ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์ วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำวันที่ น้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง จากปัญหาความขัดแย้งในอิรัก (24/10/60)


 ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง จากปัญหาความขัดแย้งในอิรัก และการปรับลดลงของจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ

  + ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง จากแรงหนุนของปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอิรัก และชาวเคิร์ดในประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานแห่งอิรักผ่านท่าเรือ Ceyhan ของตุรกีปรับลดลงมาสู่ระดับ 288,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับปกติที่ส่งออกราว 600,000 บาร์เรลต่อวัน หลังกองทัพอิรักเข้ายึดเมือง Kurkuk คืนจากชาวเคิร์ด
  - อย่างไรก็ตาม นาย Jabar al-Luaibi รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของอิรัก กล่าวว่าอิรักกำลังเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบราว 200,000 บาร์เรลต่อวันจากแคว้น Basra ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอิรัก เพื่อที่จะชดเชยส่วนที่ปรับลดลงจากพื้นที่ Kurkuk
  + Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ตุลาคม 2560 ปรับลดลง 7 แท่น มาสู่ระดับ 736 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เผยว่า การปรับลดลงของจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ อาจเกิดขึ้นชั่วคราว เนื่องจากการขุดเจาะได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคน
  + รอยเตอร์ คาดการณ์ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ตุลาคม 2560 ปรับลดลงราว 2.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ปรับเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบนซินยังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง
  ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลของจีนปรับลดลงในเดือนกันยายน แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศปรับตัวสูงขึ้นก่อนเข้าฤดูหนาว ประกอบกับโควต้าการส่งออกที่จำกัด ทำให้โรงกลั่นในประเทศจีนส่งออกได้ลดลง

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
   ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
   ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง
  จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดในอิรัก หลังจากในวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นในภูมิภาคเคอร์ดิสถาน (KRG) เขตกึ่งปกครองตนเองทางเหนือของอิรักจัดการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรัก สร้างความไม่พอใจให้กับนานาประเทศ รวมถึงรัฐบาลกลางของอิรัก โดยล่าสุดสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากที่กองกำลังทหารอิรักเข้ายึดเมือง Kirkuk คืนจาก KRG ส่งผลให้มีการปิดบ่อน้ำมันดิบ Bai Hassan และ Avana ชั่วคราว และทำให้การผลิตน้ำมันดิบราว 3.5 แสนบาร์เรลต่อวันต้องหยุดชะงัก
  กลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มที่จะขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 61 ต่อไปอีกราว 6 - 9 เดือน ซึ่งอาจมีการกำหนดนโยบายดังกล่าวในการประชุมของกลุ่มโอเปกที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 30 พ.ย. 2560 นี้ ณ กรุงเวียนนา
  ติดตามความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประกาศจะไม่รับรองข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่านได้เคยทำสัญญาไว้ในปี 2558 แม้ว่าผู้ตรวจสอบจากนานาชาติได้ยืนยันข้อตกลงดังกล่าวแล้วก็ตาม โดยระบุว่าอิหร่านได้ละเมิดข้อตกลงอยู่หลายครั้ง ทั้งนี้ การล้มเลิกข้อตกลงดังกล่าวอาจทำให้อิหร่านเผชิญกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอีกครั้ง และจะส่งผลให้อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบสู่ตลาดโลกในปริมาณที่จำกัด


บันทึกโดย : วันที่ : 24 ต.ค. 2560 เวลา : 10:41:43

16-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 16, 2024, 6:07 pm