ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน ปรับฐานไปที่แนวรับต้นทุนต่างชาติ 1645-1650 จุด (20/10/60)


 

กลยุทธ์การลงทุน
  การปรับฐานไปที่แนวรับต้นทุนต่างชาติ 1645-1650 จุด น่าจะเห็นใน 1-2 สัปดาห์หน้า ส่วนแนวรับวันนี้  1670-1675  จุด เชื่อว่าแรงขายรับงบ ธ.พ.ใกล้จบ แต่จะถูกกดดันจากหุ้นรับเหมาที่เกิดความล่าช้าในการก่อสร้าง นำไปสู่การปรับลดประมาณการ UNIQ, STEC, ITD กลยุทธ์ให้เลือกหุ้นที่มีแนวโน้มสดใสปี 2561 รองรับเศรษฐกิจ และวัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ เช่น ธนาคาร (BBL) โฆษณานอกบ้าน (VGI)  และหุ้น

ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … SET Index ร่วงแรง พบกันที่ 1,650 จุด 
  วานนี้ SET รับตัวลงแรงสุดในภูมิภาคและหลุดแนวรับจิตวิทยา 1700 จุด  ปิดตลาดลดลง 24.10 จุด หรือ 1.41% ปิดที่ 1683.43 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นกว่า 7.98 หมื่นล้านบาท และลดลงทุกกลุ่มฯ  เริ่มจากพลังงาน นำโดย PTT และ PTTEP ลดลง 1.42% และ 1.63%  ตามด้วยหุ้นปิโตรเคมี IVL และ PTTGC ลดลง 2.25% และ 3.35% เช่นเดียวกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ นำโดย BBL KBANK KTB และ TMB ลดลง 2.07% 1.40% 1.58% และ 2.33% ตามลำดับ 
  อย่างไรก็ตาม ยังมีบางหุ้นที่สามารถปรับขึ้นได้สวนทางตลาดฯ อาทิ SAWAD และ BFIT เพิ่มขึ้น 0.77% และ 2.53% ตามลำดับ ขณะที่ THANI ปรับขึ้นร้อนแรงกว่า 19.61% ซึ่งฝ่ายวิจัยเลือกเป็นหุ้น Top pick ที่ผลประกอบการขึ้นทำ New high ต่อเนื่องอีกไตรมาส  ทำให้กำไรสุทธิงวด 9M60 คิดเป็นสัดส่วน ถึง 78% ของประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี 2560  จึงปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2560-61 ขึ้น 8.5% และ 9.9% จากเดิม ทำให้กำไรสุทธิปี 2560-61 เติบโต 27.9% yoy และ 12.8% yoy  และปรับเพิ่ม fair value ปี 2561 เป็น 9.30 บาท (เดิม 7.25 บาท) ทั้งยังให้เงินปันผลเฉลี่ยกว่า 4% ต่อปี 
  เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มสื่อฯ อย่าง WORK เพิ่มขึ้น 5.62% ตอบรับข่าวดีที่ กสทช. มีมติลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล อย่างไรก็ตามราคาหุ้นได้สะท้อนข่าวดีไปมากแล้ว จึงมีโอกาสเห็นการปรับฐานของราคา 
  ขณะที่หุ้น GL ราคาหุ้นยังคงปรับตัวลงอีก 16.06% โดยวานนี้ ก.ล.ต. ได้แจ้งให้บริษัทแก้ไขงบการเงินให้ถูกต้องจากรายการเงินให้กู้ยืมและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ตรงต่อความเป็นจริง รวมทั้งวันนี้ (20 ต.ค.) ตลท. เตรียมขึ้นเครื่องหมาย SP 1 วันและขึ้น NP จนกว่าจะแก้ไขงบเสร็จตาม ก.ล.ต. สั่ง
  สำหรับแนวโน้มตลาดวันนี้ ดัชนีมีโอกาสพักตัวได้ต่อ เนื่องจากสัปดาห์หน้าจะมีวันหยุดติดต่อกัน ประเมินแนวรับที่ 1675 จุด แนวต้าน 1695 จุด 

GDP จีนเติบโตตามคาด.. แต่ยังหนุนการส่งออกไทยสดใส  
