ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ตามตลาดคาด


 




นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี

ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่องในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ก่อนหน้าแม้มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นแต่อาจกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าคาดจากปัจจัยด้านอุปทาน สำหรับภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวดีกว่าคาด ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมยังทรงตัวอยู่ในระดับต่่าแม้ปรับดีขึ้นบ้างในบางอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก ในขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอลงจากมาตรการจัดระเบียบผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว (ทัวร์ศูนย์เหรียญ) สำหรับการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้แม้กิจกรรมบางประเภทอาจชะลอลงบ้างชั่วคราว ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนให้แก่เศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง ในภาพรวม คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวแต่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าจะน้อยกว่าประมาณการเดิม และมีความไม่แน่นอนที่สืบเนื่องจากพัฒนาการทางการเมืองในสหรัฐฯ และยุโรป นอกจากนี้ ปัญหาภาคการเงินในยุโรปและจีน ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคมชะลอลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้ โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ และมีความเสี่ยงที่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิม โดยขึ้นอยู่กับราคาอาหารสด และพัฒนาการของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่โดยรวมอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางทยอยปรับสูงขึ้น ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย

ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทโน้มแข็งค่าขึ้นบ้างเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งสำคัญ ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าเสถียรภาพการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถรองรับปัจจัยลบและความผันผวนในตลาดการเงินที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุด อาทิ คุณภาพสินเชื่อของธุรกิจบางกลุ่มที่ด้อยลง และพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน

คณะกรรมการฯ เห็นว่าการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ยังมีความสำคัญ เพราะในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากขึ้น

ในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง และพร้อมที่จะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ



LastUpdate 09/11/2559 14:47:17 โดย : Admin

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:52 am