ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน SET Index ฟื้นตัวแรง (21/06/61)


 กลยุทธ์การลงทุน

  เชื่อว่าความกังวลต่อการกีดกันการค้า กระทบต่อเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่ ซึ่งน่าจะกดดันความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ยังแกว่งตัว โดยเฉพาะน้ำมันและปิโตรเคมี ทำให้นักวิเคราะห์ ASPS ปรับลดมุมมองหุ้น Global ลง รวมถึงหุ้นส่งออกในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กฯ แต่ให้เพิ่มน้ำหนักหุ้น Domestic และให้สะสมหุ้นที่มีเกราะป้องกันดอกเบี้ยขาขึ้น/ปลอดหนี้ (BBL, KBANK, PLANB) หรือหุ้นสาธารณูปโภค  (RATCH, TTW, EASTW) Top picks BBL(FV@B220), PLANB(FV@B7.3) และ  RATCH(FV@B61)

ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ ….. SET Index ฟื้นตัวแรง หนุนจากกลุ่มพลังงานและ ธ.พ.   
  วานนี้ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นแรง หลังจากปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า แรงหนุนมาจากหุ้นขนาดใหญ่ของกลุ่มพลังงานและธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก หนุนดัชนีวิ่งขึ้นมาปิดที่ระดับ 1664.26 จุด เพิ่มขึ้น 24.72 จุด หรือ +1.51% มูลค่าการซื้อขายกว่า 6 หมื่นล้านบาท นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงาน (PTT PTTEP PTTGC) ปิโตรฯและโรงกลั่น IVL (+2.29%) TOP (+5.84%) ขณะที่หุ้นกลุ่ม ธ.พ. มีแรงรีบาวด์กลับเข้ามาทั้งกลุ่มฯ โดยวานนี้ กนง. มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% พร้อมกับปรับคาดการณ์ GDP growth ปี 61 ขึ้นเป็น 4.4% ส่วนทิศทางการเคลื่อนไหวของหุ้นขนาดใหญ่อย่าง SCC BDMS และ ADVANC ปรับตัวขึ้น 1.95%, 5.21% และ 1.32% ตามลำดับ    
SET Index ฟื้นตัวอาจจะเป็นช่วงสั้น ๆ  โดยน่าจะมีกรอบแนวรับ-แนวต้าน 1650-1680 จุด โดยยังให้น้ำหนักต่อสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ซึ่งจะกดดันความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกในระยะถัดไป จึงให้ลดน้ำหนักหุ้น Global มาที่ Domestic มากขึ้น 

ตราบที่การกีดดันทางการค้ายังขยายวงกว้าง ความเสี่ยงโลกยังมี  
  สงครามการค้ายังขยายตัวในวงกว้าง และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะ มิใช่แต่เพียงสหรัฐกับจีน เท่านั้น  แต่ประเทศคู่ค้าหลายแห่ง เริ่มมีปฏิกิริยาตอบโต้สหรัฐ  หลังจากถูกขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม  25 % ไปในช่วงปลายเดือน มี.ค.   เริ่มจากยุโรป ประกาศภาษีนำเข้าสหรัฐ 25% วงเงิน 3.2 พันล้านเหรียญฯ  มุ่งไปที่สินค้าเกษตร ข้าวโพด ,ถั่วลิสง,  เบอร์เบิน, กางเกงยีนส์,  มอเตอร์ไซค์ เหล็ก, อลูมิเนียม  จะมีผลบังคับใช้พรุ่งนี้ 22 มิ.ย.  (เร็วขึ้นจากเดิม 1 ก.ค.) และยังเดินหน้าหาประเทศคู่ค้าใหม่ อาทิ ออสเตรเลีย เพื่อทดแทนสหรัฐ   รายละเอียดดังตารางถัดไป 
  จากการศึกษาของธนาคารโลก (World Bank) ประเมินว่าการกีดกันทางการค้าทุก 5 หมื่นล้านเหรียญฯ จะกระทบต่อการค้าโลกในปี 2561 หดตัวราว 9% วงเงินกีดกันการค้าจากสหรัฐ ดูเหมือนจะขึ้นไปแตะ 2.5 แสนล้านเหรียญฯ ซึ่งผลกระทบจะรุนแรงขึ้น ซึ่งแน่นอนผลกระทบคงมิได้จำกัดเฉพาะผู้ผลิตและส่งออก เท่านั้นแต่กระทบผู้ผลิตสินค้าสนับสนุนการส่งออกหรือ Supply Chain  รวมถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ที่จะต้องจ่ายสินค้าแพงขึ้น ซึ่งจะกดดันให้เงินเฟ้อโลกตามมา ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2562  