  การเติบโตของเศรษฐกิจหัวเรือใหญ่ของเอเซียอย่างจีน ยังขยายตัวต่อเนื่อง แม้ชะลอตัวลงคือ  GDP Growth งวด 3Q60  6.8%yoy ตรงตลาดคาด เทียบกับ  6.9% ใน 2Q60  (9M60 เติบโต 6.9% (สูงกว่า IMF คาด 6.8%)  ซึ่งเศรษฐกิจจีนที่ยังขยายตัวถือเป็นปัจจัยหนุน ประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะไทย  
  นับว่าสอดคล้องกับล่าสุดกระทรวงพาณิชย์รายงาน  ก.ย.  พบว่า การส่งออกในรูปดอลลาร์เพิ่มขึ้น 12.2%yoy ที่ 2.18 หมื่นล้านเหรียญฯ  (สกุลบาทเพิ่ม 7.8% จากบาทแข็ง) เพิ่มติดต่อกันเดือนที่ 7 และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ส่งออก 9M60 เพิ่ม 9.27%yoy สินค้าส่งออกหลักๆที่เด่น คือ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ , ผลิตภัณฑ์ยาง, เม็ดพลาสติก  และสินค้า ข้าว ยางพารา และน้ำตาลทราย เพิ่มติดต่อกัน 11 เดือน, อัญมณี ขยายตัวเป็นเดือนที่ 2  ,  ส่วนสินค้าที่หดตัวเป็นเดือนแรก คือ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ,ผลไม้,โทรทัศน์   และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังหดตัวเป็นเดือนที่ 3      
  ตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวติดต่อกันตั้งแต่ต้นปี  คือ  จีน, สหรัฐ, ญี่ปุ่น ,เวียดนาม  ส่วนตลาดที่พลิกกลับมาขยายตัว คือ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และลาว   ตรงข้ามตลาดส่งออกที่ยังหดตัวคือ  ซาอุดิอาระเบีย หดตัวตั้งแต่ต้นปีและหดตัวเป็นเดือนแรก ฟิลิปปินส์ เยอรมนี เกาหลีใต้ 
  ขณะที่การนำเข้า(M) ของไทยยังเติบโต 9.7%yoy อยู่ที่ 1.85 หมื่นล้านเหรียญ แม้ลดลงจาก เพิ่ม 14.9% เดือน ส.ค.  และ 18.4% ใน ก.ค.  ทำให้เฉลี่ย 9M60 เพิ่มราว 14.7%yoy  หลักๆมาจากการขยายตัวของสินค้าประเภทวัตถุดิบเพื่อการส่งออก อาทิ  เคมีภัณฑ์, แผงวงจรไฟฟ้าขยายตัว 14  เดือนติดต่อกัน, เหล็กขยายตัว  2 เดือน  และที่น่าสนใจคือ การนำเข้าเครื่องจักรกลไฟฟ้าและ เครื่องจักรปกติ ยังเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 และ 3 ตามลำดับ สะท้อนว่าเอกชนยังมีการลงทุนและนำเข้าเครื่องจักรต่อเนื่อง  โดยรวมเดือน ก.ย. 2560 ไทยังเกินดุลการค้าต่อเนื่อง 2 เดือน เป็นปัจจัยหนุนค่าเงินบาทต่อดอลลาร์แข็งค่าบริเวณ 33 บาท (แข็งค่า 8.14% นับตั้งแต่ต้นปี) ถือเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นระยะกลาง-ยาว

ต้นทุนต่างชาติอยู่ 1640-1650 จุด ซึ่งเป็นแนวรับในสัปดาห์ถัดไป  
  แม้วานนี้ภาพรวมต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคติดต่อกันเป็นวันที่ 8 ราว 145 ล้านเหรียญ แต่เป็นการซื้อเฉพาะตลาดหุ้นแถบเอเชียตะวันออก คือ ไต้หวัน 247 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 9) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 24 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) สวนทางกับตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ที่ต่างชาติขายสุทธิทุกประเทศ คือ อินโดนิเซีย 34 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) ตามด้วยฟิลิปปินส์ 9 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิกว่า 83 ล้านเหรียญ หรือ 2.74 พันล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 3) เช่นเดียวกับพอร์ตโบรกเกอร์และสถาบันในประเทศ ที่ขายสุทธิ 2.07 พันล้านบาท และ 3.04 พันล้านบาท ตามลำดับ
