สินค้าประมงแปรรูป น้ำผลไม้และผลไม้กระป๋อง รวมทั้งอาหารแปรรูปอื่นๆ นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังเป็นตลาดที่มีมาตรฐานสูง และมีโครงสร้างระบบ       การตรวจสอบย้อนกลับด้านความปลอดภัยอาหารที่รัดกุม ดังนั้น การที่ USFDA ให้ความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือทางวิชาการด้านกฎหมาย FSMA กับประเทศไทย และเดินทางมาร่วมจัดสัมมนาเผยแพร่รายละเอียดอย่างเป็นทางการครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน จึงนับได้ว่าเป็นการให้ความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก
 
ทั้งนี้ การสัมมนาซึ่งมีเนื้อหาทันสมัยที่สุดในครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการของไทยให้รู้เท่าทันแนวทางปฏิบัติภายใต้กฎหมายข้างต้น ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมทั้งลดอุปสรรคในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา และช่วยสร้างภาพลักษณ์อันดีต่อนานาประเทศในฐานะผู้นำด้านความปลอดภัยอาหารของภูมิภาคอาเซียน ถึงแม้ระเบียบย่อยหลายฉบับของสหรัฐอเมริกา จะมีการเลื่อนการบังคับใช้ แต่ท้ายสุด ผู้ประกอบการยังต้องเตรียมความพร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของสินค้าเกษตรและอาหารไทย” เลขาธิการ มกอช. กล่าว
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ส.ค. 2559 เวลา : 15:29:48

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 1:21 pm