ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บล.เคทีบี (ประเทศไทย) : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน เป้าดัชนี 1840 -จับตาสงครามการค้าสหรัฐฯ (19/03/61)


 “ เป้าดัชนี 1840 -จับตาสงครามการค้าสหรัฐฯ”

ทิศทางตลาดหุ้นไทย (สำหรับสัปดาห์นี้): 
  คาดสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้หลังปัจจัยต่างๆคลี่คลายลง ให้กรอบ 1800-1840 จุด ..... น้ำหนักส่วนใหญ่เป็นปัจจัยต่างประเทศ ได้แก่ มาตรการทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีน และ การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯซึ่งคาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย จาก 1.5 เป็น 1.75%  แต่จะไม่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง เพราะคลาดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยไว้แล้ว....   ตัวแปรอื่นๆ ที่มีผลต่อทิศทางตลาด คือ ราคาน้ำมันดิบ ครม.พิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 2 แสนล้านบาท และทิศทางราคาหุ้น PTT ที่ยังผันผวนไม่หยุด

กลยุทธ์การลงทุน: 
  ด้วยมุมมองที่เป็นบวกต่อตลาดมากขึ้น จึงแนะนำให้นักลงทุนสามารถเริ่มเข้าสะสมหุ้นได้ ลดการถือครองเงินสดลง แต่การเข้าซื้อ ต้องพิจารณาเป็นรายตัว  …. หุ้นขนาดใหญ่ ที่คาดเป็นเป้าหมายของการซื้อในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย CPALL  , INTUCH*,  PTTGC และ   PTTEP*  .....  ส่วนหุ้นมีประเด็น สำหรับการเก็งกำไรช่วงสัปดาห์นี้จะเป็น หุ้นที่ได้รับผลบวกต่อเนื่องจาก กสทช. เตรียมมาตรการช่วยเหลือกลุ่มทีวีดิจิทอล ได้แก่ BEC*, RS หุ้นที่ปรับตัวลงมามากแต่ปัจจัยพื้นฐานยังดี ได้แก่ LPN, GFPT  หุ้นที่มีอัตราเติบโตสูงจากการเพิ่มช่องทางขาย ได้แก่ BEAUTY และหุ้นที่ถูกบรรจุในการคำนวณดัชนี FTSE เป็นสัปดาห์แรก ได้แก่ M*

หุ้นแนะนำทางเทคนิค: HANA, JMART, SINGER

หุ้นมีประเด็น
(-) BANKING, FINANCE: IFRS9 กระทบเครดิตประเทศ สภาวิชาชีพฯนัดระดมสมอง 20 มีนา 
  สภาวิชาชีพบัญชีนัดภาคธุรกิจสำหรับพิจารณาผลกระทบจาก IFRS9 ในวันที่ 20 มี.ค. นี้ โดย IFRS9 จะประกาศใช้ในปี 2562 สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และกิจการที่ดูแลทรัพย์สินของประชาชนในวงกว้าง เช่น สถาบันการเงิน บริษัทประกันภัย เป็นต้น โดยกลุ่มธนาคารจะมีผลกระทบต่อค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและภาระกันสำรองของธนาคารจะเพิ่มขึ้น 15-30% ในขณะที่ธุรกิจประกันชีวิตจะมีรายได้จากการขายเงินลงทุนลดลงจากการจัดประเภทเงินลงทุนใหม่ โดย SCB จะนำส่งงบที่จัดทำภายใต้มาตรฐานนี้ให้ ธปท. เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบในเดือน มิ.ย. นี้ (ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ)
  ความเห็น: เรามองว่า IFRS9 จะเป็นปัจจัยหลักในการกดดันผลการดำเนินงานในปี 2018 สำหรับธุรกิจธนาคาร, ผู้ให้บริการด้านสินเชื่อ, และบริษัทประกันชีวิต โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงจากการผิดนัดชำระที่เกิดขึ้นในอดีต มาเป็นการคาดการณ์ความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต ซึ่งเรามองว่าบริษัทต่างๆจะต้องมีการลงทุนเพิ่ม เพื่อพัฒนาฐานข้อมูล และคาดการณ์โอกาสในการผิดนัดชำระในอนาคตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้จากการขายเงินลงทุนจะลดลงจากการรับรู้เข้ากำไรสะสม แทนกำไรสุทธิในงวดที่เกิดสำหรับการขายเงินลงทุนเผื่อขาย ทั้งนี้ เราชอบ BBL ที่ราคาเป้าหมาย 222 บาท จากการที่บริษัทมีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อธุรกิจสูงถึง 40% ซึ่งมีความเสี่ยงจากการเป็นหนี้เสียน้อย และมี Coverage Ratio สูงในกลุ่มธนาคารถึง 163% และสำหรับผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยเราชอบ MTLS ที่ราคาเป้าหมาย 48 บาท จากการมี Coverage Ratio ที่สูงกว่า 265%
  (-) KTB เตรียมขายหนี้เสียหมื่นล้านเพื่อคุมเอ็นพีแอลปี 61 ไม่เกิน 4.19% และมีแนวโน้มตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้นกว่าปี 60
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในปี 2561 นี้ ธนาคารมีแผนจะขาย NPL มูลค่าเกินกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งหากสามารถขายได้ในระดับราคาที่เป็นธรรมหรือราคาเหมาะสม จะส่งผลให้ธนาคารสามารถลด NPL ได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายควบคุม NPL ปีนี้ไม่ให้เกิน 4.19% นอกจากนี้ นายผยงกล่าวเพิ่มด้วยว่า ปีนี้ธนาคารมีแนวโน้มตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้นกว่าปี 2560 ที่สำรองหนี้เกือบ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากทั้งการตั้งสำรองหนี้ตามปกติและการตั้งสำรองตามข้อกำหนดของการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) ที่เริ่มต้นปี 2562 ด้วย ซึ่งเกณฑ์กำหนดให้ตั้งสำรองส่วนเพิ่มกับสินเชื่อที่มีความเสี่ยงด้วย แม้ว่าสินเชื่อดังกล่าวจะยังไม่เป็นเอ็นพีแอลก็ตาม (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ)
  ความเห็น: เรามีมุมมองเชิงลบต่อประเด็นข่าวดังกล่าว เนื่องจากมูลค่าของหนี้เสียอยู่ในระดับสูงถึง 1 แสนล้านบาท และการที่ KTB จะมีการเร่งขายหนี้เสียออกมา เราคาดว่า ไม่น่าจะได้ราคาที่ดีแต่จะช่วยให้มูลค่าหนี้เสียลดลงได้ ขณะที่เรามองว่า KTB ยังมีความเสี่ยงในการตั้งสำรองเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับ IFRS9 ที่จะเริ่มใช้ปีหน้า เนื่องจาก KTB มีระดับ Coverage Ratio ที่ต่ำที่สุดในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ โดยในข่าวนี้แจ้งว่า ปีนี้ KTB ยังมีแนวโน้มตั้งสำรองมากกว่าปีก่อน ซึ่งปีก่อนมี EARTH ที่เป็นหนี้เสียก้อนใหญ่ถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เราคาดว่า การตั้งสำรองในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 3.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากมีการตั้งเท่ากับปีก่อนที่ระดับ 4.5 หมื่นล้านบาท  จะส่งผลให้กำไรสุทธิมี downside ถึง 15% เบื้องต้นเรายังคงคำแนะนำ “ถือ” สำหรับ KTB ราคาเป้าหมายที่ 20 บาท

