ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กยท. เปิดเวที แถลงการขับเคลื่อนยางพาราทั้งระบบครบวงจรของประเทศ


 



การยางแห่งประเทศไทย เผยการดำเนินงานขับเคลื่อนยางพาราทั้งระบบครบวงจรของประเทศ โดยมีประเด็นที่สำคัญในการดำเนินงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านยางพาราทั้งระบบ ประจำเดือน ตุลาคม 2559 ดังนี้

1. ANRPC ย้ำ เพิ่มปริมาณการใช้ยาง เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน พร้อมกำหนดเป้าใช้ยางธรรมชาติ 3 ปีแรก ไม่ต่ำกว่า 50% ในกลุ่มประเทศสมาชิก

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า ในการประชุมสมัชชาประจำปี 2559 ของสมาคมผู้ผลิตยางธรรมชาติ The Association of Natural Rubber Producing Countries (ANRPC)  ณ เมือง Guwahati รัฐ Assam ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 17-22 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุม จำนวน 11 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน อินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และ ปาปัวนิวกินี โดยที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า ควรผลักดันหรือพยุงราคายาง เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง โดยการใช้ยางพาราให้มากขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ดีและยั่งยืนที่สุด ดังนั้น การใช้ยางธรรมชาติในการทำถนนลาดยางถือเป็นอีกวิธีในเพิ่มปริมาณการใช้ยาง
 

“ทั้งนี้ ในที่ประชุม ANRPC จึงมีข้อตกลงว่า ประเทศสมาชิกต้องกำหนดเป้าหมายการใช้ยางธรรมชาติในถนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของถนนที่สร้างใหม่และซ่อมแซมในช่วง 3 ปีแรก และเพิ่มเป็นร้อยละ 100 ภายใน 5 ปี  ซึ่งหากประมาณการใช้ยางพาราผสมยางมะตอยของประเทศสมาชิก ANRPC เมื่อใช้ในการลาดถนนทุกเส้นทางทั้งหมดแล้ว จะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าปีละ 1 ล้านตัน โดยผู้แทนแต่ละประเทศจะต้องนำข้อเสนอแนะไปรายงานต่อรัฐบาลของแต่ละประเทศตามช่องทางที่เหมาะสม สำหรับประเทศไทยอาสาที่จะให้ความรู้ทางวิชาการและเป็นที่ปรึกษาให้กับประเทศสมาชิก เนื่องจากประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีมากที่สุด” ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติม
 

2. กยท. แจงความคืบหน้าขายยางให้กับบริษัท ซิโนเคม พร้อมเผย แนวโน้มราคายางของประเทศ

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องด้วยรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรเป็นความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร ร่วมกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่แสดงเจตจำนงในการซื้อสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าวและยางพาราจากประเทศไทย ทั้งนี้ ยางพารา เป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย ได้มอบให้การยางแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบซื้อขายยางกับ บริษัท ซิโนเคม อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด เป็นบริษัทผู้แทนของประเทศจีน โดยได้ทำสัญญาซื้อขายยาง จำนวน 2 แสนตัน แบ่งเป็น ยางแผ่นรมควันชั้น 3 จำนวน 1.5 แสนตัน และยางแท่ง STR 20 จำนวน 5 หมื่นตัน และจะต้องส่งมอบเดือนละ 16,667 ตัน รวม 12 งวด คิดราคาซื้อขายตามราคาเฉลี่ยของตลาดซื้อขายล่วงหน้าโตเกียว (TOCOM) และตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าสิงคโปร์ (SICOM) ซึ่งได้ส่งมอบยาง      ล๊อตแรกไปเมื่อเดือนเมษายน 2559 จำนวน 16,667 ตัน มูลค่า 26 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากนั้น บริษัท ซิโนเคม ได้ขอชะลอส่งมอบยางล๊อตที่ 2 จนถึงปัจจุบัน

 
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท. มีความพยายามในการเร่งรัดให้ซิโนเคมปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งหลังจากมีการเจรจาทางซิโนเคมแจ้งว่าจะชะลอการส่งมอบยางในงวดที่ 2 แต่ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวยังคงอยู่ในช่วงเวลาตามที่ระบุในสัญญา โดยขอฟังผลการเจรจาในเรื่องการสร้างทางรถไฟ ซึ่งตัวแทนจีนยืนยันว่ามีความเกี่ยวพันกันระหว่างสองสัญญานี้ อย่างไรก็ตาม กยท.ได้ขอความชัดเจนในเรื่องของเวลาและขอให้มีการดำเนินการจ่ายเงินในส่วนของคำสั่งซื้อเดิมให้เรียบร้อย ทั้งนี้ ปัญหาการชะลอส่งมอบยางให้กับทางซิโนเคมไม่ส่งผลกระทบต่อ กยท. แต่อย่างใด เพราะปัจจุบันมีผู้ซื้อจากหลายบริษัทให้ความสนใจและแสดงความจำนงในการขอซื้อยาง เนื่องจากเห็นว่า กยท. มีบทบาทในการเป็นตัวกลางรวบรวมยางจากเกษตรกรและปรับคุณภาพยางให้ได้มาตรฐาน และขณะนี้กำลังเตรียมที่จะตกลงเรื่องเงื่อนไขราคา ซึ่งซิโนเคมก็เป็นผู้ซื้อรายหนึ่งเช่นกัน และทุกวันนี้สัญญายังคงเดินหน้าซื้อขายยางตามสัญญาต่อไป และที่สำคัญ การขายยางของ กยท. จะเน้นการค้าขายยางโดยมองหาตลาดใหม่ๆ พร้อมทั้งส่งเสริมเครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาคเอกชน กลุ่มหรือสถาบันเกษตรกรในการร่วมกันพัฒฯสินค้าและตลาดยาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบกิจการยางทุกฝ่าย

“ส่วนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความต้องการยางพาราโลกขึ้นอยู่กับแนวโน้มและภาพรวมเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบ การพัฒนาในภาคส่วนอุตสาหกรรมยางสังเคราะห์ และการเปลี่ยนแปลงของส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง จากการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยการเติบโตของปริมาณความต้องการยางพาราโลก ซึ่งค่าเฉลี่ยการเติบโตของปริมาณความต้องการยางพาราต่อปีประมาณ ร้อยละ 3.3 ดังนั้น ค่าเฉลี่ยการเติบโตของปริมาณความต้องการใช้ยางต่อปีอาจจะอยู่ในช่วง ร้อยละ 2 - 4 ต่อปี นอกจากนี้ ราคายางในตลาดล่วงหน้าซึ่งเป็นตลาดที่ทราบปริมาณความต้องการของผู้ซื้อและปริมาณยางที่ต้องเก็บไว้เพื่อส่งมอบ จึงสามารถกำหนดราคาได้ แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับราคาซื้อขายยางปัจจุบันในประเทศไทยแล้ว พบว่าราคาสินค้าและค่าขนส่ง รวมถึงค่าภาษีทั้งในประเทศและภาษีนำเข้าในต่างประเทศที่จะเกิดขึ้นจริงแล้ว จะเห็นได้ว่าราคาซื้อขายยางในประเทศไทยมีแนวโน้มจะสูงกว่าราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่เป็นอยู่ เพราะยางที่มีการซื้อขายปัจจุบันในประเทศถือว่ามีคุณภาพสูงกว่ายางที่ถูกเก็บไว้สำหรับซื้อขายในอนาคต ” ดร.ธีธัช กล่าว

 

3. กยท. เตรียมเชิญหน่วยงานภาครัฐ เดินหน้าตามนโยบายการใช้ยางในประเทศ

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า การยางแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 โดยหลังปิดโครงการฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา กยท. รับซื้อยางเป็นจำนวน 2,892 ตัน จากการสำรวจปริมาณความต้องการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐทั้ง 10 หน่วยงาน (ข้อมูล ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2559) มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 4,840.47 ตัน แบ่งเป็น น้ำยางข้น 3,971 ตัน และยางแห้ง 873.17 ตัน ซึ่งแต่ละหน่วยงานแจ้งความต้องการใช้ยาง มายัง กยท. ดังนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความต้องการยางในปริมาณ 399.75 ตัน แบ่งเป็น น้ำยางข้น 174.75 ตัน และยางแห้ง 225 ตันกระทรวงกลาโหม มีความต้องการใช้ยางแห้ง ในปริมาณ 44.62 ตัน กระทรวงคมนาคม มีความต้องการใช้น้ำยางข้น ในปริมาณ 3,586.30 ตัน กระทรวงศึกษาธิการ มีความต้องการยางในปริมาณ 496.24 ตัน แบ่งเป็น น้ำยางข้น 4.99 ตัน และยางแห้ง 493.25 ตัน กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มีความต้องการใช้น้ำยางข้น ในปริมาณ 187.47 ตัน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ความต้องการใช้ยางแห้ง ในปริมาณ 29.70 ตัน กทม. มีความต้องการยางในปริมาณ 96.39 ตัน แบ่งเป็น น้ำยางข้น 17.49 ตัน และยางแห้ง 80.60 ตัน สำหรับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ยังไม่มีการแจ้งความต้องการใช้ยาง ทั้งนี้ หากหน่วยงานภาครัฐมีการแจ้งแผนการรับมอบยางที่ชัดเจนมาเพิ่มเติม กยท. จะเร่งประสานกับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร หรือผู้ประกอบการ ในการจำหน่ายยางให้หน่วยงานภาครัฐต่อไป

“ สำหรับในปีงบประมาณ 2560 กยท. ได้หารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงแนวทางในการในการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ โดยในเร็วๆ นี้ กยท. วางแผนเชิญหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมเพื่อหารือถึงปริมาณความต้องการใช้ยางของแต่ละหน่วยงานในปีงบประมาณนี้”  ดร.ธีธัช เผยเพิ่มเติม

 