สต็อกน้ำมันเพิ่มช่วงสั้น แต่ราคาน้ำมันยังผันผวนจากความเสี่ยงโลก 
  สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ(EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 5.91  ล้านบาร์เรล (ตลาดคาดลดลง  2.1 ล้านบาร์เรล) ผลจากการนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น   8.1 ล้านบาร์เรล/วัน  อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปัญหา Oversupply จะกลับมากังวลอีกครั้ง  ติดตามผล การประชุม OPEC และ Non OPEC กรุงเวียนนา ในวันพรุ่งนี้ ว่าจะมีข้อยุติการคงกำลังการผลิตที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลาย 2559   เพราะกำลังการผลิตจะหายไปบางส่วน จากอิหร่านและเวเนซุเอรา หลังจากที่สหรัฐคว่ำบาตรทางการค้า  ขณะที่สหรัฐยังคงเพิ่มกำลังการผลิตต่อเนื่อง ล่าสุดผลิต 10.9 ล้านบาร์เรล/วัน  และได้ประโยชน์ในช่วงที่ราคาน้ำมันเกิน 70 เหรียญฯ ในช่วงที่ผ่านมา
ประกอบกับ Dollar Index ที่มีแนวโน้มแข็งค่าจากการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเร่ง และ ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกหากสงครามการค้ายืดเยื้อน่าจะ  น่าจะกดดันราคาน้ำมันดิบในระยะถัดไป   (ราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ย ytd 67.8 เหรียญฯ) และน่าจะกดดันหุ้นน้ำมันที่ราคาหุ้นใกล้เคียงกับมูลค่าหุ้นปี 2561 หรือมี upside จำกัด คือ PTT(FV@B54) และ PTTEP(FV@B137) ยกเว้นหุ้นถ่านหินที่ยังมี upsideคือ  BANPU(FV@B25.6)

ฟิลิปปินส์ขึ้นดอกเบี้ยรอบ 2 ของปีนี้ vs ไทยยังคงดอกเบี้ย แต่เริ่มเสียงแตก 
  วานนี้ที่ประชุมธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) สรุปให้ขึ้นดอกเบี้ยฯ อีก  0.25% เป็น 3.5% เป็นครั้งที่2 ปีนี้  หลังจากขึ้นครั้งแรกไปเมื่อเดือน พ.ค. เพราะเงินเฟ้อเพิ่มแรง 4.6%yoy ในเดือน พ.ค. (สูงสุดในรอบ 5 ปี) เกินเป้าหมายที่ BSP ตั้งไว้ราว 31%   ซึ่งนับเป็นประเทศที่ 2 ที่ขึ้นดอกเบี้ย 2 รอบในปีนี้  ตามหลัง อินโดนีเซีย ที่ขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกัน 2 ครั้ง รวม 0.5% เป็น 4.75% (ครั้งแรกในรอบ 4 ปี)  ขณะที่  อินเดีย และมาเลเซียขึ้นดอกเบี้ย  1 ครั้ง ๆ 0.25%  
  ส่วนไทย วานนี้ กนง. มีมติ 5 ต่อ 1 ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% และได้ปรับคาดการณ์ GDP growth ปี 2561 เป็น 4.4%yoy และ ปี 2562 เป็น 4.2% จากเดิมคาด 4.1% ทั้ง 2 ปี พร้อมปรับเงินเฟ้อปี 2561 เป็น 1.1% จากเดิม 1.0% และคงปี 2562 ที่ 1.2%  
  อย่างไรก็ตามคาด  การประชุม ที่เหลืออีก 4 ครั้งในปีนี้ น่าจะส่งสัญญาณสิ้นสุดการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายที่กินเวลานานเกือบ 7 ปี เพราะเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นเช่นเดียวกับต่างประเทศ โดย ASPS ประเมินว่าเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. จะเพิ่มขึ้นมาที่ 1.72% จาก 1.49% ใน พ.ค. และจะเร่งเป็น 1.8%  และ 1.9% ในเดือน ก.ค. และ ส.ค.  พร้อมแตะ 2% ใน ก.ย. และ  2.3% ใน  ธ.ค. นี้ ยิ่งห่างดอกเบี้ยที่ 1.5%  หากไทยขึ้นดอกเบี้ยล่าช้า ผลกระทบที่จะตามมาคือ เงินบาทจะยิ่งอ่อนค่า กดดันสินค้านำเข้า และกดดันเงินเฟ้อในที่สุด  
 
