ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นวันนี้(09/08/60)


 กลยุทธ์การลงทุน

  
ปัจจัยภายนอกยังให้น้ำหนักต่อ Dollar ฟื้นตัว และเงินบาทชะลอการแข็งค่า หนุนหุ้นส่งออกฟื้นตัวช่วงสั้น หลังราคาหุ้นสะท้อนเงินบาทที่แข็งเกินไป ณ สมมุติฐาน 34 บาทต่อเหรียญฯ หุ้นส่งออกบางบริษัทยังมี upside Top picks ยังเลือก HANA (FV@B53) และเพิ่ม CPF (FV@B29.4) เชื่อว่าสะท้อนปัจจัยลบหมดแล้ว ทั้งราคาหมูที่ผ่านจุดต่ำสุด และเพิ่มทุนน้อยกว่าคาด    

ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย... แรงกดดันหุ้น ธ.พ. น่าจะลดลง
  SET Index วานนี้ปรับขึ้น 3.77 จุด หรือ 0.24% ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ยังเบาบาง 3.58 หมื่นล้านบาท ดัชนียืนอยุ่ในแดนบวกตลอดทั้งวัน ส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวของกลุ่ม ธ.พ. นำโดย KBANK เพิ่มขึ้นถึง 2.38% KTB และ TMB เพิ่มขึ้นเท่ากันที่ 1.71% และ SCB ฟื้นตัว 1.41% หลังจากลงมาหนักอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ยกเว้น TCAP ลงหนักถึง 2.66% แรงกดดันมาจาก EARTH ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย TBANK (TCAP ถือหุ้น 50.96%) เป็นเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท ฐานเปิดเผยข้อมูลธุรกรรมการเงินในกับ KTB ส่งผลให้ KTB ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่ออายัดเงินของ EARTH ที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของ TBANK ซึ่งเป็นเงินที่ใช้สำหรับดำเนินธุรกิจซื้อขายถ่านหินให้กับคู่ค้าในจีน อย่างไรก็ตาม ทาง TBANK ยังไม่มีแผนต้องตั้งประมาณการหนี้สินจากคดีความฟ้องร้องที่เกิดขึ้น เนื่องจากเชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการแล้ว จึงต้องไปพิสูจน์กันในชั้นศาลต่อไป ส่วนการอายัดเงินลูกค้า เป็นไปตามคำสั่งศาล ตามที่ชี้แจง ไม่ได้ทำโดยพลการ อีกทั้งอยู่ระหว่างประเมินตัวเลขความเสียหาย และมีโอกาสที่ว่าจะฟ้องร้องกลับ ทั้งนี้ เชื่อว่าข้อสรุปคำชี้แจงดังกล่าว จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นกลับมา โดยให้น้ำหนักไปที่การฟื้นตัวของธุรกิจหลัก อีกทั้งราคาหุ้นที่ยังถูก (P/BV เพียง 0.89 เท่า) กว่าค่าเฉลี่ยกลุ่ม และปันผลกว่า 5% ต่อปี
  หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วานนี้ฟื้นตัวได้ยกกลุ่ม หลังจากเงินบาทเริ่มชะลอการแข็งค่า เช่น KCE ฟื้นตัว 3.70% ตามด้วย HANA เพิ่มขึ้น 2.92% CCET เพิ่มขึ้น 1.29% DELTA เพิ่มขึ้น 0.86%
  กลุ่มโรงแรม หลังจากนิ่งๆ ไปพักหนึ่ง วานนี้ดีดตัวได้โดดเด่น โดย ERW เพิ่มขึ้นถึง 4.81% โดยคาด 2Q60 กำไรเติบโตโดดเด่นถึง 119%YoY จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น 7.6% yoy ส่วนผลการดำเนินงาน 2H60 คาดเติบโตมากขึ้น YoY ตามภาคท่องเที่ยวไทยที่มีแรงหนุนต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนและรัสเซีย คาดหนุนให้ธุรกิจโรงแรมมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยงวด 3Q60 และ 4Q60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ระดับ 81% และ 76% ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่าผลประกอบการ 2Q60 จะเป็นจุดต่ำสุดของปี ก่อนทยอยเติบโตขาขึ้นเป็นขั้นบันไดอีก 3 ไตรมาสตั้งแต่ 3Q60 ถึง 1Q61 ซึ่งเป็นช่วง Peak Season ส่วน CENTEL เพิ่มขึ้น 1.2%
  ส่วนหุ้นอื่นๆ ที่ราคาปรับขึ้นแรง คือ PLE เพิ่มขึ้น 10% จากความคาดหวังว่าน่าจะมีโอกาสได้งานประมูลรถไฟทางคู่บางเส้นทาง (หลังจากยื่นซองประกวดราคาไป 5 สัญญา) ตามด้วย SVOA เพิ่มขึ้น 9.68% และ VNT เพิ่มขึ้น 8.37%
  ส่วนกลุ่มที่ปรับลดลงมีไม่มากนัก คือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง หลักๆ มาจาก TASCO ลดลง 1.81% SCCC ลดลง 1.33% ส่วน SCC ลดลง 0.82% ขณะที่หุ้นที่ลดลงแรงวานนี้ คือ PACE ลดลงถึง 9.24% ตามด้วย PPP, NYT, MATI และ MACO ลดลง 6.54%, 5.56%, 4.59% และ 4.42% ตามลำดับ
  ภาพรวมตลาด เมื่อดัชนีพักตัวลงมาใกล้บริเวณ 1570 จุด ก็มักจะเห็นการฟื้นตัวขึ้น ขณะที่แนวต้านยังเป็นบริเวณ 1585 จุด ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีกรอบการเคลื่อนไหวที่จำกัดมาก ตราบที่ดัชนียังไม่มีปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ และแรงขับเคลื่อนจาก Fund Flow SET Index ก็ยังคงถูกจำกัดในกรอบนี้ต่อไป

