ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กสอ. ชี้อุตฯอาหารไทยรั้งแชมป์เบอร์ 1 ของโลก


 


กสอ. ชี้อุตฯอาหารไทยรั้งแชมป์เบอร์ 1 ของโลก ดันคอนเซปต์ “ฟู้ดวัลเลย์” ใช้งานวิจัยยกระดับการผลิตรับยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0”

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารไทยยังคงรั้งแชมป์เบอร์หนึ่งของโลก โดยมีมูลค่าสูงกว่า 890,000 ล้านบาท ชี้สินค้าส่งออกใน 3 กลุ่มมีการขยายตัวได้แก่ น้ำตายทราย ไก่ และเครื่องปรุงรส พร้อมเตรียมเดินหน้าผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารอย่างจริงจังหลังพบยังมีปัญหาที่ต้องเร่งพัฒนาในบางประการ อาทิ นวัตกรรมด้านการผลิต คุณภาพของสินค้า การควบคุมมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ฯลฯ โดยในปี 2560 จะเน้นการใช้การวิจัยและการสร้างนวัตกรรมเพื่อสนองโมเดลประเทศไทย 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการสานต่อโครงการฟู้ดวัลเลย์ (Food Valley)  ด้วยการจับมือกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตรด้วยการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย เพื่อให้เกิดการใช้นวัตกรรมและนำไปพัฒนาศักยภาพให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด ตลอดจนยังมี โครงการเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการภายใต้ปีงบประมาณ 2560 กว่า 10 โครงการ อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูป โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เป็นต้น
 
 
 

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตต่าง ๆ ทั้งจากภาคเกษตรกรรม  การประมง ปศุสัตว์ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารของไทยสามารถส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคทั่วโลกได้กว่า 200 ประเทศ คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยมากกว่าปีละ 800,000 ล้านบาท โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาสามารถสร้างมูลค่าให้กับประเทศได้มากกว่า 897,529 ล้านบาท และถือเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับที่ 1 ด้วยความโดดเด่นด้านความหลากหลายของอาหารทั้งในแบบอาหารแช่แข็งและอาหารแปรรูป  และยังถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญที่ต้องเร่งผลักดันเพื่อให้เข้าสู่การเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายประเทศไทย 4.0 และอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อการสร้างมูลค่า และการสร้างมาตรฐานที่ดี พร้อมเป็นศูนย์กลางเพื่อการกระจายสินค้าสู่ตลาดทั่วโลกตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ในสัดส่วนตามอัตราการเติบโตที่มีอย่างไม่จำกัด (ที่มา : ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร)

 
นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดอาหารของไทยร้อยละ 59.8 อยู่ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งตลาดที่สำคัญได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น กลุ่มประเทศ CLMV อาเซียน และจีน โดยสินค้าหลักได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย ไก่ กุ้ง ปลาทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง และเครื่องปรุงรส โดยสินค้าส่งออกที่มีปริมาณและมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นมี 3 กลุ่มคือ น้ำตาลทราย ไก่ และเครื่องปรุงรส และสินค้าที่มีปริมาณส่งออกลดลงแต่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น คือ สับปะรดกระป๋อง และแป้งมันสำปะหลัง (ที่มา : ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร) ทั้งนี้ แม้ว่าอุตสาหกรรมอาหารของไทยจะมีแนวโน้มการเติบโตด้านการส่งออกในระดับที่ดี แต่ก็ยังพบว่าผู้ประกอบการและหลาย ๆ อุตสาหกรรมยังประสบปัญหาที่ต้องเร่งพัฒนา อาทิ นวัตกรรมด้านการผลิต การวิจัยเพื่อคุณภาพของสินค้า การควบคุมมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ การควบคุมการผลิต

 

ด้าน นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสอ. ได้ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหาร   เพื่อพัฒนาทั้งทางด้านวัตถุดิบ คุณภาพการผลิต มาตรฐานความปลอดภัย  ผ่านการนำกระบวนการวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยในงบประมาณปี 2560 กสอ. ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สานต่อโครงการฟู้ดวัลเลย์ (Food Valley) ผลักดันผลลัพธ์ในเชิงรูปธรรมระดับพื้นที่  ได้แก่  ผลักดันให้ภาคกลางเป็นศูนย์กลางเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปในกลุ่มอาหารที่มีคุณสมบัติพิเศษและเพื่อสุขภาพ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นศูนย์กลางเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปปศุสัตว์ ภาคใต้เป็นศูนย์กลางเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารทะเลและฮาลาล และภาคเหนือเป็นศูนย์กลางเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปกลุ่มพืชไร่ ผัก และผลไม้  นอกจากนี้ กสอ.ยังได้จัดเตรียมโครงการภายใต้งบประมาณปี 2560 กว่า 10 โครงการ อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูป โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เป็นต้น  โดยโครงการต่าง ๆ ดังกล่าว ล้วนสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาผนวกกับการพัฒนาอุตสาหกรรมให้สามารถแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ 

 
 
 

ด้านนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว เป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่นคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล จำเป็นจะต้องลงทุนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อนำความได้เปรียบด้านทรัพยากรทางการเกษตรของประเทศไทยมาต่อยอดเมื่อกลางปี 2559 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มีนโยบายที่จะสนับสนุนภาคการเกษตร Thailand 4.0 โดยจะเน้นการพัฒนาวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนาต่อยอดใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยหนึ่งในนั้นคือ กลุ่มเทคโนโลยีเกษตร ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการผลิตสินค้าเกษตรให้มีศักยภาพเป็นไปตามต้องการของผู้บริโภค ส่งเสริมการพัฒนาสร้างนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร โดยจะเป็นการพัฒนาตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นความร่วมมือภาคประชารัฐ แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาครัฐ เช่น สำนักพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ภาคเอกชน เช่น หจก.บ้านต้นไม้ (ไร่ดำรงค์) และสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น โดยแต่ละภูมิภาคจะต้องเกิด Food Valley ที่สามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเข้าสู่อุสาหกรรมอาหารของตนเองอย่างเข้มแข็ง ทั้งนี้ นับเป็นการบูรณาการจากการทำงานหลายฝ่าย ภายใต้แนวคิดประชารัฐ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร 02-2024414-18 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ต.ค. 2559 เวลา : 13:19:36

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 4:31 am