  และหากกลับมาพิจารณาเฉพาะตลาดหุ้นไทย พบว่า Fund Flow เริ่มไหลทะลักเข้ามาในตลาดหุ้นไทยอย่างหนาแน่น ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.- 16 ต.ค. 60 ด้วยมูลค่ากว่า 22.6 หมื่นล้านบาท ผลักดันให้ดัชนีหุ้นไทยขึ้นไปทำจุดสูงสุดราว 1730 จุด (ณ วันที่ 16 ต.ค. 60) หรือเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 144 จุด หรือ 9.08% อีกทั้งฝ่ายวิจัยฯได้คำนวณต้นทุนเฉลี่ยของต่างชาติ (ในช่วง 29 ส.ค. 60 จนถึงปัจจุบัน) อยู่ที่ 1643 จุด ดังนั้นด้วยดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วและแรง จึงมีโอกาสที่จะถูกต่างชาติขายทำกำไรออกมา โดยล่าสุดต่างชาติขายหุ้นไทยติดต่อกันมาแล้ว 3 วัน ราว 5.1 พันล้านบาท กดดันให้ SET Index ปรับตัวจากจุดสูงสุดลงมาแล้วกว่า 43 จุด มาอยู่ที่ 1683.43 จุด

คาดหุ้นก่อสร้างถูกกดดัน หลังจบแรงขายรับงบธนาคาร 
  คาดว่าแรงขายหุ้นธนาคารพาณิชย์น่าจะใกล้จบ หลังจากทยอยประกาศงบการเกือบจบแล้ว โดยวานนี้หุ้นขนาดใหญ่หลายแห่งประกาศแล้ว เริ่มจาก BAY (FV’61@B 46) รายงานกำไรสุทธิ 3Q60 ตามคาดที่ 6.01 พันล้านบาท เติบโต 2.4% qoq และ 3.2% yoy แรงหนุนมาจากรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ที่อยู่อาศัย บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล เช่นเดียวกับรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมีนัยฯ เช่นกัน ขณะที่ NIM ทรงตัว โดยรวมกำไรสุทธิ 9M60 คิดเป็นสัดส่วน 77% ของคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2560 โดยฝ่ายวิจัยคาดปี 2560-61 กำไรสุทธิเติบโต 6.9%yoy และ 8.8% ตามลำดับ ส่วน Fair value ปี 2561 เท่ากับ 48 บาท มี upside ราว 19.5%
ตามด้วย BBL (FV’61@B 210)   กำไรสุทธิ 3Q60 ต่ำกว่าคาดที่ 8.16 พันล้านบาท เติบโต 1.4% qoq และ 1.2% yoy แรงหนุนมาจากการเติบโตรายได้ค่าธรรมเนียมฯ จากธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ กองทุนรวมและประกันฯ เช่นเดียวกับรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ เติบโตได้ แม้สินเชื่อสุทธิหดตัว แต่ สินเชื่อรายใหญ่และ SME ขนาดกลางที่กระเตื้องขึ้น และ NIM ทรงตัว แม้ว่าระดับ NPL จะเพิ่มขึ้น จาก SME ขนาดกลาง แต่ก็ได้ตั้งค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ เพิ่มขึ้นเพื่อผลักดัน coverage ratio ให้สูงขึ้นถึง 154.0% โดยรวมคาดกำไรสุทธิปี 2560-61 เติบโต 7.8% yoy และ 9.8% yoy  เลือกเป็น top pick ในกลุ่ม ธ.พ.
