ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมชลฯเผยเจ้าพระยาเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว / เตรียมพร้อมรับมือภาคใต้เข้าสู่ฤดูฝน


 


สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนพื้นที่ภาคใต้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนัก ชุมพรและหาดใหญ่ ใช้โครงการพระราชดำริ บรรเทาปัญหาอุทกภัย

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(8 พ.ย. 59)มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 49,762 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำใน      อ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2558 จำนวน 8,737 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 26,236 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะ 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำใช้การได้ 3,115 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,838 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 912 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 998 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง     4 เขื่อน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 9,863 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับการสนับสนุนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอื่นๆตลอดในช่วงฤดูแล้งปี 2559/60

สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน(8 พ.ย. 59) มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 715 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระราม 6 ในอัตรา 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2559

ในส่วนของสถานการณ์น้ำในจังหวัดเพชรบุรี ภายหลังจากเขื่อนเพชรได้ลดการระบายน้ำลง ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 เป็นต้นมา ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ต่ำกว่าตลิ่งแล้วตลอดทั้งลำน้ำ สภาพน้ำท่วมในบริเวณตัวเมืองเพชรบุรี น้ำแห้งเกือบหมดแล้ว สำนักงานชลประทานที่ 14 และหน่วยงานต่างๆ ได้เข้าช่วยเหลือในพื้นที่ ดำเนินการซ่อมคันดินที่เสียหาย และเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีน้ำท่วมขัง โดยใช้เครื่องสูบน้ำของกรมชลประทาน 20 เครื่อง เครื่องสูบน้ำของเทศบาลเมืองเพชรบุรี 8 เครื่อง และสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค7 จังหวัดราชบุรี จำนวน 3 เครื่อง รวมทั้งสิ้น 31 เครื่อง นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่สะพานวัดเขาตะเครา 8 เครื่อง ที่บริเวณท่อระบายน้ำบางขุนไทร อ.บ้านแหลม 2 เครื่อง และที่บริเวณคลองบางน้ำเชี่ยว อ.บ้านแหลม 2 เครื่อง รวมทั้งสิ้น 12 เครื่อง พร้อมด้วยรถแบ๊คโฮ 2 คัน และเตรียมรถบรรทุกน้ำไว้สนับสนุนการอุปโภคบริโภคอีก 2 คัน

 สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันได้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำ โดยการตรวจสอบความพร้อมใช้งานของระบบชลประทาน      ทั้งในส่วนของอาคารชลประทาน ระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ คันกั้นน้ำ ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำ ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที พร้อมกับให้ตรวจสอบระบบป้องกันน้ำท่วมของหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในส่วนของจังหวัด เทศบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากพบว่ามีปัญหาหรือมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถรองรับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมปรับปรุงให้สามารถใช้งานป้องกันอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

อนึ่ง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช     ที่พระองค์ทรงมีความห่วงใยต่อพสกนิกรชาวภาคใต้ ที่มักจะประสบกับปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทาน ดำเนินโครงการป้องกันแก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัย ให้ลดน้อยลง อาทิ จังหวัดชุมพร แต่ครั้งอดีตที่ผ่านมา คราใดที่เกิดฝนตกหนัก มักจะประสบกับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เมืองชุมพรเป็นประจำแทบทุกปี  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนิน โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เมืองชุมพร(ลุ่มน้ำคลองท่าตะเภา) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรชาวเมืองชุมพร ซึ่งกรมชลประทานได้สนองพระราชดำริ ด้วยการพัฒนาโครงการต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน เช่น การขุดคลองหัววัง-พนังตัก เพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเล และการก่อสร้างคลองสายหลักต่างๆ จนสามารถป้องกันบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำคลองท่าตะเภา ในเขตเมืองชุมพรได้เป็นที่น่าพอใจยิ่ง ที่สำคัญพระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ใช้พื้นที่หนองใหญ่เป็นแก้มลิงธรรมชาติ เพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำจากคลองท่าแซะ มาเก็บไว้ก่อนที่จะไหลลงสู่คลองท่าตะเภา และเมื่อมีปริมาณมากจึงทยอยระบายลงสู่   คลองหัววัง – พนังตัก เพื่อระบายออกสู่ทะเลต่อไป ช่วยลดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเข้าตัวเมืองชุมพรได้เป็น     อย่างมาก และยังสามารถใช้แก้มลิงหนองใหญ่เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อีกด้วย

สำหรับในเขตอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจขนาดใหญ่ของภาคใต้ตอนล่าง ในอดีตมักจะประสบกับปัญหาอุทกภัยเป็นประจำแทบทุกปีเช่นกัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช    ทรงมีพระราชดำริ เกี่ยวกับการดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ในปี พ.ศ. 2531 และ ปี พ.ศ. 2543 ซึ่งกรมชลประทานได้สนองพระราชดำริ โดยการศึกษาวางแผนและดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำต่างๆ พร้อมกับการขุดลอกคลองระบายน้ำที่มีอยู่เดิมให้สามารถรองรับน้ำหลากได้มากขึ้น รวมทั้งขุดลอกคลองระบายน้ำขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น ได้แก่ คลอง ร.1 ร.2 และ ร.3 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและแบ่งน้ำจากคลองอู่ตะเภาที่จะไหลลงมาท่วมตัวอำเภอหาดใหญ่ไปลงทะเลสาบสงขลาได้มากขึ้นถึง 1,125 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่เนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2553 ที่เกิดฝนตกหนักและปริมาณน้ำท่าจำนวนมาก เกินกว่าผลการศึกษาเดิมที่ได้ทำไว้ กรมชลประทาน จึงได้วางแผนดำเนินโครงการขุดขยายคลอง ร.1 ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำของคลอง ร. 1 ไปลงทะเลสาบสงขลา จากเดิมที่สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมปริมาณน้ำที่จะสามารถระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลา เมื่อการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ประมาณ 1,860 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการขุดลอกคลองให้แล้วเสร็จและใช้งานได้ภายในปี 2562















 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 พ.ย. 2559 เวลา : 12:34:09

24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 6:35 am