ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นวันนี้


 กลยุทธ์การลงทุน

 หุ้นปิโตรเลี่ยมน่าจะหนุนตลาด ตราบที่ราคาน้ำมัน/ถ่านหินยังฟื้นต่อ (หนุน PTT, PTTEP, BANPU)แต่อาจถูกหักล้างแรงขายทำกำไรระยะสั้นหุ้นมิใช่ธนาคาร หลังรายงานงบ 2Q60 แต่กำลังเข้าสู่ฤดูกาลจ่ายเงินปันผล แนะนำหุ้นปันผลเด่น (KKP, TCAP, LH) Top picks คือ BANPU (FV@B24)  ราคาหุ้น Laggard ขณะที่ราคาถ่านหินฟื้นตัวกว่า 27% ในรอบ 2 เดือน และ  BEAUTY(FV@B13.5) กำไรงวด 2Q60 เติบโต 40%yoy และโดดเด่นในงวด 2H60
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย..แรงขายรับงบ 2Q60 หุ้น Real sector 
  วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา SET Index ปรับลดลงหลังจากขึ้นมาติดต่อกัน 3 วัน ลดลง 2.11 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายเบาบาง 3.65 หมื่นล้านบาท ดัชนีเคลื่อนไหวในแดนลบเกือบทั้งวัน ไม่มีกลุ่มไหนที่ปรับขึ้นได้อย่างมีนัยฯ อย่างไรก็ตาม หุ้นที่เข้า IPO วันแรก คือ FTE ปรับขึ้นได้แรงถึง 18.64% ปิดที่ 3.50 บาท จากราคา IPO ที่ 2.95 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายสูงสุดกว่า 1.52 พันล้านบาท ตามด้วย COM7 ปรับขึ้นถึง 6.31% ขณะที่คาดการณ์ผลประกอบการ 2Q60 ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง qoq จากการรับรู้ยอดขาย BKK เต็มไตรมาส อีกทั้งยังน่าจะได้รับผลบวกการเพิ่มช่องทางขายใหม่ๆ รวมทั้งมีโอกาสรับรู้รายได้จากธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่เพิ่งซื้อกิจการมาเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็น upside ที่ยังไม่ได้รวมในประมาณการ
  ตรงข้ามกับกลุ่มที่ปรับลดลง ยังคงเป็น ECL ร่วงลงแรงอีก 10.69% ทำให้นับตั้งแต่ราคาหุ้นขึ้นไปทำ new high ที่ 4.36 บาท เมื่อ 12 ก.ค. ที่ผ่านมาจนถึงล่าสุด ลดลงไปแล้วถึง 34.86% ตามด้วย MALEE ลดลงแรง 7.74% DIGI ลดลง 7.59% และ STPI ลดลงมากถึง 5.63%  โดย STPI ได้รับแรงกดดันจาก การยกเลิกโครงการ Pacific Northwest LNG ซึ่งเป็นโครงการที่ตั้งความหวังไว้สูงสุด  ขณะที่ยังไม่ได้รับงานใหม่เข้ามา ส่งผลให้งวด 2Q60 มีโอกาสเสี่ยงขาดทุน เนื่องจากรายได้ที่รับรู้เป็นงานแปรรูปโครงสร้างเหล็กที่มีอัตรากำไรไม่สูง ตรงดันข้ามต้องบันทึกค่าเสียหายจากคดีความที่แพ้ในชั้นศาลฎีกา และมีความเสี่ยงลูกหนี้โครงการ Ichthys ค้างชำระมาแล้ว 9 เดือน  ฝ่ายวืจัยจึงปรับลเประมาณการและ Fair Value ลง พร้อมทั้งปรับคำแนะนำเป็น ขาย
  ระยะสั้นยังเห็นแรงงานรับงบ 2Q60 ที่มิใช่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ แต่เนื่องจากจะทยอยประกาศจ่ายเงินปันผลสำหรับงวด 1H60 หรือ 2Q60 และราคาน้ำมันดิบและถ่านหินที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบยืนเหนือ 50 เหรียญฯ อีกรอบ ตามด้วยราคาถ่านหินที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่  2 (โดย BJI  เพิ่มมาที่ 93.52 เหรียญฯต่อตัน หรือขึ้น 27.2% จากจุดต่ำสุดเดือน พ.ค)  น่าจะมีน้ำหนักประคองดัชนีให้แกว่งตัวในกรอบ 1575-1585 จุดต่อไป  

ต่างประเทศยังฟื้นตัว และดีต่อภาคส่งออกของไทยและเอเชีย  
  ต่างประเทศสัปดาห์นี้ให้น้ำหนักไปที่  การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)  วันที่ 3 ส.ค. นี้  แม้คาดว่ายังคงดอกเบี้ยนโยบายที่  0.25% (ต่ำสุดในประวัติศาสตร์)  แต่น่าจะเริ่มส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินตึงตัว คล้ายกับการประชุมรอบที่แล้ว มีคณะกรรมการลงความเห็นว่าควรขึ้นดอกเบี้ยฯ 3 คนใน 8 คน เนื่องจากเงินเฟ้อสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  (เงินเฟ้อ 2.6%yoy VS. ดอกเบี้ย 0.25%) และการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังมีความต่อเนื่อง