4. กยท. ขยายเวลา รับแจ้งข้อมูลเกษตรกรที่ปลูกยางในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2559 เปิดโอกาสให้เกษตรกรฯ ที่ไม่สามารถแจ้งข้อมูลได้ทัน เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายด้านยางต่อไป

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า กยท. ได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลเกษตรกรที่ปลูกยางในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการกำหนดนโยบายด้านยางพารา ซึ่งเริ่มจัดข้อมูลโดยให้เกษตรกรชาวสวนยางมาแจ้งข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 ดังนั้น เพื่อให้สามารถจัดเก็บข้อมูลได้มากที่สุด และให้โอกาสให้เกษตรกรฯ ที่ไม่สามารถแจ้งข้อมูลได้ทัน กยท. จึงประกาศขยายเวลาการรับแจ้งข้อมูลเกษตรกรที่ปลูกยางในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2559 ทั้งนี้ การรับแจ้งข้อมูลเกษตรกรฯ ครั้งนี้ ไม่ใช่การรับรองสิทธิ์การเป็นเกษตรกรชาวสวนยางตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 และความชอบธรรมในการครอบครองสิทธิ์ในที่ดินสวนยาง

 

5. กยท.ไฟเขียว แผนปฏิบัติการดิจิทัล การยางแห่งประเทศไทย ปี 2560-2564 พร้อมเดินหน้า บริหารและบริการด้านยางพาราด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บอร์ดการยางฯ เห็นชอบ เพื่อแผนยุทธศาสตร์ดิจิทัลของการยางแห่งประเทศไทย (พ.ศ.2560-2564)  ซึ่งแผนนี้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และตอบสนองแผนวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย ทั้งในเรื่องการสร้างรายได้ การพัฒนายางพารา การวิจัยและนวัตกรรม และบริหารจัดการภายในองค์กร และการให้บริการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และยังเป็นบูรณาการรองรับการหลอมรวมของหน่วยงาน ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดความซ้ำซ้อนงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีอยู่เดิม แนวทางหลักของการจัดทำแผนปฏิบัติการดิจิทัลของ กยท. ครั้งนี้  คือ “หลอมรวม หยั่งราก สร้างรายได้ พัฒนายั่งยืน”

 ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอนาคต การยางแห่งประเทศไทยจะยกระดับเรื่องตลาดยางพารา ศูนย์กลางการซื้อขาย ขณะเดียวกัน มีการรวบรวมข้อมูลเรื่องของราคากลางยางพาราทั้งประเทศ ปริมาณการซื้อขายในแต่ละวัน และบริการองค์ความรู้ต่างๆ ภายใต้แผนปฏิบัติดิจิทัล 4 ปี ของ กยท. โดยในแต่ละปีจะมีเป้าหมายในการเดินหน้าพัฒนาระบบด้วยแนวทาง  หลอมรวม หยั่งราก สร้างรายได้ พัฒนายั่งยืน ในปีแรก เดินหน้าเรื่องการหลอมรวม ด้วยการจัดวางโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอกับหน่วยงานใหม่ที่ควบรวม พร้อมทั้ง ปรับปรุงระบบสารสนเทศเดิมให้รองรับหน่วยงานใหม่ สามารถสื่อสารในองค์กรได้อย่างทั่วถึง มั่นคง และปลอดภัย ปีที่ 2-4 กยท.จะพัฒนาระบบสารสนเทศหลักแบบศูนย์รวมด้วยการบูรณาการด้านข้อมูล เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการด้านตลาดยาง การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งก็จะทำให้เกษตรกรขายยางได้ตามราคากลาง ในราคาที่เป็นธรรม เป็นมาตรฐานเดียวกัน ผู้ประกอบการเองซื้อได้ในราคาที่พอใจได้คุณภาพที่ต้องการในรูปแบบบริการโมบายแอพพลิเคชั่นเป็นการเพิ่มช่องทางสื่อสารและให้บริการที่สะดวกเพิ่มขึ้น รวมทั้ง การบริการด้านงานวิจัยและนวัตกรรม ด้านการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน สารสนเทศภูมิศาสตร์ เป็นต้น ทั้งนี้ เกษตรกรจะมีช่องทางของข้อมูลข่าวสารที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว เพื่อรับความช่วยเหลือตามมาตรา 49 ในแต่ละวงเล็บ ทั้งนี้ การให้บริการข้อมูลของเกษตรกรชาวสวนยาง แบบอีเซอร์วิส (E-service) จะเป็นการส่งเสริม การพัฒนาการทำสวนยาง การให้บริการเกษตรกร ผ่านทางทะเบียนข้อมูลเกษตรกร หรือผู้ประกอบการ สามารถนำข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นมาใช้ในการวางแผนการปลูกวางแผนการจัดการสวน วางแผนในการดำเนินการในแต่ละช่วงเวลาให้เกิดความเหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีในการยกระดับการให้บริการและสวัสดิการแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอย่างเต็มรูปแบบ

 







 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ต.ค. 2559 เวลา : 17:34:16

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:10 am