ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 30 พย. - 4 ธค. 63 และสรุปสถานการณ์ฯ 23-27 พย. 63


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
 
 
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (30 พ.ย. – 4 ธ.ค. 63)
 
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง หลังตลาดคาดหวังผลความคืบหน้าการทดลองวัคซีนโควิด-19 ที่มีแนวโน้มในทิศทางบวก เป็นปัจจัยสนับสนุนความต้องการใช้น้ำมัน อีกทั้งปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯที่ปรับลดลง แสดงถึงความต้องการใช้น้ำมันเริ่มฟื้นตัว นอกจากนั้นตลาดยังจับตาผลการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสที่มีแนวโน้มคงการลดกำลังการผลิตที่ระดับ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมสิ้นสุดปลายปี 63 เพื่อพยุงราคาน้ำมัน แต่อย่างไรก็ตามการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบลิเบียและตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบ 
 
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
 
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน นับจากต้นเดือนมี.ค. 63 ตอบรับปัจจัยสนับสนุนจากความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีแนวโน้มที่ดี หลังหลายบริษัทประกาศผลการทดลองวัคซีน อาทิ AstraZeneca รายงานประสิทธิภาพของวัคซีนที่ระดับร้อยละ 70 และสามารถพัฒนาต่อได้ถึงระดับร้อยละ 90 โดยสามารถผลิตวัคซีนได้มากกว่า 200 ล้านโดส ภายในปี 63 และสามารถเก็บได้ภายในระดับความเย็นปกติ ซึ่งสะดวกต่อการขนส่งมากกว่าบริษัท Pfizer ที่ต้องเก็บวัคซีนที่อูณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส  แต่อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของวัคซีน AstraZeneca ยังคงน้อยกว่าวัคซีนที่คิดค้นโดย Pfizer ที่มีประสิทธิภาพราวร้อยละ 95 ขณะที่บริษัท Moderna ได้ประกาศผลความสำเร็จของการทดลองวัคซีน พบว่ามีประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19 ได้ถึงร้อยละ 94.5 และยังสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8 องศาเซลเซียส
 
- อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความต้องการใช้น้ำมันยังคงถูกกดดันจากตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุดตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 59 ล้านคน และมียอดผู้เสียชีวิตกว่า 1.4 ล้านคน โดยเฉพาะทวีปอเมริกามียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดกว่า 25 ล้านคน รองมาทวีปยุโรป มียอดผู้ติดเชื้อกว่า 17 ล้านคน
 
- ตลาดจับตามองการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสในวันที่ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. ถึงการตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับตั้งแต่ม.ค. 63 โดยซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ส่งสัญญาณที่จะยืดระยะเวลาการปรับเพิ่มกำลังการผลิตออกไปจนถึงสิ้นไตรมาส 1 ปี 64 ทั้งนี้เพราะความต้องการใช้น้ำมันยังคงถูกกดดันจากการแพร่ระบาดรอบสองของโควิด-19 ในหลายประเทศ การยืดระยะเวลาการปรับเพิ่มกำลังการผลิตจะมีส่วนช่วยในการพยุงราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มโอเปกพลัส 
 
- บริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย ประกาศที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบไปแตะระดับ 1.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังการพูดคุยกับบริษัท Total ซึ่งจะสนับสนุนในการเพิ่มกำลังการผลิต โดยระดับการผลิตที่ 1.25 ล้านบาร์เรลต่อวันนั้น นับเป็นกำลังการผลิตสูงสุดเมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.63 และ ก.ย.63 ที่ระดับ 0.4 และ 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่ากำลังการผลิตก่อนการประกาศภาวะสุดวิสัย (Force Majeure) ที่ระดับ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
 
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 20 พ.ย.ปรับลดลง 754,000 บาร์เรลสู่ระดับ 488.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งต่างจากที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 127,000 บาร์เรล สอดคล้องกับกำลังการกลั่นของโรงกลั่นสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 สู่ระดับร้อยละ 78.7 แสดงถึงความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัว 
 
- Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 20 พ.ย. ปรับลดลง 2 แท่นสู่ระดับ 310 แท่น ซึ่งเป็นการปรับลดในรอบ 10 สัปดาห์ เนื่องด้วยสถานการณ์น้ำมันดิบผันผวนค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ทยอยกลับมาดำเนินการผลิตอย่างช้าๆ
 
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ อัตราว่างงานญี่ปุ่นเดือนต.ค. 63 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อฝ่ายการผลิตและบริการกลุ่ม ยูโรโซน สหรัฐฯและจีน เดือนพ.ย. 63 ดัชนีผู้บริโภคเยอรมันเดือนพ.ย.63
 
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (23 - 27 พ.ย. 63)  
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 3.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 3.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 47.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากการรายงานความคืบหน้าผลการทดลองวัคซีนของบริษัท AstraZeneca นอกจากนั้นกลุ่มโอเปกพลัสมีแนวโน้มที่จะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตที่ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ออกไปอีก 3-6 เดือน จากเดิมสิ้นสุดในปลายปีนี้ เนื่องความต้องการใช้น้ำมันยังคงอ่อนแอ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังกดดัน 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 พ.ย. 2563 เวลา : 13:06:42

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 8:43 pm