  และ SCB (FV’61@B 174)   กำไรสุทธิ 3Q60 ต่ำกว่าคาดมาก ที่ 1.01 หมื่นล้านบาท ลดลงถึง 12.05%yoy และ 14.84%qoq  จากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ที่เพิ่มขึ้นมาก รองรับหลักเกณฑ์ IFRS 9 ที่จะบังคับใช้ในปี 2562  อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหลักยังเดินหน้าเติบโตได้ต่อเนื่อง นำโดยรายได้ค่าธรรมเนียมฯ เช่นเดียวกับรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิที่เติบโตต่อเนื่อง ส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ฝ่ายวิจัยปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2560-61 ลง 8.7% และ 12.4% จากเดิม เพื่อสะท้อน credit cost ที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำไรสุทธิปี 2560 หดตัว 2.3% yoy และจะเติบโต 3.20% yoy ในปี 2561  fair value ปี 2561 ภายหลังปรับปรุงเท่ากับ 174 บาท สะสมเมือราคาหุ้นอ่อนตัว
  ขณะที่การทำ preview หุ้นภาคก่อสร้างพบว่า งานประมูลภาครัฐมีแนวโน้มล่าช้ากวาคาด  ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชมพู เหลือง ล้วนล่าช้ากว่าแผนเพราะปัญหาการส่งมอบพื้นที่ล่าช่าของ กทม. ส่วนที่ประเมินว่าจะมีการประมูลใน 4Q60 ก็อาจจะล่าช้าไปถึงปลายปี  2560 หรือ ต้นปี 2561 ถือเป็น sentiment  ลบช่วงสั้น ทำให้นักวิเคราะห์ ASPS  ต้องกลับมาทบทวนประมาณการหุ้นในกลุ่มรับเหมาฯ รายใหญ่ เป็นปัจจัยกดดันหุ้นกลุ่มก่อสร้างระยะสั้น
  และวันนี้ได้มีการออกบทวิเคราะห์ปรับลดประมาณการกำไรของ UNIQ ปี 2560-61 ลง 20% และ 23% ตามลำดับ และจะทยอยทบทวนประมาณการหุ้นรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่อื่นๆ ทั้ง CK, STEC และ ITD เป็นลำดับถัดไป ซึ่งหุ้นที่มีโอกาสถูกปรับลดประมาณการค่อนข้างสูง คือ STEC เนื่องจากกำไร 1H60 ที่ทำได้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 31% จากประมาณการกำไรทั้งปีเท่านั้น เช่นเดียวกับ ITD ที่กำไร 1H60 คิดเป็นสัดส่วนเพียง 23% จากประมาณการกำไรทั้งปี ส่วน CK ที่มีฐานกำไรครึ่งหนึ่งมาจากบริษัทลูกอย่าง TTW, CKP และ BEM ทำกำไรได้ค่อนข้างนิ่ง โดยกำไร 1H60 คิดเป็นสัดส่วน 48% จากประมาณการกำไรทั้งปี 

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เริ่มย่อยตัว ทองแดง น้ำมัน ยกเว้น น้ำตาล  
  ระยะสั้นเริ่มเห็นการปรับฐานราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หลังจากฟื้นตัวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ  
ราคาทองแดง วานนี้แม้อ่อนตัวเล็กน้อยต่อเนื่องเป็นวันที่ 3  ล่าสุด อยู่ที่ 6.9.02 พันเหรียญ/ตัน (สูงสุดในรอบ 3 ปี) ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยทองแดงเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2560 อยู่ที่ราว 6 พันเหรียญ/ตัน  (แต่ยังสูงกว่าสมมติฐานฝ่ายวิจัยที่ 5.8 พันเหรียญ/ตัน)  และเพิ่มขึ้นกว่า 29% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว หนุนการใช้ทองแดง ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในสินค้า Consumer goods อาทิ สายไฟ และ แผ่น PCB  นอกจากนี้ ปริมาณสต็อกทองแดงโลกล่าสุดอยู่ที่ 2.96 แสนตัน ลดลงจากช่วงปลายเดือน ก.