ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
มาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559/60


 

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 59 มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559/60 
2. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในกรอบวงเงิน งบประมาณ 2,259.72 ล้านบาท แบ่งเป็น
                       
1) การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559/60 วงเงิน  1,953.72 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบมากกว่ากรอบวงเงินที่ได้ประมาณการไว้  กษ. จะขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพิ่มเติม ในคราวต่อไป

2) การชดเชยดอกเบี้ยให้แก่สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร วงเงิน 306 ล้านบาท
 
 
สาระสำคัญของเรื่อง
                   
1. มาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559/60 กรณีได้รับผลกระทบให้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาเป็นเงิน โดยมีหลักเกณฑ์ อัตราการช่วยเหลือดังนี้
1.1 คุณสมบัติของเกษตรกร
                             
1) เป็นเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนของภาคใต้ (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์2560)
2) เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและประกอบกิจกรรมการเกษตรในช่วงที่ผ่านมาตามที่แจ้งขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเกิดภัยเท่านั้นหากเกษตรกรรายใดได้รับผลกระทบมากกว่า 1 ด้าน ให้ได้รับการช่วยเหลือเพียง 1 ด้าน โดยให้เกษตรกรเป็นผู้ระบุว่าจะขอรับการช่วยเหลือด้านใด ทั้งนี้               กรณีเกษตรกรไม่ได้ขึ้นทะเบียนก่อนเกิดภัยพิบัติให้หน่วยงานจัดทำบัญชีไว้เพื่อรวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
3) เป็นเกษตรกรที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน/ชุมชน
1.2 อัตราการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559/60 กรณีได้รับผลกระทบ

ช่วยเหลือเยียวยาด้านพืช ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ อัตราครัวเรือนละ 3,000 บาท ทั้งนี้ เกษตรกรที่ได้รับช่วยเหลือเยียวยาให้เป็นตามทะเบียนของหน่วยงานที่กำกับดูแลเกษตรกรแต่ละด้าน
1.3 กรอบวงเงินการช่วยเหลือเยียวยา
                                    
ข้อมูล ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2559 จังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 แล้ว จำนวน 5,427 หมู่บ้าน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คิดกรอบวงเงินโดยคำนวณเฉลี่ยหมู่บ้านละ 120 ครัวเรือนเกษตร ครัวเรือนละ 3,000 บาท โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ทั้งนี้ ยังไม่รวมกรอบวงเงินที่จะช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบในระยะต่อไปจนสิ้นสุดฤดูฝน
1.4 ระยะเวลาดำเนินการ
 วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2560

2. มาตรการพักชำระหนี้สิน และขยายระยะเวลาชำระหนี้ แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559/60
2.1 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้ความช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยปี 2559/60 ดังนี้
1) ให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ในสัญญาเงินกู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เป็นระยะเวลา 6 เดือน
2)  กองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) สนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยให้สหกรณ์กู้ในวัตถุประสงค์เป็นทุนให้สมาชิกกู้ปลอดดอกเบี้ย ระยะเวลา 1 ปี
2.2 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย
                                   
1)  โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 ที่ขยายระยะเวลาชำระหนี้เดิมไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2560                                      2)  โครงการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีหนี้เงินกู้ วัตถุประสงค์เพื่อการปลูกข้าว เป็นระยะเวลา 2 ปี สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 และลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี
3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ผ่านระบบ ธ.ก.ส. เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินให้กับเกษตรกร โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และลดภาระหนี้สินให้เกษตรกร รวมถึง การคืนดอกเบี้ยให้ลูกค้าเพื่อลดภาระหนี้
4) โครงการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่เป็นลูกค้า               ธ.ก.ส. ที่มีหนี้เงินกู้ วัตถุประสงค์เพื่อการปลูกมันสำปะหลัง เป็นระยะเวลา 2 ปี สิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2561 และลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี                                           
สำหรับเกษตรกรที่ไม่ได้การช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว  ธ.ก.ส. จะช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ 1) ขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้กับเกษตรกรที่ประสบภัยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน 2)  กำหนดระยะเวลาชำระหนี้เดิมให้เหมาะสมกับภาวะการผลิตของเกษตรกรแต่ละราย  3)   ให้สินเชื่อใหม่แก่เกษตรกรเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพของตนเอง อัตราดอกเบี้ย MRR

3. มาตรการฟื้นฟูอาชีพสนับสนุนปัจจัยการผลิตและองค์ความรู้เพื่อการปรับตัวต่อภัยพิบัติ
                        
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยส่วนราชการในสังกัด จะจัดทำโครงการภายใต้มาตรการฟื้นฟูอาชีพสนับสนุนปัจจัยการผลิตและองค์ความรู้เพื่อการปรับตัวต่อภัยพิบัติ อาทิ การส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืชหลากหลาย โครงการธนาคารโค-กระบือ สนับสนุนพันธุ์สัตว์ปีก สนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำ และส่งเสริมองค์ความรู้เพื่อการปรับตัวต่อภัยพิบัติ  

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 ต.ค. 2559 เวลา : 18:50:20

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:12 am