ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นวันนี้ ชี้ SET ยังถูกกดดันจากการรายงานงวด 2Q60 และการขึ้นเครื่องหมาย XD


 กลยุทธ์การลงทุน

  SET ยังถูกกดดันจากการรายงานงวด 2Q60 และการขึ้นเครื่องหมาย XD แต่ยังมีประเด็นบวกเล็กๆ คือ เงินบาทเริ่มทรงตัว สวนทางกับ Dollar ที่มีแนวโน้มฟื้นตัว หากเงินเฟ้อสหรัฐชะลอตัว ทำให้ Fed มีแนวโน้มชะลอขึ้นดอกเบี้ย ประกอบกับงวด 3Q60 เข้าสู่ช่วง Peak การส่งออก ทำให้หุ้นส่งออกยังมี่โอกาส outperform ตลาด ยังชอบ HANA (FV@B53) และ CPF (FV@B29.4) แม้ปรับลดสมมติฐาน FX เหลือ 34 บาท แต่ราคาหุ้นยังมี upside สูง และมี dividend yield 4.5% และ 4% ตามลำดับ

ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย... หุ้นธนาคารเพิ่มฟื้น คลายกังวลการตั้งสำรอง 
  วานนี้ SET Index อยู่ในแดนลบตลอดวัน ปิดตลาดลดลงไป 5.93 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายเพียง 3.49 หมื่นนล้านบาท  โดยหุ้นใหญ่ที่ปรับลดแรงคือ  AOT และหุ้นเดินเรือและโลจิสติกส์อื่น ๆ ที่ลดลงหนัก คือ   JUTHA ลดลง 2.94% ASIMAR ลดลง 2.29% NYT ลดลง 1.96% WICE ลดลง 1.75% และ PSL ลดลง 1.01%  
  และยังมีแรงขายในกลุ่ม โรงพยาบาล  นำโดย  VIH ลดลงหนักมากถึง 10.24% หลังรายงานงบฯ 2Q60 กำไรสุทธิลดลงถึง 45.8%yoy และ 12.7%qoq ตามด้วย CHG ลดลง 6.06% LPH ลดลง 5.08% BCH ลดลง 3.55% และ BH ลดลง 2.6%
  ตรงกันข้ามหุ้นที่ขึ้นแรง คือ กลุ่มบันเทิง นำโดย VGI ปรับขึ้น 4.55% หลังรายงานงบฯ 1Q60/61 (เม.ย.-มิ.ย. 60) กำไรปกติเพิ่มขึ้น 23%YoY ตามทิศทางรายได้ที่เติบโตจากรายได้สื่อบน BTS และรายได้สื่อโฆษณากลางแจ้งเติบโตโดดเด่น  โดยหลังจากนี้ต่อไปคาดว่าสื่อโฆษณานอกบ้านจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนผลการดำเนินงานสวนทางภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อฯ ที่หดตัว
  ส่วนรายหุ้นที่ขึ้นแรงคือ TEAM ราคาขึ้นชน ceiling หลังรายงานงบฯ 2Q60 turnaround พลิกกลับมาเป็นกำไรทั้ง yoy และ qoq  เช่นเดียวกับหุ้น IT ราคาพุ่งแรงถึง 11.27% หลังรายงานงบฯ 2Q60 เติบโตแรงถึง 232%qoq และ 92%yoy ตามด้วย ASIAN ขยับขึ้นอีก 6.87% จากความคาดหมายว่างบฯ 2Q60 จะมีแนวโน้มเติบโตดีเช่นกัน
  และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นสลับขึ้นมา หลังจากถูกขายหนักก่อนหน้านี้เพราะกังวลต่อปัญหาการตั้งสำรองฯ ที่อาจจะเพิ่มมา  หลังจากเกิดปัญหากับ EARTH  โดย BAY ปรับขึ้นมากสุด 1.39% ที่เหลือขึ้นเบาบาง  คือ  KTB และ SCB  เพิ่มขึ้น 0.56% และ 0.35%  ตามลำดับ 
  ส่วนหุ้นน้องใหม่ที่เพิ่งเข้าซื้อขายในตลาดฯ วันแรก INGRS ฝ่ากระแสแรงกดดันตลาดได้ ปิดที่ 1.41 บาท บวกไป 6.02% จากราคา IPO ที่ 1.33 บาท 
  โดยรวม กรอบการเคลื่อนไหว SET Index ของวันนี้ น่าจะอยู่ที่ 1564-1575 จุด ซึ่งเมื่อดัชนีลงมาทดสอบใกล้แนวรับดังกล่าว น่าจะเห็นแรงดีดกลับได้ แต่โอกาสที่จะไปได้ไกลยังมีไม่มากเนื่องจากมูลค่าการซื้อขายยังไม่หนุน จึงยังเน้นไปที่กลยุทธ์ทยอยสะสมหุ้นเมื่อ SET Index ลงมาถึงแนวรับ และแบ่งทำกำไรเมื่อขึ้นไปถึงแนวต้าน