น้ำท่วมกดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภคอีกระยะหนึ่ง
  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค(CCI) เดือน ก.ค. ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ระดับ 73.9 จุด  นับว่าต่ำสุดในรอบ 7 เดือน  เนื่องจากประชาชนกังวลจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ และผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรระดับต่ำ โดยเฉพาะสินค้าข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน    
  ทั้งนี้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยความเสียหายจากน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือเบื้องต้น มีความเสียหายราว  9.57 พันล้านบาท ซึ่งกระทบต่อภาคเกษตรมากสุดราว    4.7 พันล้านบาท, รองลงมาคือ ภาคธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม 3.4 พันล้านบาท , โครงสร้างพื้นฐานราว  1.3 พันล้านบาท ความเสียหายปัญหาน้ำท่วมต่อเศรษฐกิจปี 2560 ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินไว้ราว 0.064% ภายใต้สมมติฐานการฟื้นตัวหลังน้ำท่วมจะใช้เวลา 2 เดือน จึงยังคง GDP Growth ปี 2560  3.6% ตามเป้าหมายเดิม  
  ทั้งนี้ภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยแจกเงินแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมครัวเรือน 3 พันบาท (5 ก.ค.-15 ส.ค)  และให้นำเงินค่าซ่อมแซมบ้านไม่เกิน 1 แสนล้าน ระหว่าง 5 ก.ค. – สิ้นปี 2560 มาลดหย่อนภาษีได้ รวมถึงผู้บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมสามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีได้  1.5 เท่า 
  นอกจากนี้ยังเตรียมออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ โดยกระทรวงการคลังจะอนุมัติวันพฤหัสบดีที่ 10 ส.ค.  คือ  ให้นำค่าใช้จ่ายที่มาลดหย่อนภาษีได้ อาทิ  ค่าที่พัก, ค่าอาหาร, ค่าซื้อของที่ระลึกร้านค้าชุมชน , ค่าบริการบริษัทนำเที่ยว  ระยะเวลาตั้งแต่  ต.ค.-ธ.ค.2560 โดยวงเงินที่จะได้ลดหย่อนจะแบ่งตามโซนพื้นที่ท่องเที่ยว

