ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
10 ปี ซีแอล ช่วยประเทศประหยัดงบค่ายากว่า 1.6 หมื่นล้านบาท


 


10 ปี ซีแอล ช่วยประเทศประหยัดงบค่ายากว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น

 

สปสช.เผย ครบรอบ 10 ปี ประกาศซีแอล กลไกสำคัญหนุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าบรรลุเจตนารมณ์ช่วยประชาชนเข้าถึงการรักษาได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ยืดชีวิตผู้ป่วย เผยภาพรวมช่วยประเทศประหยัดงบค่ายา เฉพาะกลุ่มยาต้านไวรัสกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ไม่รวมมูลค่าประหยัดยาบัญชี จ.2 แถมส่งผลให้เกิดการต่อรองราคายาในระบบอย่างเหมาะสม

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. กล่าวว่า ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้มีการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2545 แม้ว่าจะทำให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาได้ แต่ยังไม่ครอบคลุมการรักษาทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ แม้ว่าขณะนั้นองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะได้มีการผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ จีพีโอเวียร์ (GPO vir) สำเร็จ และได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2548 แล้วก็ตาม แต่เนื่องยังมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีบางส่วนที่เกิดภาวะดื้อยา และจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัสสูตรถัดไปซึ่งขณะนั้นมีราคาแพงมาก ส่งผลให้ประเทศไทย โดย นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ได้ผลักดันนโยบาย “ประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา” หรือ “ซีแอล” (Compulsory Licensing : CL) โดยประกาศซีแอล “ยาต้านไวรัสเอฟฟาไวเรนซ์” (Efavirenz) เป็นยารายการแรก เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549

         
 
ต่อมายังได้มีการประกาศซีแอลรายการยาอื่นที่จำเป็นต่อการเข้าถึงของผู้ป่วยเพิ่มเติม อาทิ ยาต้านไวรัสสูตรผสมโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์ (Lopinavir & Ritonavir), ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ซึ่งยารักษาโรคเส้นเลือดอุดตันทั้งในสมองและในหัวใจ ยารักษาโรคมะเร็ง (Docetaxel) ยารักษาโรคมะเร็งเต้านม (Letrozole) และยารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Imatinib)

         
ทพ.อรรถพร กล่าว ผลจากการประกาศซีแอลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถดูแลประชาชนให้เข้าถึงการรักษาได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงภายใต้งบประมาณที่จำกัด แต่ยังทำให้ สปสช.ประหยัดงบประมาณค่ายาได้อย่างต่อเนื่อง และภายหลังยังส่งผลให้เกิดการต่อรองราคายากับบริษัทยาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ปัจจุบันมียาที่ได้ประกาศซีแอลที่ยังคงในระบบ 3 รายการ คือ 1.ยาต้านไวรัสสูตรผสมโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์ จากราคา 74.23 บาท/เม็ด หลังประกาศซีแอลเหลือ 18.18 บาท/เม็ด และปี 2559 ราคา 12.35 บาท/เม็ด 2.ยาต้านไวรัสเอฟฟาไวเรนซ์ มีขนาดยาต่างๆ อาทิ ขนาด 600 มิลลิกรัม จากราคา 65.78 บาท/เม็ด หลังประกาศซีแอลเหลือ 10.37 บาท/เม็ด ปี 2559 เหลือ 4.578 บาท/เม็ด เป็นต้น และ 3.ยาโคลพิโดเกรล จากราคา 70 บาท/เม็ด หลังประกาศซีแอลเหลือ 1.08 บาท/เม็ด ปี 2559 ราคาอยู่ที่ 2.74 บาท/เม็ด

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า เมื่อคำนวณมูลค่าราคายาที่ลดลงจากการประกาศซีแอลทั้งหมด โดยใช้ราคายาในปี 2552 เป็นฐานคิดคำนวณพบว่า เฉพาะในกลุ่มยาต้านไวรัสตั้งแต่ปี 2553-2559 สามารถประหยัดงบประมาณลงได้ 16,569 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมยารายการอื่นๆ ในบัญชียา จ.2 ที่ได้มีการประกาศซีแอล รวมถึงมูลค่าราคายาบัญชี จ.2 ที่ลดลงจากกลไกการต่อรองราคายาซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากประกาศซีแอล   

 “การประกาศซีแอลยานับเป็นกลไกสำคัญ ไม่เพียงช่วยให้ประเทศไทยสามารถประหยัดงบประมาณด้านยาเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยชีวิตผู้ป่วยเพราะทำให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้ โดยเฉพาะในกลุ่มโรคค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพและมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ส่งผลให้การดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยสามารถบรรลุตามเจตนารมณ์ที่วางไว้ โดยเป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก” โฆษก สปสช. กล่าว    

 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 พ.ย. 2559 เวลา : 14:37:45

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:15 am