ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
แพทย์เผยคนไทยมีภาวะกระดูกพรุนมากขึ้นโดยเฉพาะสตรีวัยหมดประจำเดือน


 


อธิบดีกรมการแพทย์เผยคนไทยมีภาวะกระดูกพรุนมากขึ้น ส่งผลให้กระดูกเปราะหักได้ง่าย โดยเฉพาะสตรีวัยหมดประจำเดือน แนะรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ แคลเซียมสูง ลดอาหารหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกาย หมั่นสัมผัสแสงแดดตอนเช้า จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้มวลกระดูกได้

นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วิวัฒนาการทางการแพทย์ปัจจุบันส่งผลให้ประชาชนมีอายุยืนยาวขึ้น แต่กลุ่มคนเหล่านี้มักประสบปัญหาด้านความเสื่อมถอยของร่างกายตามมา โดยเฉพาะกระดูกที่เป็นโครงสร้างยึดเกาะกล้ามเนื้อ ช่วยให้ร่างกายคงรูปร่างได้ตามปกติ หากเนื้อกระดูกมีความหนาแน่นลดลงจากการสูญเสียมวลกระดูก จะส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้ ซึ่งอันตรายของภาวะกระดูกพรุน จะต้องระวังการแตกหักของกระดูกบริเวณสะโพก ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดเรื้อรังและรุนแรงถึงขั้นพิการ โดยเฉพาะสตรีที่หมดวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งมีการเสื่อมสภาพการทำงานของรังไข่ เกิดการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เลือดประจำเดือนจะขาดหายไป ภาวะนี้เรียก Menopause หรือวัยงาม ทำให้อวัยวะและระบบต่างๆของร่างกาย เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยอาการที่พบบ่อยของหญิงวัยงาม ได้แก่ ผมแห้ง หลุดร่วงง่าย ผิวบาง เครียดง่าย หงุดหงิด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ประจำเดือนผิดปกติจนขาดหายไปในที่สุด ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน
 
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อไปว่า ภาวะกระดูกพรุนมักเกิดกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสตรีอายุ 65 ปี ขึ้นไป ส่วนผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วใน 5 ปีแรก ทำให้กระดูกหักได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง สะโพก และข้อมือ ทำให้เกิดปัญหาการเดินและการเคลื่อนไหวร่างกาย อาการของภาวะกระดูกพรุนที่พบ คือ ปวดหลัง ตำแหน่งที่ปวดไม่ชัดเจนและอาจปวดร้าวไปข้างใดข้างหนึ่ง กระดูกหลังยุบตัว หลังค่อม ความสูงลดลง หากพบความผิดปกติดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ทันที เมื่อได้รับการตรวจคัดกรอง และวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะมีแนวทางรักษาที่เหมาะสม ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเพราะอาจมีส่วนประกอบของสารสเตียรอยด์ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนมากขึ้น
 
สำหรับทางเลือกในการดูแลภาวะกระดูกพรุนโดยไม่ต้องใช้ยาคือรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ มีแคลเซียมสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม กุ้งแห้ง ปลาตัวเล็ก ที่กินได้ทั้งกระดูก ถั่วต่างๆ เต้าหู้ งาดำ ผักใบเขียว เช่น ผักโขม ผักคะน้า ใบชะพลู ใบยอ เป็นต้น ควรลดอาหารที่มีรสหวานหรือเค็มจัด รวมทั้งอาหารที่มีไขมันมาก เช่น เนื้อสัตว์ กะทิ เนื่องจากไขมันจะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม ออกกำลังกายที่มีการลงนํ้าหนัก เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ ในช่วงเช้า เพราะร่างกายจะได้รับแสงแดดอ่อนสังเคราะห์วิตามินดีทำให้มวลกระดูกแข็งแรงขึ้น งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาโรคที่อาจมี ผลให้สูญเสียมวลกระดูกได้เร็วขึ้น เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ ไตวาย เป็นต้น นอกจากนี้ควรปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านพักให้เหมาะสม มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อป้องกันการลื่นล้มที่อาจส่งผลให้ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนเกิดความพิการได้
 

 

บันทึกโดย : วันที่ : 22 ต.ค. 2559 เวลา : 17:47:49

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:22 am