ดอลลาร์มีแนวโน้มฟื้นตัว สวนทางบาท หากเงินเฟ้อยังต่ำ ลดโอกาส Fed ขึ้นดอกเบี้ยปีนี้
  ปัจจัยต่างประเทศเชื่อว่าตลาดรอการประกาศ อัตราเงินเฟ้อสหรัฐ  เดือน ก.ค. ในวันศุกร์นี้ คาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.8%yoy จาก 1.6%yoy (ตามราคาน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. ที่ฟื้นตัวราว 3.5%mom หรือ 6.1%mtd) แต่เป็นที่สังเกตว่าเงินเฟ้อสหรัฐยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ Fed คาดที่ 2% หลังจากช่วงก่อนหน้าเงินเฟ้อชะลอ 4 เดือนติด คือ มิ.ย.อยู่ที่ 1.6%yoy จาก 1.9% เดือน พ.ค. จาก 2.2% เม.ย. จาก 2.6% มี.ค. เทียบกับอัตราดอกเบี้ยฯ ที่ 1.25% ทำให้ช่องว่างดอกเบี้ยหักเงินเฟ้อแคบลง ซึ่งเชื่อว่าโอกาสที่  Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ลดลงน้อยลงหรืออาจจะไม่ขึ้นในปีนี้ แต่ไปขึ้นในปีหน้าอีก  3 ครั้ง สอดคล้องกับผลสำรวจโอกาสการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Bloomberg ล่าสุด พบว่า รอบเดือน ก.ย. พ.ย. อยู่ที่ 5.6% 8.3% และรอบ  ธ.ค. โอกาสขึ้นมากที่สุดราว 42.2%   
  อย่างไรก็ตามระยะสั้นค่าเงินดอลล่าร์ปัจจุบันยังคงทรงตัว หรือชะลอการอ่อนค่าช่วงสั้น หรือเริ่ม U-Turn ราว  0.83% ในวันเดียวกันนับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 4 ส.ค.  หลังจากที่อ่อนค่าราว 8.58% ตั้งแต่ต้นปี  สวนทางกับค่าเงินในภูมิภาคเอเซียโอกาสอ่อนค่าลงในเชิงเปรียบเทียบ  อาทิ เงินบาท ที่เริ่มชะลอการแข็งค่า ล่าสุดอยู่ที่ 33.25 บาทต่อเหรียญ  และเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2560 อยู่ที่ 34.6 บาทต่อเหรียญ หากประเมินว่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 2560 จะทรงตัวใกล้เคียงปัจจุบันที่ระดับ 33.3 บาทต่อเหรียญ ทำให้ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2560 จะอยู่ที่ 34 บาทต่อเหรียญ  ซึ่งแข็งค่ากว่าสมมติฐานที่ ASPS กำหนดไว้ที่ 35 บาทต่อเหรียญ  ในปี 2560 และ 2561 จึงทำให้นักวิเคราะห์ ASPS ทยอยปรับลดสมมติฐานค่าเงินบาทลง เฉลี่ยปี 2560-61 เหลือ 34 บาทต่อเหรียญ ซึ่งจะกระทบต่อหุ้นส่งออกเกือบทุกกลุ่มทั้งอาหาร และชิ้นส่วนฯ    อย่างไรก็ตามงวด 3Q60 เป็นช่วง Peak การส่งออก ทำให้แนะนำซื้อหุ้นส่งออกยังมีโอกาส outperform และยังมี Upside และ dividend yield   สูง  เช่น
   กลุ่มอาหารส่งออก คือ CPF(FV@B29.4) แนวโน้มผลกำไรในงวด 3Q60 น่าจะเป็นจุดสูงสุด  นอกจากผลของฤดูกาลแล้ว ราคาหมูในเวียดนามได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในช่วง 2Q60 และราคาหุ้นปัจจุบันสะท้อนข่าวลบไปทั้งหมด และมี dividend yield 4% และยังมี Upside 13% 
  กลุ่มชิ้นส่วนฯ:  HANA  โดดเด่นสุด  แม้ปรับลดสมมติฐานเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท  เหลือ 34 บาท ต่อดอลลาร พบว่า กำไรสุทธิปี 2560  ยังเติบโตถึง 32% yoy และจะทรงตัวสูงต่อเนื่องในปี 2561 ส่วนแนวโน้มกำไรจากการดำเนินงาน (ตัดรายการพิเศษออก)ปี 2560-61 จะยังเติบโตถึง 24% yoy และ 9% yoy โดย Fair Value ภายหลังปรับปรุงประมาณการจะเท่ากับ 53 บาท ยังมี upside จากราคาปัจจุบันถึง 26.67%    

ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากสต็อกสหรัฐฯ ที่ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 6
  วานนี้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 0.79% มาอยู่ที่ 49.56 เหรียญฯต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงหนุนจากทางสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯปรับลดลงถึง 6.45 ล้านบาร์เรล (ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 6) ขณะที่ตลาดฯคาดว่าจะลดลงเพียง 2.72 ล้านบาร์เรลเท่านั้น รวมทั้งตัวเลขหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯล่าสุด (4 ส.ค.60) ปรับตัวลดลง 1 หลุม มาอยู่ที่ 765 หลุม แม้ตั้งแต่ต้นปี 2560 จนถึงปัจจุบัน จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 240 หลุม แต่ตัวเลขหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบที่เริ่มชะลอตัวลง ถือเป็นสัญญาณบวกต่อราคาน้ำมัน
  นอกจากนี้ผลการประชุม OPEC ในวันที่ 7-8 ส.ค. 60 ที่ผ่านมา เป็นไปในทิศทางบวก หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้ง 4 ประเทศ คือ UAE, อิรัก, คาซัคสถาน และมาเลเซีย ต่างตอบรับว่าจะให้ความรวมมือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันอย่างเต็มที่ และจะสนับสนุนต่อการให้ตรวจสอบการปรับลดกำลังการผลิต
  สรุปคือ ฝ่ายวิจัยฯยังมีมุมมองบวกต่อราคาน้ำมันว่ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงเป็นโอกาสในการสะสมหุ้นน้ำมัน อย่าง PTT (FV@B460) และ PTTEP (FV@B116) ยามที่ราคาอ่อนตัวลง รวมถึงยังชื่นชอบหุ้น BANPU(FV@B24) ซึ่งราคาหุ้นยัง Laggard กว่าราคาถ่านหินที่ 96.83 เหรียญฯ/ตัน (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ส.ค. 60) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปี 2559 ที่ 65.75 เหรียญฯต่อตัน อยู่มาก
ต่างชาติสลับมาขายหุ้นในภูมิภาค แต่ซื้อกลุ่ม TIP  
  วานนี้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค มูลค่าราว 519 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) โดยภาพรวมแล้วแรงขายที่เกิดขึ้น อยู่ในตลาดหุ้นแถบเอเชียตะวันออก คือ เกาหลีใต้ และ ไต้หวัน มูลค่าราว 270 ล้านเหรียญ และ 293 ล้านเหรียญ ตามลำดับ  ขณะที่ตลาดหุ้นกลุ่ม TIP  กลับซื้อสุทธิทุกแห่ง  แต่เม็ดเงินยังเบาบาง โดย อินโดนิเซียซื้อสุทธิราว 12 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 6 วัน) และ ฟิลิปปินส์  7 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) สำหรับไทย สลับมาซื้อสุทธิ 26 ล้านเหรียญ หรือ 861 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิติดต่อกันถึง 10 วัน โดยมีมูลค่ายอดขายสุทธิรวมกว่า 1.84 หมื่นล้านบาท) ขณะที่สถาบันในประเทศสลับมาขายสุทธิ 352 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว)
  ด้านตลาดตราสารหนี้ สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 8.1 พันล้านบาท ขณะที่ต่างชาติที่สลับมาขายสุทธิราว 3.4 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิวานนี้)

