ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 56-61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


 
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (8 - 12 ก.พ. 64)
 
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ จะได้รับการอนุมัติภายในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับลดลง หลังกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรเนื่องจากความชัดเจนของนโยบายการผลิตน้ำมันดิบยังเป็นตามข้อตกลงเดิม อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายประเทศยังคงมาตรการล็อคดาวน์และขยายเวลาเพิ่มเติมเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด 
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
 
- ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยล่าสุดประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้เข้าประชุมร่วมกับสมาชิกวุฒิสภาจากพรรครีพับลิกัน เพื่อหารือและเจรจาต่อรองขอเสียงสนับสนุนเพื่อให้ผ่านการอนุมัติของสภาคองเกรส เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่มูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะสามารถอนุมัติได้ภายในวันที่ 8 ก.พ. 64 และจะส่งผลให้เศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ดีขึ้น 
 
- ปริมาณน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลง หลังรอยเตอร์สรายงานว่ากลุ่มโอเปกปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้ตามข้อตกลงในเดือน ม.ค. 64 โดยมีอัตราความร่วมมือโดยรวมของกลุ่มอยู่ที่ 103% ซึ่งมากกว่าเดือน ธ.ค. 63 ที่ให้ความร่วมมืออยู่ที่ระดับ 99% 
 
- การประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรในวันที่ 3 ก.พ. 64 รายงานว่าคณะกรรมการยังเห็นด้วยที่จะคงการผลิตน้ำมันดิบตามข้อตกลงเดิม โดยจะปรับลดกำลังการผลิตที่ระดับ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และซาอุดิอาระเบียจะลดการผลิตลงอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค. 64 ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตจะมีการประชุมในการประชุมวันที่ 4 มี.ค. 64 เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับระดับการปรับลดกำลังผลิตในเดือน เม.ย. 64 เป็นต้นไป 
 
- สถาบันทางการเงินโกลด์แมน แซคส์ ปรับเพิ่มประมาณการราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในเดือนก.ค. 64 จะแตะระดับ 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันดิบจะสูงกว่าปริมาณการผลิตราว 900,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 500,000 บาร์เรลต่อวัน
 
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 29 ม.ค. 64 ปรับลดลง 1.0 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 475.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 โดยสวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่ม 0.5 ล้านบาร์เรล ในขณะที่กำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ยังคงทรงตัวที่ระดับ 10.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน 
 
- การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน หลังจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการล็อคดาวน์ในบางพื้นที่ และขอให้ประชาชนงดการเดินทางในช่วงเทศกาลตรุษจีน ทางด้านญี่ปุ่นประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินในโตเกียวและอีก 9 จังหวัดต่อไปอีกหนึ่งเดือนจนถึงวันที่ 7 มี.ค. 64 ส่วนที่มาเลเซียได้แถลงขยายเวลาใช้มาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีก 2 สัปดาห์จนถึงวันที่ 18 ก.พ. 64 
 
- ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับการส่งมอบวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ล่าช้า โดยบริษัทแอสตราเซเนกาเกิดปัญหาในกระบวนการผลิตวัคซีนที่โรงผลิตสองแห่งในเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม ขณะที่บริษัทไฟเซอร์ไม่สามารถส่งมอบวัคซีนให้ยุโรปได้ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ ซึ่งอาจกระทบต่อแผนการกระจายวัคซีนของรัฐบาล และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
 
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคจีนเดือน ม.ค. 64 ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 64 ตัวเลขการว่างงานสหรัฐฯ ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซนเดือน ธ.ค. 64 
 
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (1 - 5 ก.พ. 64)  
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 4.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 3.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 59.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 59.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ม.ค. 64 ปรับลดลง 1.0 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.5 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการส่งมอบวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ล่าช้า
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ก.พ. 2564 เวลา : 16:12:46

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:18 am