บทวิเคราะห์วันนี้
(+) RJH (ซื้อ/37.00 บาท) กำไรปี 2018 โตดี มูลค่าหุ้นถูกสุดของกลุ่มที่เราดูแล
  เรามีมุมมองเชิงบวกต่อการประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 18 โดยผู้บริหารได้เปิดเผยยอดขายช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ.18 ว่ามีการเติบโตที่ระดับ 20% YoY เนื่องจากมีโรคระบาด และรายได้ประกันสังคมเติบโตดีจากการขึ้นค่าบริการของ สปส. และจำนวนผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น คาดกำไรสุทธิ 1Q18 เติบโตต่อเนื่อง ส่วนปี 2018 เราคงประมาณการกำไรปกติที่ 261 ล้านบาท เติบโต 21% YoY จาก 1) เปิดศูนย์ MRI ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเป็นโมเดลแบบ Revenue sharing 2) จะซื้อหุ้นที่เหลืออีก 46% ใน RRH คาดรับรู้กำไรเพิ่มเข้ามาใน 2Q18 3) ขยายเตียง IPD อีก 39 เตียงรองรับผู้ป่วยใน 3Q18 ซึ่งเป็นช่วง High season และ 4) เปิดศูนย์ไตเทียมช่วง 4Q18 ซึ่งมี demand รองรับอยู่แล้ว และเป็นโมเดลแบบ Revenue sharing ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำ ซื้อ ที่ราคาเป้าหมาย 37.00 บาท

(-) ANAN (ถือ/4.70 บาท) ปรับลดคาดการณ์กำไรจากโครงการ Ashton Asoke ที่โอนล่าช้า
  เรามีมุมมองเชิงลบจากการประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวันศุกร์ (16 มี.ค.2018) จากความเสี่ยงของโครงการ Ashton Asoke ที่คาดว่าจะโอนได้ช้ากว่าที่เคยคาดเดิม เนื่องจากปัจจุบันยังคงไม่ได้รับใบอนุญาตการเปิดใช้อาคาร จากการพิจารณาของหน่วยงานราชการที่นานเกินความคาดหมาย และในกรณีเลวร้ายเราคาดว่าจะยังไม่สามารถเริ่มโอนได้ในปีนี้ ดังนั้น เราจึงปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2018 ลงจากเดิม 24% เป็น 1.6 พันล้านบาท แต่ยังเติบโตจากปีก่อนได้ราว 21% YoY เนื่องจากจะมีโครงการคอนโดใหม่เริ่มโอนจำนวน 8 โครงการ และคาดว่าจะมีการโอนโครงการแนวราบได้มากขึ้น ทั้งนี้ เราปรับลดราคาเป้าหมายปี 2018 ลงเป็น 4.70 บาท จากเดิม 6.70 บาท เนื่องจากเราปรับลดคาดการณ์กำไรลง โดยประเมินมูลค่าด้วย PER 11 เท่า ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีต และปรับลดคำแนะนำเป็น ถือ จากเดิม ซื้อ


บันทึกโดย : วันที่ : 19 มี.ค. 2561 เวลา : 09:47:15

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 3:00 pm