  ขณะที่สหรัฐ รายงาน GDP Growth งวด 2Q60 (ประมาณการณ์ครั้งที่ 1) เพิ่มขึ้น 2.6%qoq หรือ 2.1%yoy (อัตรารายปี) เทียบกับขยายตัว 1.2%qoq หรือ 2%yoy ในงวด1Q60 (ทำให้ 1H60 ขยายตัว 2.1%yoy ใกล้เคียงกับ IMF คาดไว้ทั้งปี 2560)  โดยมีปัจจัยหนุนจากการบริโภคครัวเรือนขยายตัว 2.8%yoy จาก 1.9% ในงวดก่อนหน้า และการลงทุนเอกชน ขยายตัว 8.2% จากภาคธุรกิจมีการลงทุนในเครื่องมือ อุปกรณ์  อาทิ คอมพิวเตอร์  ทำให้เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ ยังเดินใช้นโยบายการเงินตึงตัวต่อเนื่อง  แต่น่าจะค่อยเป็นค่อยไป หลังจากเงินเฟ้อสหรัฐเริ่มชะลอต่ำกว่าที่ Fed คาด 2% (เงินเฟ้อลดลง 4 เดือนติด ล่าสุดอยู่ที่ 1.6%yoy จาก 1.9% เดือน พ.ค. จาก 2.2% เม.ย.) เทียบกับอัตราดอกเบี้ยฯ ที่ 1.25% สอดคล้องกับผลสำรวจโอกาสขึ้นดอกเบี้ยของ Bloomberg คาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือมีโอกาสน้อยลง โดยเฉพาะรอบ ธ.ค. ที่มีโอกาสขึ้นมากที่สุดเหลือเพียง 38.7% ลดลงจาก 51.4% เมื่อต้นเดือน ก.ค. กดดันให้เงินดอลลาร์ยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่าราว 8.7% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน ล่าสุดอยู่ที่ 93.25 จุด (อ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 15 เดือน) ส่งผลบวกต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมันดิบ และทองคำ 
 และญี่ปุ่น มีการรายงานดัชนีชี้นำฝั่งภาคครัวเรือนส่งสัญญาณขยายตัว คือ (Household spending) เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 2.3%yoy(ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2558) ซึ่งมีแรงหนุนจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง  สะท้อนจากอัตราการว่างงานในเดือนเดียวลดลงที่ 2.8% (เป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2517) จาก 3.1% ในเดือน พ.ค.  เป็นการฟื้นตัวหลังจากที่ภาคการบริโภคฯ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการขึ้น Sale Tax  เมื่อ เม.ย.2557 จาก 5% เป็น 8%  จนทำให้แผนการปรับขึ้นเป็น 10% ถูกเลื่อนไปขึ้น  ต.ค. 2562 โดยภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออก ในภูมิภาครวมถึงไทย
ภาษีลาภลอย หากเกิดจริง น่าจะกดดันต่อผู้พัฒนาบ้านขาย   
  ล่าสุด กระทรวงการคลัง เตรียมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. ... หรือภาษีลาภลอย โดยกำหนดจะจัดเก็บภาษีจากมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้น และมีการซื้อ-ขาย เปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในอัตราเพดาน 5% ของมูลค่าส่วนเพิ่ม โดยอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเป้าหมายได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่รัศมีไม่เกิน 2.5 ก.ม. ของรถไฟความเร็วสูง, รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า ทางด่วนพิเศษ และรัศมีไม่เกิน 5 ก.ม. จากแนวสร้างสนามบิน-ท่าเรือ ทั้งนี้ภาษีดังกล่าวถือเป็นภาระภาษีตัวใหม่ที่มีแผนจัดเก็บโดยจะเก็บเมื่อมีการเปลี่ยนมือของอสังหาริมทรัพย์เป้าหมายดังกล่าวข้างต้น โดยวิธีการจัดเก็บจะคล้ายๆ กับภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 3.3% ของราคาขาย โดยที่ผู้ขายเป็นฝ่ายต้องเสียภาษี