หุ้นค้าปลีกกระทบน้ำท่วมสั้น แต่จะฟื้นตัวแรงใน 4Q60: BEAUTY, COM7
  ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดสกลนคร ต่อบริษัทจดทะเบียน จากการสอบถามผู้ประกอบการในตลาด ฯ พบว่าได้รับเกือบทุกราย  เริ่มตั้งแต่  CPALL, BIGC, HMPRO,  ROBINS, MAKRO  เป็นต้น  โดย  CPALL น่าจะกระทบมากสุด เพราะมีสาขากระจายอยู่มาก  จนต้องปิดสาขารวม 15 แห่ง ราว 1-2 วัน  ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ  มีสาขาน้อยกว่า ผลกระทบจึงเกิดขึ้นเพียงแห่งละ   1  สาขา และปิดสาขาเพียง 1-2 วันเท่านั้น  ยกเว้น   ROBINS และ HMPRO   ยังสามารถดำเนินงานได้ปกติเพราะมีน้ำท่วมที่ลานจอดรถยนต์ เท่านั้น  เป็นต้น
  สถานการณ์ปัจจุบันดีขึ้น โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่กลับมาให้บริการ ตามปกติทุกรายตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา  โดยผลกระทบน่าจะเกิดขึ้นในงวด 3Q60   ซึ่งปกติเป็นช่วง low season อยู่แล้ว  จึงคาดว่าผลกระทบจำกัด  (อ่านรายละเอียดกลุ่มค้าปลีกใน Equity Talk  เช้าวันนี้)   แต่คาดว่าส่วนในไตรมาส 4 ผลประกอบการโดยรวมจะกลับมาดีขึ้น  เพราะเป็นช่วงการใช้จ่ายช่วงปลายปี  โดยคาดว่าหุ้นที่มีโอกาสเติบโตเด่นในงวด 4Q60  คือ CPALL     และ MAKRO   ตามมาด้วย HMPRO  ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์จากซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม เพราะรัฐให้นำค่าใช้จ่ายใตการซื้อซ่อมแซม มาลดหย่อนไม่เกิน 1 แสนบาท ในช่วง 5 ก.ค. ธ.ค  2560   คาดว่าผลประกอบการมีแนวโน้มโดดเด่น จากนโยบายการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำกำไร เช่น เพิ่มสินค้า Private Brand  เป็นต้น ปี 2560 จึงคาดว่าผลประกอบการ HMPRO(FV@B11.7)  จะเติบโตในอัตราสูงกว่า 20% และ 16% ตามลำดับ  
  ส่วนผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในอีก 2 ราย แม้ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม น่าจะได้รับผลกระทบในเชิง sentiment บ้างคือ  COM7(FV@B15.5)  แต่เนื่องจากเริ่มรับรู้กำไรจากการเข้าไปซื้อกิจการ หรือ ธุรกิจจะทำให้กำไรในงวด 2H60 โดดเด่นกว่า 1H60  และทั้งปี 2560 น่าจะเติบโต 26% และ 32% ตามลำดับ เช่นเดียวกับ BEAUTY(FV@B13.5) ยังคงได้อานิสงค์จากแรงซื้อของนักท่องเที่ยวชาวจีน ทำให้คาดกำไรสุทธิปีนี้จะเติบโตสูงสุดในกลุ่มราว 40% และ  32% ตามลำดับ

