ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
นบข.ไฟเขียวผู้ปลูกข้าวเหนียวร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปี 2559/60


 


วันนี้ (18พ.ย.59)  เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำที่ประชุมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องของการบริหารจัดการข้าวทั้งระบบครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทางจนถึงปลายทาง รวมถึงเรื่องการเกษตรต่าง ๆ และบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบว่า รัฐบาลต้องการให้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นให้ได้ภายในระยะเวลาปี 2560 - 2561 โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีนี้และขยายต่อไปภายใน 4 ปี อย่างไรก็ตามทั้งหมดที่ดำเนินการต้องมีผลสัมฤทธิ์ภายใน 1 ปีภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินรัฐบาลชุดนี้ให้ได้ ก่อนดำเนินการตามแผนแม่บทที่วางไว้ 4 ระยะ คือครั้งละ 5 ปี (5-5-5-5) สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวก็เพื่อให้ทุกอย่างสามารถขับเคลื่อนไปได้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยว่า สถานการณ์ข้าวโลกข้าวไทย ปี 2559/60 ยังทรงตัว โดยขณะนี้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งจากการเดินทางลงพื้นที่ในจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร พบว่าชาวนาได้มีการนำข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวแล้วมาตากตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น ถนน ลาดวัด โรงเรียน ฯลฯ เพื่อลดความชื้นข้าวเปลือกเก็บในยุ้งฉางเตรียมเข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกของ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นการชะลอการขายข้าวโดยไม่ต้องนำข้าวที่มีความชื้นอยู่ไปขายให้กับโรงสีทันทีอย่างที่เคยปฏิบัติมา ทำให้ชาวนามีทางเลือกในการชะลอการขายเพื่อจะได้จำหน่ายข้าวในราคาที่เหมาะสม ซึ่งนับว่ามาตรการที่ออกมาตามนโยบายรัฐบาลนั้นได้ผลดีเพราะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรชาวนา โดยมีบางกลุ่มที่เป็นโรงสีชุมชน กลุ่มเกษตร ได้มีการรวมตัวกันนำข้าวเปลือกที่ตากแล้วมาสีเองเพื่อนำมาบรรจุถุงจำหน่ายโดยตรงให้กับผู้บริโภค

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 ณ เซ็นทารา แกรนด์ ลาดพร้าว จากการที่กระทรวงพาณิชย์ ได้เชิญผู้ซื้อข้าวจากต่างประเทศทั่วโลก 15 ประเทศ จำนวน 100 กว่าราย เพื่อซื้อข้าวจาก เกษตรกรชาวนาโดยตรง รวมถึงกลุ่มสหกรณ์และกลุ่มผู้ส่งออก นั้น ได้มีการขายข้าวไปแล้ว จำนวน 60,000 ล้านบาท  ขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์ก็มีการซื้อข้าวจากภาคเอกชนไทย จำนวน 200,000 กว่าตัน และคาดว่าจะมีการนำเข้าข้าวเพิ่มในลักษณะการซื้อขายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล รวมทั้งในส่วนของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนก็คาดว่าจะมีการนำเข้าข้าวเพิ่มด้วย นอกจากนี้ ข้าวหอมมะลิไทย ยังได้รับรางวัล World Best Rice Award ในปีนี้จากงานประชุม World Rice Trade ซึ่งเป็นการประชุมระดับโลก ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยรางวัลลำดับที่สองคือประเทศกัมพูชา และสามประเทศสหรัฐอเมริกา ตามลำดับแสดงให้เห็นถึงคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

 
 
 
อีกทั้งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเพิ่มเติมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวสามารถเข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปี 2559/60 และให้ได้รับการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเช่นเดียวกับกลุ่มผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ ทั้งนี้กำหนดวงเงินสินเชื่อให้กับผู้ที่จะนำข้าวขึ้นยุ้งฉางตันละ 9,500 บาท (ข้าวเปลือก)  โดยค่าขึ้นยุ้งฉาง 1,500 บาท ค่าปรับปรุงคุณภาพข้าว 2,000 บาท ดังนั้นหากเกษตรกรนำข้าวขึ้นยุ้งฉางด้วยก็จะได้รับเงิน 13,000 บาท แต่หากชาวนาเลือกที่จะไม่เก็บข้าวขึ้นยุ้งฉางก็สามารถขายข้าวได้ทันทีหลังจากตากข้าวเปลือกแห้งแล้ว เนื่องจากขณะนี้ตลาดข้าวราคากำลังขยับขึ้น โดยสามารถขายได้ในราคาตันละ 11,500 บาท  ส่วนกรณีที่รถเกี่ยวข้าวไม่เพียงพอ กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าว นำรถเกี่ยวและรถนวดข้าวไปมอบให้กับเกษตรกรชาวนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว จำนวน 10 คัน ผ่าน กอ.รมน.ภาค 2 เป็นผู้บริหารจัดการ โดยในช่วยแรกให้ดำเนินการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนเพราะกำลังเก็บเกี่ยวข้าวในหลายพื้นที่และเพื่อให้ทันกับความต้องการของเกษตรกรชาวนา

รวมทั้งที่ประชุมรับทราบเรื่องการประกาศการปรับปรุงมาตรฐานข้าวไทยจากเดิมที่ให้เป็นข้าวหอมมะลิไทยชนิดพิเศษ (Prime  Quality Thai Hom Mali Rice ) ซึ่งมีข้าวหอมมะลิไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 98 โดยปริมาณ และมาเป็นการกำหนดให้มีเพียงชั้นเดียวคือมีข้าวหอมมะลิไทย (Thai Hom Mali Rice) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 92 โดยปริมาณ กำหนดให้เป็นมาตรฐาน Premium เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ และมาตรฐานรองลงมาคือกำหนดข้าวหอมไทย (Tai Fragrant Rice หรือ Tai Jasmine Rice) เป็นข้าวตลาดระดับกลางและเป็นเกรดรองลงจากข้าวหอมมะลิไทย เพื่อสร้างแบรนด์ใหม่สำหรับการแข่งขันทางการค้ากับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ และเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคที่มีความต้องการที่หลากหลายแต่ยังคงรักษาคุณภาพข้าวที่อ่อนนุ่ม และมีราคาต่ำกว่าข้าวหอมมะลิไทย เป็นต้น

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 พ.ย. 2559 เวลา : 21:25:24

24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 4:09 am