ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
หยิบเงินหยิบทอง - บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง


 


ตลาดหุ้นไทยวานนี้
          SET INDEX วันศุกร์ที่ผ่านมาขยับขึ้นเด่น โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการปรับดัชนี FTSE มีแรงเก็งกำไรรอบสั้นเข้ามา ทำให้หุ้นที่เกี่ยวข้องบางตัวกลับไม่ฟื้นตัว ขณะที่ SCC / SCB / PTT ขยับเด่น ปิด ณ สิ้นวัน SET INDEX ปิดบวก 15.68 จุด มาอยู่ที่ 1,479.07 จุด มูลค่าการซื้อขายหนาแน่น 83,257 ล้านบาท
          กระแสเงินทุนต่างชาติซื้อสุทธิเป็นวันที่ 8 มากถึง 5,770 ล้านบาท Long สุทธิใน SET50 Index Futures เป็นวันที่ 2 มากถึง 29,385 สัญญา แต่คงการขายสุทธิเป็นวันที่ 7 อีก 1,493 ล้านบาท จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าเด่น

ปัจจัยสำคัญวันนี้
          - ติดตามการทิศทางค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อประเมินทิศทางกระแสเงินทุนต่างชาติ หลังสิ้นสุดการปรับดัชนี FTSE
          - เกิดเหตุการณ์ระเบิดในนิวยอร์คคืนวันเสาร์ที่ 17 ก.ย. อาจกดดันจิตวิทยาการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย และ DJIA Futures เช้านี้
          - โอกาสที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 21 ก.ย.นี้เท่ากับ 20% เทียบกับวันก่อนหน้า 18%
          - ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดทำการเนื่องในวันผู้สูงอายุ

มุมมองต่อตลาดวันนี้: กลาง (วันที่ 2)
          แม้ว่าเราจะประเมิน SET INDEX จะปรับฐานลงสู่แนวรับ 1,450-1,460 จุดในวันนี้ เพราะการปรับตัวขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเพียง Technical Rebound และผลของการปรับดัชนี FTSE เท่านั้น ปัจจัยการลงทุนทั้งในและต่างประเทศยังคงขาดความโดดเด่น นักลงทุนทั่วโลกต่างรอดูผลการประชุมเฟดในวันที่ 21 ก.ย. เป็นหลัก
          นอกจากนี้เหตุระเบิดในกรุงนิวยอร์ค กลางดึกในวันเสาร์ที่ 17 ก.ย. กลับไม่ส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุนในเอเชียและ DJIA Futures ในเช้าวันนี้ ขณะที่ Downside risk ของ SET Index วันนี้ยังเป็นไปอย่างจำกัด เพราะปัจจัยพื้นฐานการลงทุนในตลาดหุ้นไทยแข็งแกร่ง สัญญาณทางเทคนิคเป็นเพียงการปรับฐานเพื่อสร้างฐานใหม่เท่านั้น
          ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนในวันนี้ เราแนะนำ “นักลงทุนทยอยเลือกสะสม Domestic Play เมื่อราคาหุ้นเป้าหมายอ่อนตัว” ขณะที่หุ้นขนาดกลางและเล็กมีแนวโน้มที่จะปรับตัวได้เด่นกว่าหุ้นหลักที่เข้าสู่โหมดการปรับฐาน หลังฟื้นตัวเด่นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 

