ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 84-89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 84-89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 86-91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 
 
 
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (24 - 28 ม.ค. 65)
 
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังตลาดได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบโลกที่ยังคงตึงตัว จากความไม่สงบภายในประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบ อาทิเช่น คาซัคสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รัสเซีย เป็นต้น และการเพิ่มกำลังการผลิตอย่างจำกัดของกลุ่มโอเปกพลัส ทำให้ตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัว ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่มากนัก อย่างไรก็ตามแผนการระบายน้ำมันจากคลังเก็บน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ของจีน และจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ตลาดคลายความกังวลความตึงตัวของอุปทานน้ำมันดิบ 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
 
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี หลังตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว จากเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศของผู้ผลิตน้ำมันดิบ อาทิเช่น เหตุการณ์ความไม่สงบจากการโจมตีของกลุ่มกบฎฮูตี ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย และยูเครน โดยสหรัฐฯ ระบุว่ารัสเซียมีแผนที่จะโจมตียูเครน หากการเจรจาไม่สามารถหาข้อยุติได้ นอกจากนั้นยังมีเหตุระเบิดท่อขนส่งน้ำมัน Kirkuk-Ceyhan มีปริมาณขนส่งราว 450 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งขนส่งน้ำมันจากอิรักสู่ท่าส่งออก ในประเทศตุรกี ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีเพลิงไหม้ถูกระงับเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะกลับมาดำเนินการขนส่งได้อีกครั้งโดยเร็ว 
 
- อุปทานน้ำมันดิบจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบและพันธมิตร หรือกลุ่มโอเปกพลัส ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด และมีแนวโน้มไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายประเทศสมาชิก เช่น คองโก ไนจีเรีย และลิเบีย ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตตามข้อตกลงได้ เพราะติดข้อจำกัดกำลังการผลิตสูงสุดและความไม่สงบในประเทศ โดยล่าสุดอัตราความร่วมมือตามข้อตกลง (OPEC Compliance) ในเดือน ธ.ค. 64 ปรับสูงขึ้นแตะระดับ 127% เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. 64 ที่ 120%
 
- รายงานประจำเดือน ม.ค. 65 ของสำนักงานพลังงานสากล หรือ IEA ปรับเพิ่มปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 65 ขึ้นราว 0.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากรายงานเดือนก่อนหน้า แตะระดับ 99.71 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อาจไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันและเศรษฐกิจมากนัก ประกอบกับหลายประเทศไม่เลือกใช้มาตรการเข้มงวดในการจำกัดการแพร่ระบาด นอกจากนั้น IEA คาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกพลัสในปี 65 อาจจะเพิ่มขึ้นเพียงเดือนละ 0.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับข้อตกลงที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเดือนละ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากไนจีเรีย และแองโกลา อาจไม่สามารถผลิตเพิ่มได้ตามข้อตกลง เนื่องจากปัญหาด้านเทคนิค และการปิดซ่อมบำรุงที่ล่าช้า
 
- นักวิเคราะห์คาดว่าราคาน้ำมันดิบมีโอกาสอยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ในช่วงไตรมาส 1/65 หลังอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว จากการเพิ่มกำลังการผลิตอย่างจำกัดของกลุ่มโอเปกพลัส ประกอบกับปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่อาจจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 
 
- หลังราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ทำให้จีนมีแผนที่จะระบายน้ำมันดิบจากคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน หรือในช่วงวันที 31 ม.ค. ถึง 6 ก.พ. 65 โดยการปล่อยน้ำมันดิบดังกล่าว เป็นความร่วมมือกันระหว่างจีน สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ เพื่อลดความร้อนแรงของราคาน้ำมันดิบ
 
- น้ำมันดิบสหรัฐฯมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลัง Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 14 ม.ค. 65 เพิ่มขึ้น 13 แท่นสู่ระดับ 601 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 
 
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนยังคงแพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลก ล่าสุดจำนวนยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 3 ล้านรายต่อวัน รายงาน ณ วันที่ 19 ม.ค. 65 จากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยสหรัฐฯ และยุโรปพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด ล่าสุดญี่ปุ่นพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 6 พันรายในวันเดียว คาดการณ์ว่าหากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลญี่ปุ่นอาจใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอีกครั้ง 
 
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมกลุ่มยูโรโซน และสหราชอาณาจักร เดือน ม.ค. 65 การตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ จีดีพีสหรัฐฯไตรมาส 4/64 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 – 21  ม.ค. 65)  
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 1.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 85.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 87.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 85.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานน้ำมันดิบตึงตัวเนื่องจากความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบ อาทิเช่น ลิเบีย คาซัคสถาน และการเพิ่มกำลังการปริมาณผลิตน้ำมันดิบอย่างจำกัดของกลุ่มโอเปกพลัส อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก ที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในสหรัฐฯ และยุโรป และมีการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ม.ค. 2565 เวลา : 09:42:21

18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 1:27 pm