หลังการประชุม OPEC คาดว่าได้รับความร่วมมือการปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้น
  วานนี้การประชุมของกลุ่ม OPEC และ Non OPEC ณ เมืองอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ประกอบด้วย รัสเซีย คูเวต และซาอุดิอาระเบีย ได้พบปะกับเจ้าหน้าที่ในกลุ่ม OPEC คือ อิรัก, UAE  และนอกกลุ่ม  OPEC  คือ  คาซัคสถาน และมาเลเซีย    จากที่ประชุมได้ระบุว่า อิรัก และ UAE ให้ความร่วมมือต่อข้อตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันในระดับต่ำ โดยทั้ง 2 ประเทศ มีปริมาณการผลิตน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 2 และ 4 ของการผลิตทั้งหมดในกลุ่ม OPEC และมีสัดส่วนปริมาณการผลิตน้ำมันถึง 13.6% และ 8.9% ตามลำดับ ซึ่งตั้งแต่การประชุมในรอบ พ.ย.จนถึงปัจจุบัน ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิรัก และ UAE ลดลงเพียง 3.0% และ 4.2% ตามลำดับ  ขณะที่ประเทศนอก OPEC อย่าง คาซัคสถานและมาเลเซีย  กลับมีการเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
  สรุปการหารือของกลุ่ม OPEC ในวานนี้ น่าจะได้รับความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันมากขึ้น จาก UAE, อิรัก, คาซัคสถาน และมาเลเซีย  ซึ่งต่างแสดงความสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการตรวจสอบการปรับลดกำลังการผลิต
  นอกจากนี้ราคาน้ำมันยังมีแรงหนุนจาก ซาอุดิอาระเบียที่จะลดการส่งออกน้ำมันแก่ลูกค้าส่วนใหญ่ในเอเชียราว 10% ในเดือนหน้า อย่างไรก็ตามอาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นๆ อย่าง รัสเซีย และสหรัฐ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น และแย่งชิงลูกค้าจากซาอุดิอาระเบีย
  ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นถือเป็นสัญญาณที่ดี รวมทั้งฝ่ายวิจัยฯยังมีมุมมองบวกต่อราคาน้ำมันในระยะยาว ว่ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงเป็นโอกาสในการสะสมหุ้นน้ำมัน อย่าง PTT (FV@B460) และ PTTEP (FV@B116) ยามที่ราคาอ่อนตัวลง รวมถึงหุ้น BANPU(FV@B24)  ซึ่งราคาหุ้นยัง Laggard กว่าราคาถ่านหินที่ฟื้นตัวต่อเนื่องอีก 3.1% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า 

ต่างชาติซื้อหุ้นในภูมิภาคเล็กน้อย แต่ยังขายไทยต่อเนื่อง
  แม้วานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค แต่แรงซื้อยังคงเบาบาง ด้วยมูลค่าเล็กน้อยเพียง 15 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) อีกทั้งแรงซื้อกระจุกอยู่เพียง 2 แห่งคือ เกาหลีใต้ 66 ล้านเหรียญและฟิลิปปินส์อีกราว 9 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 3 แห่ง ต่างชาติยังคงขายสุทธิคือ ไต้หวัน 13 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว), อินโดนิเซีย 20 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6) และไทยซึ่งต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องอีก 27 ล้านเหรียญ หรือ 886 ล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 10 โดยมีมูลค่ารวมกว่า 1.84 หมื่นล้านบาท) ขณะที่สถาบันในประเทศสลับมาซื้อสุทธิ 1.4 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน)
  ด้านตลาดตราสารหนี้ สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 2.5 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับต่างชาติที่สลับมาซื้อสุทธิสูงถึง 2.1 หมื่นล้านบาท (หลังจากขายสุทธิเล็กน้อยเพียงวันเดียว) โดยยอดซื้อสุทธิของต่างชาติในเดือน ส.ค. (mtd) อยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ Bond Yield ยังคงปรับตัวลง ซึ่งล่าสุดลดลงไปอยู่ที่ 2.44% ต่ำสุดในรอบกว่า 9 เดือน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ส.ค. 2560 เวลา : 12:10:58

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 2:37 pm