 อย่างไรก็ตามยังมีกระบวนการร่างกฎหมายที่ต้องใช้เวลากว่าจะประกาศใช้  ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำมาปรับปรุงร่างกฎหมาย ซึ่งกำหนดแผนว่าจะจบภายใน ส.ค.2560 หลังจากนั้นส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎหมาย ก็จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบความถูกต้องและการไม่ขัดกันของกฎหมาย หลังจากนั้นนำส่งเข้าสู่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณา 3 วาระ ด้วยต้องผ่านอีกหลายกระบวนการ จึงน่าจะต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน เช่นเดียวกับ กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งกล่าวถึงกันมาตั้งแต่ปี 2559 จนปัจจุบันก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ 
ในความเห็นของฝ่ายวิจัย ภาษีลาภลอยดังกล่าว อาจมองว่าส่วนหนึ่งเป็นการจัดเก็บที่ซ้ำซ้อนกับภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งจัดเก็บในอัตรา 3.3% ของราคาซื้อ-ขายจริง ซึ่งหากโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้น   อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ที่ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่เป้าหมายที่ต้องการเปลี่ยนมือ (ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่มีการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานใหม่เท่านั้น ไม่รวมถึงสาธารณูปโภคเดิมที่มีอยู่)  
 ทั้งนี้หากพิจารณาหุ้นกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ฝ่ายวิจัย coverage รวมทั้งหมด 13 บริษัท พบว่ามีราว 6 บริษัทหลักๆ ที่เน้นสัดส่วนโครงการจากคอนโดมิเนียม และติดรถไฟฟ้าเกือบทั้งหมด อาทิ ANAN, SENA, ORI, PACE, LPN เป็นต้น โดยผู้ที่เน้นกลุ่มลูกค้าใกล้ทำเลรถไฟฟ้ามากที่สุด รายละเอียดดังนี้
   ANAN (FV@B6) ซึ่งเน้นโครงการคอนโดมิเนียมเป็นหลัก สะท้อนจากโครงการทั้งหมดของบริษัท 30 โครงการมูลค่ารวม 9.93 หมื่นล้านบาท ซึ่งคอนโดมิเนียมสัดส่วนสูงสุด 88.5% ของมูลค่าโครงการรวม  (อาทิ โครงการ IDEO 16 โครงการ) ที่เหลืออีก  11.5 % เป็นบ้านและทาวน์โฮม ซึ่งทำเลไม่ไกลจากทางด่วน อาทิ โครงการ Arden พระราม3  (ห่างจากทางด่วนพิเศษเฉลิมมหานคร 2.2 กิโลเมตรเป็นต้น)
SENA(FV@B5.15) มีโครงการรวมทั้งหมด 21 โครงการมูลค่ารวม 1.45 หมื่นล้านบาท สัดส่วนคอนโดมิเนียม 69% ของมูลค่าโครงการรวม ส่วนใหญ่ใกล้รถไฟฟ้า อีก 31% เป็นบ้านและทาวน์โฮม
  PACE(FV@B5.5)  100 % เป็นโครงการคอนโดฯ หลักๆ คือ คอนโดฯ โครงการมหานคร มูลค่ารวม 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งติดสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี  นอกจากนี้ยังมีโครงการนิมิตหลังสวน 8 พันล้านบาท 
  และ  ORI (FV@B13.75) เกือบ 100% โครงการเป็นคอนโดมิเนียม ขณะที่  LPN(FV@B8.0) แม้สัดส่วนโครงการ 100% จะเป็นคอนโดมิเนียม อย่างไรก็ตามทำเลที่ตั้งของโครงการส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ทำเลห่างไกลจาก BTS คาดว่าจะกระทบไม่มากนัก 
โดยสรุปฝ่ายวิจัยประเมินว่าร่างกฎหมายภาษีดังกล่าว ยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะมีผลบังคับใช้ อีกทั้งอาจถูกมองว่าเป็นการจัดเก็บที่ซ้ำซ้อนกับภาษีเดิม อย่างภาษีธุรกิจเฉพาะ อีกทั้งยังมี พรบ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งน่าจะมีผลปี 2561 องค์ประกอบดังกล่าวถือเป็นภาระภาษีสำหรับที่กดดันการทำกำไรของกลุ่ม หากเกิดขึ้นจริงก็ถือเป็นปัจจัยลบสำหรับหุ้นกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย 
