ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ปภ. เตือน 28 จังหวัดรับมือภาวะฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุวันนี้ (13 ก.ย.)


 


กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานเกิดน้ำไหลหลากและดินสไลด์ใน 4 จังหวัด รวม 11 อำเภอ 22 ตำบล ปัจจุบันระดับน้ำลดลงแล้ว พร้อมประสานแจ้งเตือน 28 จังหวัดเตรียมพร้อมรับมืออิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักในวันที่ 13 กันยายน 2559 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตาม สภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง กรณีสถานการณ์รุนแรง ให้ดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที
         
 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ภาวะฝนตกหนักในระยะนี้ ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลากและดินสไลด์ใน 4 จังหวัด รวม 11 อำเภอ 22 ตำบล แยกเป็น เชียงใหม่ เกิดน้ำไหลหลาก ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่แจ่ม อำเภอกัลยานิวัฒนา และอำเภอแม่ออน ปัจจุบันระดับน้ำลดลงแล้ว แม่ฮ่องสอน เกิดน้ำไหลหลากและดินสไลด์ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอปางมะผ้า และอำเภอขุนยวม ปัจจุบันระดับน้ำลดลง และสามารถใช้เส้นทางได้ตามปกติ ลำพูน เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 2 อำภอ ได้แก่ อำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอแม่ท่า ประชาชนได้รับผลกระทบ 15 หลังคาเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง และพะเยา เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอเมืองพะเยา และอำเภอแม่ใจ ประชาชนได้รับผลกระทบ 500 หลังคาเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง 

ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัย ได้ร่วมกับหน่วยทหารและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศกับ กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้จะเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางของประเทศไทย ในวันนี้ (13 ก.ย.59) ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกเป็นบริเวณกว้างและฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง 

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสาน 28 จังหวัด แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ และนครราชสีมา ภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออก 5 จังหวัด ได้แก่ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 2 จังหวัด ได้แก่ ระนอง และพังงา รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม 

โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัย ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณ ที่มีปริมาณฝนสะสมอยู่แล้ว รวมถึงจัดเตรียมสรรพกำลัง ทั้งเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) อาสาสมัครป้องกันภัย ฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล (OTOS) เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย ตลอดจนกำหนดพื้นที่รองรับน้ำและเก็บกักน้ำ และวางแผนพร่องน้ำ ผันน้ำ และระบายน้ำ ออกจากพื้นที่ประสบภัยซ้ำซาก โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยบูรณาการแผนการระบายน้ำในเชิงลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัย
 
กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตราย จากฝนตกหนัก โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตาม อย่างเคร่งครัด หากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
 
 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ก.ย. 2559 เวลา : 11:38:25

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 3:12 pm