ย. 60 ที่ระดับ 3.13 แสนตัน ซึ่งต่ำกว่าปริมาณสต็อกทองแดงเฉลี่ย 7 ปีย้อนหลังที่ 3.39 แสนตัน  ประเด็นนี้ยังกดดันต่อ KCE(FV@B85) ที่มีต้นทุนวัตถุดิบทองแดงราว 10% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด โดยจะกดดันแนวโน้มประสิทธิภาพการทำกำไรของ KCE ในงวด 2H60 จึงยังแนะนำ ขาย และสลับมายัง HANA(FV@B53) ที่กระทบน้อย และ ราคาหุ้นยังมี upside
  ราคาน้ำมัน  ดูไบลดลงจากวานนี้ 1.17 % มาอยู่ที่ 55.63 เหรียญฯต่อบาร์เรล  เพราะการขายทำกำไรระยะสั้น  หลังจากที่ทำสถิติสูงสุด 57 เหรียญฯ ในรอบนี้ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากเศรษฐฏิจโลกที่ฟื้นตัว  และผลกระทบจากพายุเฮอริเคน “เนท” ที่พัดถล่มสหรัฐฯในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทผลิตและขุดเจาะน้ำมันต้องปิดและหยุดเมื่อเทียบกับผลกระทบจากพายุเฮริเคน “ฮาร์วี่” เมื่อปลายเดือน ส.ค. และต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา   
  ราคาถ่านหิน พิจารณาจากดัชนี BJI Index แม้ช่วงสั้นจะลดลง 2.5%จากสัปดาห์ก่อนหน้า แต่ยังเพิ่มขึ้นราว  9.2%นับตั้งแต่เดือน ก.ค.-ปัจจุบันอยู่ที่  96 เหรียญฯ จาก 87.9 เหรียญฯต่อตันในเดือน ก.ค. (ราคาถ่านหินเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 86.92 เหรียญฯต่อตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 32.5%yoy ซึ่งสูงกว่าสมติฐานของ ASPS ที่ 65 เหรียญ)  ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกต่อผลการดำเนินการของกลุ่มถ่านหินทั้ง BANPU (ซื้อ: FV @B24) นับจากต้นปีจนปัจจุบัน (ytd) ราคาหุ้นยัง laggard มาก  เนื่องจากยังถูกกดดันจากประเด็นคดีความหงสา  ปัจจุบันคดีอยู่ในขั้นตอนของศาลฎีกา (คำตัดสินของศาลชั้นต้น BANPU แพ้คดี คำตัดสินของศาลอุทธรณ์ BANPU ขนะคดี) สวนทางราคาถ่านหินปรับตัวขึ้น ขณะที่ราคาหุ้นยังมี upside 34% และ LANNA (ซื้อ:FV @B15)
  ราคาเหล็กเส้น (Rebar ในตลาด East Asia Import)  ล่าสุด 16 ต.ค. 2560 อ่อนตัวลงมาเหลือ  536  เหรียญฯ ต่อตัน จาก  570 เหรียญฯต่อตันในกลางเดือน ก.ย.  แต่เพิ่มขึ้น 10.5% นับจากกลางเดือน ก.ค. ที่อยู่ 485 เหรียญ  สอดคล้องกับราคาเหล็กเส้นในประเทศล่าสุด เดือน ก.ย. 60 ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 หรือเพิ่มขึ้น 5.5%mom มาอยู่ที่  1.98 หมื่นบาท/ตัน ซึ่งน่าจะดีต่อ TSTH (FV@B1.2) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กเส้นรายใหญ่ของประเทศ ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบเศษเหล็กอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเก็บสะสมสต็อกมาตั้งแต่ 2Q60 ทำให้มี Metal Spread ที่กว้างขึ้น คาดผลประกอบการใน 3Q60 พลิกกลับมา turnaround อีกครั้ง