Strategy of the Day          
          1. สะสม TPIPL : ราคาปิด 2.20 บาท ราคาเหมาะสม 2.85 บาท
          a) MBKET คาดว่าราคาหุ้นจะตอบรับเชิงบวก จากการจัดประชุมนักวิเคราะห์เพื่อให้ข้อมูลบริษัทลูกคือ TPIPP ในวันศุกร์ที่ผ่านมา และเชื่อว่า Consensus จะมีมุมมองเชิงบวกต่อกำไรที่เติบโตอย่างโดดเด่นของธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะ 
          b) ประเมินเบื้องต้น คาดว่า Market Cap ของ TPIPP จะไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท เป็นการปลดล็อก Asset Value ที่สำคัญ เมื่อเทียบกับ Market Cap ของ TPIPL ปัจจุบันที่ 4.4 หมื่นล้านบาท โดย TPIPL จะถือหุ้นสัดส่วน 70% ใน TPIPP หลัง IPO 
          c) มี Upside Risk ต่อประมาณการกำไรปี 2560 ที่ 3.5 พันล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีแผนยกส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ออกจากงบการเงิน โดยใช้การหักลบกับส่วนเกินทุนที่เพิ่มขึ้นจากการนำลูกเข้า IPO ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเสื่อมราคาตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป ลดลงถึงปีละ 1,300 ล้านบาท          
          2. สะสม BJC : ราคาปิด 43.25 บาท ราคาเหมาะสม 52.00 บาท
          a) BJC จะไป Roadshow กับโบรกเกอร์ต่างชาติในสัปดาห์นี้ และคาดว่าจะได้รับการตอบรับเชิงบวก เนื่องจากมีหุ้น Market Cap สูงถึง 1.7 แสนล้านบาท และมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งจาก Synergy ที่ครบวงจรหลังเสร็จสิ้นการควบรวมกับ BIGC
          b) คาดกำไรสุทธิ 3Q59 จะเติบโตสูง yoy และ qoq เนื่องจากจะมีการบันทึกกำไรพิเศษจากอัตราแลกเปลี่ยนราว 1 พันล้านบาท จากการชำระคืนหนี้สกุลยูโร ขณะที่ Norm Profit คาดว่าจะเติบโต yoy และ qoq เช่นกัน เป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างธุรกิจของ BIGC ส่งผลให้อัตรากำไรดีขึ้น และดอกเบี้ยจ่ายลดลงจากการคืนหนี้ระหว่างไตรมาส 
          c) เป็นหุ้นค้าปลีกที่กำไรสุทธิปี 2560 จะเติบโตสูงถึง +85.6% yoy เป็น 6,589 ล้านบาท ขยายตัวสูงที่สุดในกลุ่มค้าปลีก และ Valuation ยังถูก ซื้อขายที่ PBV2560 เพียง 1.5 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 3.7 เท่า และหุ้นหลักในกลุ่ม เช่น CPALL 9.6 เท่า, HMPRO 6.7 เท่า และ GLOBAL 2.8 เท่า 

Fund Flow Analysis

Fund Flow in Emerging Markets
          กลับมาซื้อสุทธิ US$54 ล้าน จากวันก่อนหน้าขายสุทธิ US$215 ล้าน 
          ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดเดียวใน TIP ที่ต่างชาติซื้อสุทธิต่อเนื่อง

Foreign Investors Action วานนี้
          ต่างชาติซื้อสุทธิหนาแน่นในตลาดหุ้น และเร่งปิดสถานะ Short ใน SET50 Index Futures คาดเป็นผลจาก FTSE 
          นักลงทุนต่างชาติ คงการซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยเป็นวันที่ 8 มากถึง 5,770 ล้านบาท รวม 8 วันทำการซื้อสุทธิ 17,695 ล้านบาท เชื่อว่าเป็นผลจากการปรับดัชนี FTSE ในวันที่ 16 ก.ย. ส่งผลให้ YTD ต่างชาติซื้อสุทธิขยับขึ้นเป็น 135,097 ล้านบาท 
          ด้าน SET50 Index Futures นักลงทุนกลุ่มนี้คงการ Long สุทธิเป็นวันที่ 2 มากถึง 29,385 สัญญา รวม 2 วันทำการ Long สุทธิ 32,921 สัญญา น่าจะเป็นการเร่งปิดสถานะ Short จากการฟื้นตัวเด่นของ SET50 Index ส่งผลให้ S50U16 ปิดต่ำกว่า SET50 Index เป็นวันที่ 5 กว้างขึ้นเป็น 2.54 จุด จากวันก่อนหน้า Discount เท่ากับ 2.11 จุด ส่งผลให้ยอด QTD นักลงทุนกลุ่มนี้คงการ Short สุทธิลดลงเหลือเพียง 4,166 สัญญา
          และนักลงทุนกลุ่มนี้ คงการขายสุทธิตลาดตราสารหนี้เป็นวันที่ 7 อีก 1,493 ล้านบาท รวม 7 วันทำการขายสุทธิ 18,131 ล้านบาท โดยราคาพันธบัตรไทยฟื้นตัวเป็นวันแรกในรอบ 6 วันทำการ ผ่านผลตอบแทนพันธบัตรไทย อายุ 10 ปี ผลตอบแทนลดลงเป็นวันแรกในรอบ 6 วันทำการ 3.02bps จากวันก่อนหน้าเพิ่มขึ้นมากถึง 7.31bpsปิดที่ 2.224%

