ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์ วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มลดลง


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 66-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 68-73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 
                                 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 14 – 18 มิ.ย. 64)
 
ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง จากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัว หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะอินเดียที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง ประกอบกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 14.5% ของประชากร นอกจากนั้นราคาน้ำมันดิบยังมีแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงความต้องการใช้น้ำมันสหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัว จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลดลงต่อเนื่อง และการเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลขับขี่ อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบอาจถูกกดดันจากการเจรจาเพื่อหาบรรลุข้อตกลงมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านและ 6 ประเทศมหาอำนาจ ที่เริ่มมีสัญญาณเชิงบวกของสหรัฐฯ ที่มีการยกเลิกการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่าน ทำให้ตลาดกังวลอุปทานส่วนเกินจากอิหร่านที่อาจเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ปี 64 นอกจากนั้น ยังคงมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภูมิภาคเอเซีย ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
 
- ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น หลังได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลล่าร์ทำให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรกันมากขึ้น อีกทั้งสถานการณ์การการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลกมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกปรับลดลงอยู่ที่ราว 3 แสนคนต่อวันซึ่งลดลงจาก 8 แสนคนต่อวัน และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 14.5% ของประชากร ตามรายงานของ Bloomberg ทำให้นักวิเคราะห์คาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความต้องการใช้โลก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ในเอเซียยังน่ากังวล เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดเซีย ทำให้ต้องมีการประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์อีกครั้ง ขณะที่จีนมีการประกาศปิดพื้นที่เสี่ยง ย่านธุรกิจใจกลางเมือง รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะบางส่วน ในเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมหลักของจีน หลังพบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันระยะสั้น
 
- สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในอินเดียที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเดือน พ.ค. 64 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันอินเดียเดือน พ.ค. 64 ปรับลดลง 11.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 15.11 ล้านตันถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 63 ล่าสุดสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มดีขึ้น โดยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่รายวันอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1 แสนต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.64 ที่ราว 3-4 แสนคนต่อวัน 
 
- การเจรจาระหว่างอิหร่านและ 6 ประเทศมหาอำนาจเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น หลังการประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่าน 3 ราย จากบริษัทน้ำมันแห่งชาติ (NIOC) บริษัท Hongkong Intertrade และ บริษัท Naftiran Intertrade นอกจากนั้นยังยกเลิกการคว่ำบาตรบริษัท Sea Charming Shipping และ บริษัท Aoxing Ship Management Shanghai ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี นับเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกในการบรรลุข้อตกลงคว่ำบาตรต่ออิหร่าน 
 
- การนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในเดือน พ.ค. 64 ลดลง 14.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แตะที่ระดับ 9.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังอยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำปี อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่าการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นที่ระดับ 11-12 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาส 3 ปี 64 และกำลังการผลิตของโรงกลั่นอาจปรับเพิ่มขึ้นอีกราว 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 64 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีนมีแนวโน้มดีขึ้น สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนั้นรอยเตอร์รายงานว่าโรงกลั่น Shenghong Petrochemical ในจีนมีแผนทดสอบกระบวนการผลิตโรงกลั่นใหม่ขนาด 320,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. หรือ ก.ย. 64 โดยการดำเนินการเชิงพาณิชย์คาดว่าจะเริ่มต้นในไตรมาส 1 ปี 65 หลังการก่อสร้างกระบวนการผลิตขั้นปลายแล้วเสร็จ ซึ่งการดำเนินการผลิตของโรงกลั่นใหม่จะสนับสนุนความต้องการใช้น้ำมันดิบจีนเพิ่มขึ้น
 
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 3 สัปดาห์ต่อเนื่อง หลังโรงกลั่นน้ำมันสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการผลิต เพื่อตอบรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลขับขี่ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 4 ก.ค. ปรับลดลงกว่า 5.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 474 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น 7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 241 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 698,000 บาร์เรล เนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอเพราะพายุถล่ม ในช่วงวันหยุดยาว 
 
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคอังกฤษและกลุ่มยูโรโซน เดือน พ.ค.64 การตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ การแถลงข่าวเกี่ยวกับนโยบายการเงินของธนาคารญี่ปุ่น

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (7 - 11 มิ.ย. 64)  
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 72.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 71.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลล่าร์ และฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันโดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐฯ ที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอุปทานในเดือนพ.ค. 64 จากกลุ่มโอเปกพลัสที่เป็นไปตามคาด อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเอเซียที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กดดันความต้องการใช้น้ำมัน 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 มิ.ย. 2564 เวลา : 10:04:43

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 9:13 am