SET ผันผวนตามแรงขายรับงบ 2Q60 แนะนำสะสม SCB, KKP
  ยังอยู่ในช่วงการรายงานงบที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ ทำให้ยังมีแรงขายรับงบ โดยจนเย็นวานนี้ มีบริษัทจดทะเบียนรายงานงบ 2Q60 แล้วราว 132 บริษัท คิดเป็น 44% ของ Market Cap ทั้งตลาดฯ ทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 1.16 แสนล้านบาท แต่เมื่อเทียบกันเฉพาะบริษัทที่รายงานงบฯ แล้ว  พบว่าลดลง 14.9% จากงวด 2Q59 (yoy) และลดลง 23.1% จากงวด 1Q60 (qoq) แต่หากตัดกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พบว่า กำไรสุทธิรวมกันได้ 6.74 หมื่นล้านบาท ลดลง 5.1%yoy และลดลง 26.1%qoq โดยหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นได้ทั้ง yoy และ qoq มีน้อยและกระจายหลายกลุ่มฯ ที่โดดเด่น เช่น HMPRO (+14.2%yoy, +8.1%qoq) SNC (+36.5%yoy, +20.3%qoq) ANAN (+33.2%yoy, 99.1%qoq) DTAC (+425%yoy, 224%qoq) GPSC (+18.7%yoy, 8.7%qoq) PCSGH (+227%yoy, 6.7%qoq) เป็นต้น
  ตรงข้ามหุ้นที่ปรับลดลงทั้ง  yoy และ qoq อาทิ SCCC (-79.8%yoy, -55.3%qoq) GGC (-78%yoy, -51.2%qoq) DELTA (-36.6%yoy, -37.5%qoq) THCOM (-63.4%yoy, -16.4%qoq) JAS (-46%yoy, -20.3%qoq) BIG (-16.2%yoy, -34.8%qoq) PSL (-99%yoy, 91%qoq) VIH (-45.8%yoy, -12.7%qoq) เป็นต้น
  ทั้งนี้ ประเมินเบื้องต้นคร่าวๆ เชื่อว่ากำไรตลาดฯ 2Q60 นี้ น่าจะเกินกว่า 2 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับ 1Q60 ที่ทำกำไรสุทธิรวมกัน 2.85 แสนล้านบาท จึงยัน่ายังคงประมาณการกำไรปีนี้ที่ 9.9 แสนล้านบาท  แม้จะมีการปรับลดสมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนลดลงจากเดิม 35 บาท เหลือ 34 บาทต่อเหรียญ ซึ่งทำให้มีการปรับกำไรกลุ่มเกษตร-อาหารและ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ลงเฉลี่ย 5% จากประมาณการเดิม  แต่กำไรทั้ง 2 กลุ่มมีสัดส่วนน้อยราว  4% ของกำไรทั้งตลาด คาดว่าผลกระทบต่อ EPS ตลาด ไม่มากนัก  กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้แนะนำหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสูง (KKP, TCAP, LH) หุ้นส่งออกที่แนวโน้มสดใสในงวด 3Q60  (CPF, HANA) หุ้นที่มีการเติบโตเด่น (COM7, BEAUTY) และ หุ้น ธนาคารพาณิชย์ที่ราคาหุ้นลงลึกมากเกินไป จากความกังวลปัญหาหนี้เสียที่มีโอกาสเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับ EARTH   (SCB, BBL)   เป็นต้น

บันทึกโดย : วันที่ : 10 ส.ค. 2560 เวลา : 13:52:02

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:05 am