Short-Selling วานนี้ 
          เร่งขึ้นเป็นวันแรกในรอบ 3 วันทำการ 1,560 ล้านบาท จากวันก่อนหน้า 1,493 ล้านบาท และ SBL กระจายตัวไปใน 82 หุ้น 

NVDR Movement
          NVDR กลับมาขายสุทธิเล็กน้อย เป็นผลจากการปรับดัชนี FTSE  
          การซื้อขายผ่าน NVDR กลับมาขายสุทธิอีกครั้ง 122 ล้านบาท จากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ 196 ล้านบาท ทั้งนี้ NVDR ไม่สะท้อนถึงการลงทุนที่แท้จริง เพราะน่าจะเป็นผลจากการปรับดัชนี FTSE ที่มีผล ณ วันที่ 16 ก.ย. ทำให้มีการซื้อขายที่ผิดปกติในหุ้นที่เกี่ยวข้อง 

ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ – การเงินรายภูมิภาค

สหรัฐอเมริกา
          ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาเป็นกลาง
          - อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 0.2% mom สูงกว่า Bloomberg consensus คาด 0.1% mom ส่วนเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้น 1.1% yoy เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.8% yoy ขณะที่ราคาพลังงานและอาหารไม่เปลี่ยนแปลง
          - ดัชนี Consumer sentiment เดือนก.ย.เบื้องต้น 89.8 จุด ต่ำกว่า Bloomberg consensus คาด 90.8 จุด แต่เท่ากับเดือนก่อนหน้า
          เหตุการณ์ระเบิดในนิวยอร์คบาดเจ็บ 29 คน: เหตุการณ์ระเบิดช่วงคืนวันเสาร์ที่ 17 ก.ย. โดยมีผู้บาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 29 คน ขณะที่การตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าวไม่แสดงหลักฐานเกี่ยวกับการก่อวินาศกรรม
          เวเนซูเอร่า คาดการเจรจาระหว่างโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกใกล้ได้ข้อสรุป: ประธานาธิบดีเวเนซูเอล่า กล่าวถึงการเจรจาระหว่างกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปก ใกล้ได้ข้อสรุปถึงประเด็นการสร้างเสถียรภาพของราคา และคาดว่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการภายในเดือนนี้ ทั้งนี้อาจมีการเรียกประชุมพิเศษต่อเนื่องจากการประชุมปกติในสัปดาห์หน้า