มูลค่าหุ้น GPSC เพิ่มไม่มาก หลังซื้อหุ้น GLOW โดยการกู้ 
  นักวิเคราะห์ ASPS กำลังประเมินผลกระทบ (EPS, Fair Value และ Gearing Ratio) หลังการที่ GPSC(FV@B64) มีข้อสรุปจะเข้าไปซื้อหุ้น GLOW(FV@B95.5) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP  ผ่านการกู้ยืมทั้งหมด (Bridge Loan)   ทั้ง 2 ช่วง  (ช่วงแรกซื้อสัดส่วน 69.1% ที่ราคาหุ้นละ 96.5 บาท เป็นเงิน 97,551 ล้านบาท จากผู้ถือหุ้นเดิมของ GLOW  และ รอบ 2 เมื่อทำ Tender offer  ส่วนที่เหลือทั้งหมดในช่วง ต.ค. – พ.ย.  นี้ เสร็จสิ้น)  เป็นเงินราว 142,500 ล้านบาท   เมื่อได้หุ้นครบจะแปลงสภาพ  Bride loan  เป็น 2 ส่วนคือ หุ้นกู้ และหุ้นสามัญเพิ่มทุนสัดส่วน 50%:50%  ผลกระทบคือ  
  GPSC จะเป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตที่ใหญ่ขึ้นจากเดิม 1.922 พันเมกะวัตต์ เป็น 4.835 พันเมกะวัตต์  แต่จะมีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก ปัจจุบันที่มี Geaing ration 0.4  เท่า เป็น 3.84 เท่า ใน ธ.ค. 2561  แต่เมื่อการเพิ่มทุนเสร็จคาดว่า Gearing ratio จะลดลงเหลือ 0.74 เท่า  
  ส่วนการเพิ่มของ GPSC ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ 75% เป็นบริษัทในเครือของ PTT ( PTTGC 22.73% PTT 23.58%, Thai Oil Power 20.79% TOP 8.9%  )  ส่วนราคาเพิ่มทุนของ GPSC  และ Dilution Effect ต่อ EPS ติดตามบทวิเคราะห์ของ GSPS ในวันนี้

ลดน้ำหนักการลงทุนกลุ่มปิโตรเคมี 
  ผลกระทบจากสงครามการค้าโลกที่รุนแรงขึ้น และยังคงยืดเยื้อ จนกว่าสหรัฐจะมีท่าทีที่ ยอมอ่อนข้อให้กับคู่ค้า จะลดความกังวลลง อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโลกน่าจะเห็นตั้งแต่ 2H61 และชัดเจนขึ้นในปี 2562 จึงปรับลดน้ำหนักลงทุนหุ้นที่เกี่ยวกับ Global  ลงโดยเฉพาะ  หุ้นกลุ่มปิโตรเคมีและโรงกลั่น เพราะโดยปกติแล้วอัตราการเติบโตของความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะอยู่ราว 1-1.5 เท่า ของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ความต้องการใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรฯ ที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาและ Spread ปิโตรฯ ให้ลดลงตาม เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง ฝ่ายวิจัยจึงมีการปรับลดสมมติฐาน Long Term Growth และมูลค่าพื้นฐานของกลุ่มปิโตรฯ
  สำหรับกลุ่มน้ำมันและถ่านหิน ฝ่ายวิจัยยังกำหนดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2562 อยู่ที่ 70 เหรียญฯ/บาร์เรล ส่วนปีนี้ที่ 65 เหรียญฯ/บาร์เรล ยังเป็นไปได้   จึงยังคงน้ำหนักลงทุนเท่ากับตลาด แต่คาดว่าเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้ม ชะลอตัว และ ปัญหา Oversupply น่าจะกดดันหุ้นโภคภัณฑ์ผันผวน   จึงยังคงแนะนำ switch หุ้น PTT และ PTTEP ไปยังหุ้น BANPU หรือ IRPC

