ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมชลฯเผยน้ำเหนือที่นครสวรรค์ลดลงต่อเนื่อง / น้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักฯลดลง


 


ปริมาณน้ำที่นครสวรรค์ และแม่น้ำสะแกกรังลดลงต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลงด้วย ส่วนพื้นที่ตอนล่างน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นเนื่องจากมีน้ำทะเลหนุนสูง

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศว่า ในช่วงวันที่ 12–13 ต.ค. 59 บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักบางแห่งได้ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีปริมาณฝนน้อย ส่วนในช่วงวันที่ 14–18 ต.ค. 59 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง นั้น

ปัจจุบันปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ และแม่น้ำสะแกกรังลดลงเหลือ 2,172 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และ 88 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีตามลำดับ ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมชลประทาน จะลดระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนลงให้อยู่ในระดับ +15.50 เมตร (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) เพื่อให้มีพื้นที่ไว้รองรับสถานการณ์น้ำ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกเพิ่มอีกในช่วงวันที่ 14 - 18 ตุลาคม 2559 นี้ แต่หากมีฝนตกในปริมาณไม่มากนัก กรมชลประทาน จะพิจารณาปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลงตามความเหมาะสม เพื่อรักษาสมดุลระหว่างปริมาณน้ำเหนือเขื่อนและปริมาณน้ำระบายท้ายเขื่อน

สำหรับสภาพน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 892 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 93 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 54 ล้านลูกบาศก์เมตร แนวโน้มน้ำไหลลงอ่างฯลดลงอย่างต่อเนื่อง มีการระบายน้ำออกจากเขื่อนในอัตราวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้มีพื้นที่ว่างรองรับปริมาณน้ำฝน ที่คาดว่าจะยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 14 - 18 ตุลาคม 2559 โดยปริมาณน้ำที่ระบายลงสู่แม่น้ำป่าสัก นั้น จะใช้เขื่อนพระราม 6 ในการบริหารจัดการน้ำ ด้วยการควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่าน 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และกรมชลประทานได้วางแผนเก็บกักน้ำให้เต็มเขื่อนป่าสักฯ ในช่วงสิ้นเดือนตุลาคมนี้

อนึ่ง ปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสักจะไหลมารวมกันที่อำเภอบางไทร                    จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจุดเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ ในอัตรา 2,457 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำยังอยู่ต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 1 เมตร จึงไม่ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำล้นคันกั้นน้ำ








 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ต.ค. 2559 เวลา : 15:02:50

17-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 17, 2024, 2:39 am