ยุโรป
          BIS รายงานยอดสินเชื่อสกุลดอลลาร์นอกสหรัฐฯ ลดงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2552: BIS รายงานยอดการปล่อยสินเชื่อในทั่วโลกยังคงเปราะบางใน 1Q59 โดยยอดสินเชื่อในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ไม่ใช่ผู้กู้ในสหรัฐฯ ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2550-2552 ที่เป็นช่วงวิกฤติการเงินสหรัฐฯ เงินกู้สกุลดอลลาร์ในตลาดเกิดใหม่ลดลง เช่นเดียวกับเงินสกุลยูโรที่ปล่อยกู้นอกยูโรโซน เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า และตลาดเกิดใหม่อ่อนแอ รวมถึงความไม่แน่นอนของตลาดเงิน ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อชะลอตัว
          ธนาคารกลางกรีซยืนยันไม่มีข้อขัดแย้งกับรัฐบาล: ผู้ว่าการธนาคารกลางกรีซยืนยันไม่มีความขัดแย้งกับรัฐบาล รวมถึงไม่มีแนวคิดที่จะมีการตรวจสอบผู้ว่าการฯ หลังมีประเด็นภรรยาของผู้ว่าการฯ มีกิจกรรมทางธุรกิจที่ส่อแววคอรัปชั่น 
          กลุ่มสมาชิกยุโรปกลางจะคัดค้านหาก Brexit ต้องการจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงาน: นายกฯ จากสโลวัค ให้ความเห็นว่า ฮังการี, โปแลนด์, สาธารณรัฐเชค และสโลวัค พร้อมที่จะใช้สิทธิคัดค้านการเจรจา Brexit ที่เป็นการจำกัดสิทธิ์การเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำงานในอังกฤษ 

จีน
          จีนถือพันธบัตรสหรัฐฯ ต่ำสุดในรอบ 3 ปี: ณ สิ้นเดือนก.ค. จีนถือพันธบัตรสหรัฐฯ US$1.219 ล้านล้าน ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2556 ที่ US$1.214 ล้านล้าน สะท้อนถึงธนาคารกลางจีนอาจใช้เงินดอลลาร์ในการสร้างเสถียรภาพของค่าเงินหวนก่อนที่จะเข้าสู่ระบบตะกร้าเงิน SDR ของ IMF ในเดือนต.ค.ขณะที่ญี่ปุ่นยังคงถือพันธบัตรสหรัฐฯ ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 เท่ากับ US$1.155 ล้านล้าน ณ สิ้นเดือนก.ค. 

เอเชียแปซิฟิก
          อิหร่านยืนยันเข้าช่วยสร้างเสถียรภาพในตลาดน้ำมัน: ประธานาธิบดีอิหร่าน ยืนยัน อิหร่านจะให้การสนับสนุนการสร้างเสถียรภาพในตลาดน้ำมันโลกรวมถึงราคา การไม่มีเสถียรภาพและราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลง เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศผลิตน้ำมัน เพียงแต่อิหร่านจะร่วมมือในการสร้างเสถียรภาพเมื่อมีความยุติธรรม และการแบ่งโควต้าในการผลิตที่ยุติธรรมในระหว่างผู้ผลิตน้ำมัน
          S&P ปรับแนวโน้มรัสเซียขึ้น: เป็น “คงที่” จากก่อนหน้า “ลบ” แต่คงอันดับความน่าเชื่อถือที่ BB+ ทั้งนี้ S&P ประเมินเศรษฐกิจรัสเซียจะเติบโตเฉลี่ย 1.6% ต่อปีระหว่างปี 2560-2562 จากเศรษฐกิจที่หดตัวในปีนี้ อย่างไรก็ตามแรงกดดันจากฐานะการคลังยังเป็นปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง
          ธนาคารกลางรัสเซียลดอัตราดอกเบี้ย: และน่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในปีนี้ โดยอัตราดอกเบี้ย RP7 วันเท่ากับ 10.0% จากเดิม 10.5% สอดคล้องกับ Bloomberg consensus ถือเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหลังคงอัตราดอกเบี้ยมาตลอด 3 เดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงที่จะสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 4.0% 

ไทย
          ไม่มี


 
โดย บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด ประจำวันที่ 19 ก.ย. 2559
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ก.ย. 2559 เวลา : 10:14:34

24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 4:22 pm