  ราคาน้ำตาล วานนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยล่าสุดอยู่ที่ 14.09 เซ็นต์ต่อปอนด์  และเพิ่มขึ้นราว  8.4% นับตั้งแต่ทำจุดต่ำสุดในเดือน ก.ย. เพราะฝนตกชุกในประเทศบราซิล ทำให้เกษตรกรออกไปเก็บเกี่ยวอ้อยได้ลดชั่วคราว หนุนราคาน้ำตาลปรับเพิ่มขึ้นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้แม้ภาพรวมธุรกิจน้ำตาลในปี 2560/61 ที่สถาบันวิจัยน้ำตาลชั้นนำของโลกหลายแห่งประเมินว่าส่วนเกินผลผลิตน้ำตาลปี 2560/61 จะอยู่ที่ 5-6 ล้านตัน หลังจากที่ขาดดุลน้ำตาลโลกมา 2 ปี จึงเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำตาลโลกระยะกลางและยาว อย่างไรก็ตาม ปริมาณสต็อกน้ำตาลโลกยังอยู่ในระดับต่ำในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จึงอาจจะช่วยหนุนราคาน้ำตาลฟื้นตัว แต่น่าจะไม่อาจหักล้างผลผลิตน้ำตาลส่วนเกินดังกล่าวได้ จึงถือเป็นปัจจัยกดดันต่อ KSL(ซื้อ FV@B 5.93) แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้น  จะหนุนธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ซึ่งใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต ขณะที่คาดว่าต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง น่าจะช่วยให้ KSL ประมูลขายไฟฟ้า SPP Hybrid Firm จำนวน 2 โรง ได้ในราคาต่ำกว่าคู่แข่ง  จึงเป็นปัจจัยที่ช่วยลดแรงกดดันเรื่องราคาน้ำตาลที่ยังอยู่ในระดับต่ำไปได้
  ตรงข้ามราคาสินค้าเนื้อสัตว์ในประเทศมีแนวโน้มอ่อนตัว  เพราะนอกจากเป็นสู่ฤดูฝนแล้ว  ยังเข้าสู่ฤดูการกินเจในสัปดาห์นี้ระหว่าง 20-28 ต.ค.2560 ซึ่งน่าทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์โดยรวมลดลง แต่ก็เป็นผลกระทบสั้น ๆ ตามผลของฤดูกาลเท่านั้น  กล่าวคือ 
ราคาเนื้อหมู  เดือน ต.ค. อ่อนตัวอีกรอบ เหลือ 52 บาทต่อ กก. จาก 59 บาท/กก. ในเดือน ก.ย. (ราคาหมูที่อ่อนตัวช่วงที่ผ่านมา เพราะผลของปริมาณหมูที่เกินความต้องการในประเทศเวียดนาม) โดยล่าสุดราคาหมูได้อ่อนตัวลงมาเหลือ 55 บาทต่อ กก.   แต่อย่างไรก็ตามราคาหมูจากต้นปีจนถึงปัจจุบันเฉลี่ย 60 บาทต่อ กก. ยังต่ำกว่าสมมติฐานของ ASPS ที่ 62 บาท ต่อ กก.  ไม่มากนัก คาดว่าราคาหมูน่าจะกระเตื้องในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือน ตรงนี้ถือว่ากระทบต่อ CPF, TFG ช่วงสั้น ๆ แต่ยังคงประมาณการและคำแนะนำซื้อ 
  ราคาเนื้อไก่  ล่าสุด เดือน ต.ค. อ่อนตัวลงมาเหลือ 34 บาทต่อ กก. จากที่ 40 กก. ในเดือน ก.ย. และ 39 บาท ในเดือน ส.ค. ทำให้ราคาเฉลี่ยจากต้นปีจนถึงปัจจุบันยังอยู่ 39.9 บาทต่อ กก. ซึ่งสูงกว่าสมมติฐานของ ASPS ที่ 39 บาทเล็กน้อย  ถือว่ายังดีต่อ GFPT  จึงยังแนะนำซื้อ 

  และเมื่อพิจารณาค่าเงินบาทที่ยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าอีกครั้ง ถือว่าเป็นปัจจัยกดดันหุ้นส่งออก แม้งวด 3Q60 เข้าสู่ช่วง high season แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาราคาไก่ที่มีเสถียรภาพมากกว่าหมู จึงเลือก GFPT เป็น Top pick ของกลุ่ม 


LastUpdate 20/10/2560 11:36:17 โดย : Admin

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 6:26 am