ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สธ.ห่วงช่วงปลายฝนต้นหนาว เสี่ยงป่วย'ไข้หวัดใหญ่และปอดบวม'


 


กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนเจ็บป่วยด้วย 2 โรค สำคัญช่วงอากาศเปลี่ยนปลายฝนต้นหนาว คือ ไข้หวัดใหญ่และปอดบวม ปี 2559 นี้ ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 2 โรคนี้กว่า 2.6 แสนคน เสียชีวิตเกือบ 300 ราย กำชับสาธารณสุขทุกจังหวัด เร่งให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพ เฝ้าระวังในกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วันขอให้พบแพทย์

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล  สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว  อากาศเริ่มเย็นลงและบางพื้นที่ยังมีฝนตกอยู่ ทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วย 2 โรคที่พบบ่อย ได้แก่ 1.โรคไข้หวัดใหญ่  ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2559 ตั้งแต่มกราคม-26 กันยายน ทั่วประเทศพบผู้ป่วยสะสม  99,894 คน เสียชีวิต 16 ราย กลุ่?มอายุที่พบป่วยมากที่สุดคือ 7-9 ปีร้อยละ 11.58  อายุ 25-34 ปีร้อยละ 11.53 และอายุ 15-24 ปีร้อยละ 10.16 ซึ่งจำนวนผู้ป่วยเพียง 9 เดือนของปี 2559 พบมากกว่าปี 2558 ตลอดปีที่พบผู้ป่วย  77,926 คน

2.โรคปอดบวม  แต่ละปีพบผู้ป่วยประมาณ 2 แสนคน โดยในปี 2559 ตั้งแต่ต้นปีพบผู้?ป่วยสะสม 168,673 คน เสียชีวิต 273 ราย  กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุมากกว่า 65 ปี ร้อยละ 30.40  อายุ 55-64 ปี ร้อยละ 10.66 และเด็กเล็กอายุ 1 ปีร้อยละ 9.36 ซึ่งโรคปอดบวมเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อทั้งหมด มักเกิดแทรกซ้อนตามหลังโรคทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง ไตวาย เป็นต้น  

ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลการเฝ้าระวังโรคย้อนหลังพบว่า โรคไข้หวัดใหญ่จะพบผู้ป่วยสูง 2 ช่วง คือมกราคมถึงมีนาคม และกรกฎาคมถึงตุลาคม ส่วนโรคปอดบวมพบผู้ป่วยสูงช่วงกรกฎาคมถึงพฤศจิกายนและมกราคมถึงมีนาคม นอกจากนี้ยังพบว่า จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยสูงสุดส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่มีประกาศเตือนภัยหนาว สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันการเจ็บป่วย และกำชับให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ หากพบผู้ป่วยและเป็นกลุ่มเสี่ยงขอให้ดูแลรักษาตามแนวทางการรักษา

โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสมีหลายสายพันธุ์ เชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย ติดต่อได้ง่ายจากการไอหรือจาม หรือเชื้อติดมากับมือ อาการของโรคมักจะเกิดขึ้นด้วยอาการมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อยเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอ ประมาณ  2–4 วัน อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ขอให้พักผ่อนให้มากๆ หยุดเรียน หยุดทำงาน สวมหน้ากากอนามัย หากไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วันเสี่ยงมีอาการแทรกซ้อนขอให้พบแพทย์ สำหรับกลุ่มเสี่ยง หากป่วยมีอาการไข้ไอเจ็บคอน้ำมูก ขอให้พบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวมได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป 

ขอแนะนำประชาชนดูแลร่างกายให้แข็งแรง รักษาร่างกายให้อบอุ่น ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่คลุกคลีหรือสัมผัสกับผู้ป่วย  หลีกเลี่ยงไปในสถานที่คนแออัด หรือมีอากาศเย็นจัด รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่  ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือบ่อยๆ หากมีข้อสงสัย ปรึกษาหรือขอคำแนะนำได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

บันทึกโดย : วันที่ : 02 ต.ค. 2559 เวลา : 10:56:17

24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 11:21 pm