แม้ตลาดหุ้นฟื้นตัว แต่ต่างชาติยังขายสุทธิเกือบทุกแห่งในภูมิภาค
  แม้วานนี้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาคจะรีบาวด์ หลังจากปรับฐานแรง แต่ต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 8 ด้วยมูลค่า 312 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นเกาหลีใต้เพียงแห่งเดียวที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ 241 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 6 วัน) ส่วนตลาดหุ้นอีก 4 ประเทศต่างชาติขายสุทธิ คือ ไต้หวัน 284 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 7) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 145 ล้านเหรียญ (หลังจากหยุดยาวตั้งแต่ 11 มิ.ย. 61), ฟิลิปปินส์ 14 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกันนานถึง 24 วัน) และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิอีก 111 ล้านเหรียญ หรือ 2.43 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 13 มูลค่ารวมกว่า 4.06 หมื่นล้านบาท) ต่างกับสถาบันในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิ 2.43 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน)
  ส่วนทางด้านตราสารหนี้ ต่างชาติขายสุทธิ 6.84 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6) หนุน Bond Yield 10 ปี ของไทยขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.83% แต่ยังน้อยกว่าสหรัฐฯ ล่าสุดอยู่ที่ 2.93%

ลดน้ำหนักหุ้น Global แต่เพิ่มหุ้น Domestic ที่มีเกราะป้องกันดอกเบี้ยขาขึ้น  
  วานนี้ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวแรง 1.5% หลังจากปรับฐานลงมาตั้งแต่จุดสูงสุดของปีนี้ที่ 1852 จุด เมื่อ 27 ก.พ. ลงมายังจุดต่ำสุดของปีนี้ที่ 1633 จุด เมื่อ 19 มิ.ย. หรือลดลงกว่า 11.8% ด้วยความกังวลต่อประเด็นสงครามการค้า ที่เชื่อว่าจะยังไม่จบง่ายๆ และน่าจะขยายวงกว้างเป็น Domino Effect ออกไปเรื่อยๆ ตราบที่สหรัฐ และคู่ค้ายังคงขึ้นภาษีขยายวงเงินตอบโต้กันไปมา ขณะที่ประเด็นดอกเบี้ยขาขึ้น แม้จะมีความเสี่ยงเงินทุนไหลออกจากภูมิภาค แต่ก็ยังมีความเสี่ยงน้อยกว่าสงครามการค้า เนื่องจากหลายประเทศที่มีดอกเบี้ยต่ำ ต่างก็ปรับตัวด้วยการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย ผลกระทบจึงไม่มากนัก
  อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความเสี่ยง แต่ด้วยระดับ Valuation ตลาดหุ้นไทยที่ลดลงเหลือราว 15 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ไม่แพงมาก ทำให้มีความน่าสนใจในการทยอยลงทุน โดยลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้น Global Play และมาเพิ่มในหุ้น Domestic Play โดยเป็นหุ้นที่ฝ่ายวิจัย ASPS แนะนำ ซื้อ มี upside มากกว่า 15% คือ 
  1. หุ้นที่ได้ประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจาก โครงสร้างสินเชื่อกว่า 70% เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เป็นบวกต่อรายได้ดอกเบี้ยรับ ขณะที่สัดส่วนเงินฝากกว่า 50% เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ส่งผลดีต่อการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ย แนะนำ BBL(FV@B220), KBANK (FV@B227) และ TCAP (FV@B65) รวมทั้ง กลุ่มประกันฯ จากภาระสำรองเบี้ยฯ ที่ลดลง ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุน (ดอกเบี้ยและเงินปันผล) ในพันธบัตร ตราสารหนี้และหน่วยลงทุนจะเพิ่มขึ้น แนะนำ BLA (FV@B40.60)
  2. หุ้นที่มีเกราะป้องกันดอกเบี้ยขาขึ้น กล่าวคือ ภาระหนี้สินดอกเบี้ยที่มีกับสถาบันการเงินส่วนใหญ่เป็นอัตราคงที่ (Fixed Rate) รวมทั้งมี Gearing Ratio ต่ำ เช่น GFPT (FV@B14), SCC (FV@B60), SPALI (FV@B28.30), CPN (FV@B95), BEAUTY (FV@B21),  RATCH (FV@B61)
  3. หุ้นที่มีสถานะเงินสด (Net Cash) หรือปลอดหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (Debt Free) เช่น STEC (FV@B25), SYNTEC (FV@B6.6), PYLON (FV@B8.67), PLANB (FV@B7.30), BH (FV@B221), SVI(FV@B4.89), STANLY (FV@B299), IRC (FV@B25.2), TPIPP (FV@B7.5)


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 มิ.ย. 2561 เวลา : 09:41:09

24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 1:12 pm