ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เผยโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ เชียงใหม่-เชียงราย-ลำพูน ครบตามเป้า


 



สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 ลงพื้นที่ติดตามโครงการเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน ช่วงไตรมาส 4 ระบุ มีการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรครบถ้วนตามเป้าหมาย 280 ราย โดยเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น และนำความรู้ไปปฏิบัติจริงถึงร้อยละ 97

นายคมสัน  จำรูญพงษ์  รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประเมินโครงการเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน ช่วงไตรมาส 4 (ก.ค.-ก.ย.59) ปีงบประมาณ 2559 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (สศท.1) ได้ติดตามประเมินผลโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ภายใต้โครงการย่อย ประกอบด้วย โครงการเมืองเกษตรสีเขียว โครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์  โครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานอินทรีย์ โครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการเกษตรอินทรีย์สากล การผลิตข้าวอินทรีย์และการเพิ่มมูลค่าเพิ่ม และกิจกรรมศูนย์ต้นแบบการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบเติมอากาศ โดยมีเกษตรกรผู้เข้ารับการอบรมสัมมนาเพื่อเพิ่มพูนความรู้รวมทั้ง 3 จังหวัด จำนวน 280 ราย (ร้อยละ 100 ของเป้าหมาย)

จากการสัมภาษณ์เกษตรกรตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 83 ราย  ผลการประเมิน พบว่า เกษตรกรที่เข้ารับการอบรมร้อยละ 73 มีความรู้เพิ่มขึ้น ซึ่งร้อยละ 65 มีความรู้เพิ่มขึ้นในระดับมาก นอกจากนี้ เกษตรกรร้อยละ 97  ได้นำความรู้ไปปฏิบัติด้านการผลิตพืช ปศุสัตว์ ประมง การรับรองแบบมีส่วนรวม การผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบเติมอากาศ เทคนิคการตรวจเยี่ยมฟาร์มเพื่อน  ด้านการได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปัจจัยที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภาพ สมุนไพรป้องกันและกำจัดศัตรูพืช  เมล็ดพันธุ์ปุ๋ยพืชสด เมล็ดพันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์ผัก ปุ๋ยอินทรีย์แบบเติมอากาศ เป็นต้น ทั้งนี้ ด้านความพึงพอใจต่อการถ่ายทอดความรู้ พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่พึงพอใจระดับปานกลางร้อยละ 45 ระดับมากร้อยละ 40 และระดับน้อยร้อยละ 15 ตามลำดับ

ด้านความคิดเห็นของเกษตรกร พบว่า การรับรองแบบมีส่วนร่วม ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่เข้าสู่มาตรฐานการรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System : PGS) เป็นทางเลือกในการรับรองเกษตรอินทรีย์ให้เกษตรกรรายย่อยที่ทำเกษตรอินทรีย์แบบพื้นบ้าน        มีโอกาสสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นภายในกลุ่ม และสร้างเครือข่ายเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตได้ โดยกระบวนการตรวจรับรองภายในกลุ่ม ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตรวจรับรองน้อย รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้แก่ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และองค์กรท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ควรเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับผู้ผลิต ผู้บริโภค เกี่ยวประโยชน์ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม  เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภค     สู่การเพิ่มตลาดรองรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ และการขยายเครือข่ายผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ในอนาคตต่อไป

 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ก.ย. 2559 เวลา : 14:08:20

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:43 am