หุ้น real sector ทยอยประกาศงบงวด 2Q60  
เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว มีการรายงานงบฯ ของกลุ่ม Real Sector  เพิ่มเติม แม้จะชะลอตัว แต่ถือว่ายังเป็นไปตามคาด คือ
ADVANC (FV@B210) กำไรสุทธิงวด 2Q60 เป็นไปตามคาด ลดลง 6.2%qoq และลดลง 25%yoy จากต้นทุนค่าตัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายขายบริหารที่เพิ่มขึ้นจากการให้ส่วนลดค่าเครื่องกับลูกค้าชั้นดี อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์มุ่งทำการตลาดลูกค้าในกลุ่มนี้ช่วยให้จำนวนลูกค้าชั้นดีเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 1 ปี ช่วยให้รายได้ค่าบริการ (ไม่รวม IC) เติบโตได้อย่างน่าประทับใจ ขณะที่ 3Q60 น่าจะเติบโตได้ qoq และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงฤดูกาล 4Q60 ทั้งนี้ สิ่งที่น่าจะให้น้ำหนักจากนี้ นอกจากการเพิ่มฐานลูกค้าชั้นดีแล้ว ยังเป็นเรื่องของการบริหารต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ว่าจะสอดคล้องกับรายได้ค่าบริการหรือไม่ โดยฝ่ายวิจัยประเมินผลการดำเนินงานปีนี้ลดลงเล็กน้อย -4%yoy ก่อนจะกลับมาเติบโตในปี 2561 ที่ 8%yoy ขณะที่ Dividend Yield ปีนี้แม้จะลดลงเหลือ 3.7% แต่ก็ยังน่าสนใจลงทุน เมื่อเทียบกับศักยภาพที่จะเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว
  PTTEP (FV@B116) กำไรสุทธิงวด 2Q60 ลดลง 38.7%yoy (ดีกว่าที่ฝ่ายวิจัยคาดเนื่องจากประเมินราคาขายต่ำไป) ซึ่งหลักๆ มาจากปริมาณขายปิโตรเลียมที่ลดลงจากแผนหยุดซ่อมบำรุงหลักของโครงการบงกช, ผลจากพายุไซโคลนของแหล่งมอนทารา และการหยุดผลิตชั่วคราวของแหล่ง S1 รวมทั้งต้นทุนต่อหน่วยที่ปรับเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมการสำรวจขุดเจาะที่จะเพิ่มขึ้น และต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการ shutdown ของโครงการต่างๆ นอกจากนี้ การบันทึกกำไรพิเศษทั้ง Fx และผลประโยชน์ทางภาษียังลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะกำไรปกติในงวด 1H60 พบว่าสูงถึง 65% ของประมาณการทั้งปีที่ไม่ได้รวมรายการพิเศษ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการฯ ปีนี้ไว้ก่อน เนื่องจากยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ทั้งในส่วนของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน แต่คงมุมมองบวกต่อแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในช่วง 2-3 ปี ข้างหน้า ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ PTTEP ประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาล คิดเป็น Dividend Yield สำหรับงวดครึ่งปีถึง 1.7% ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 8 ส.ค. 2560 จึงน่าจะเป็นโอกาสดีในการสะสม
ต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 5
วันศุกร์ที่ผ่านมา แม้ตลาดหุ้นไทยหยุดทำการ เนื่องจากเป็นวันเฉลิมพระชนม์พรรษาฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ   แต่ตลาดหุ้นในภูมิภาคยังคงเปิดทำการปกติ  และพบว่า ต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ด้วยมูลค่าสูงถึง 809 ล้านเหรียญ โดยเป็นการขายสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นฟิลิปปินส์เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ก.ค. 2560 เวลา : 12:16:58

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:50 am