ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (22 ก.ย.65) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 37.25 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (22 ก.ย.65) ที่ระดับ 37.25 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.15 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เฟดได้เดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% ตามคาด ทว่า คาดการณ์ดอกเบี้ยเฟดหรือ Dot Plot ใหม่ ได้สะท้อนว่า เฟดยังคงมีแนวโน้มเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องแตะระดับ 4.40% ในปีนี้ และอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 4.60% ในปีหน้า พร้อมกับคงดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปจนถึงปี 2024 เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อให้สำเร็จ ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดคาดหวังว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้บ้างในปีหน้า นอกจากนี้ ตลาดยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจยิ่งกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวมากขึ้น หลังจากที่เฟดได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในสิ้นปีนี้เหลือ +0.2% (จากเดิม +1.7% ที่คาดการณ์ไว้ในการประชุมเดือนมิถุนายน) ซึ่งภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างเดินหน้าเทขายสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคฯ นำโดย Amazon -3.0%, Apple -2.0% กดดันให้ดัชนี S&P500 ดิ่งลงกว่า -1.71%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นราว +0.90% แม้ว่าจะเผชิญแรงกดดันจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น แต่ตลาดหุ้นยุโรปก็สามารถปรับตัวขึ้นได้ หนุนโดยหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ตลาดหุ้นยุโรปมีความเสี่ยงที่จะผันผวนและอาจปรับตัวลดลงในวันนี้ได้ ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นอีกครั้งใกล้ระดับ 3.60% อย่างไรก็ดี ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหลังรับรู้ผลการประชุมเฟด ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 3.53% จากความต้องการซื้อบอนด์ระยะยาวของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า หากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot ใหม่ เราประเมินว่า ในระยะสั้นนี้ ตลาดการเงินเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง รวมถึงความเสี่ยงที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจยังคงต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งจะกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 3.50% ต่อได้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบกว่า 20 ปี ใกล้ระดับ 111.5 จุด หลังเฟดส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงแรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) ท่ามกลางความเสี่ยงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (หลังจากพุ่งขึ้นแตะระดับ 1,690 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในระหว่างตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด) อย่างไรก็ดี เรามองว่า ราคาทองคำอาจพอได้แรงหนุนจากผู้เล่นบางส่วนที่ต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ราคาทองคำอาจพอยืนเหนือโซนแนวรับ แต่โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวดังกล่าว ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่กดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าได้

สำหรับวันนี้ หลังจากที่ตลาดได้รับรู้ผลการประชุมเฟดไปแล้วนั้น ยังมีผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางอีกหลายแห่งที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยตลาดมองว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% สู่ระดับ 2.25% เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี BOE อาจแสดงความกังวลมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งภาพดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดการเงินผันผวน โดยเฉพาะค่าเงินปอนด์ (GBP) อาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าลงได้ แม้ว่า BOE จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่า BOJ อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% พร้อมกับเดินหน้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี เพื่อตรึงให้บอนด์ยีลด์ ไม่เกินกว่าระดับ 0.25% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ นอกจากนี้ BOJ ยังไม่ได้เผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อมากเท่ากับธนาคารกลางอื่นๆ เพราะแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของญี่ปุ่นจะเร่งขึ้นสู่ระดับ 2.9% ในเดือนสิงหาคม แต่อัตราเงินเฟ้อเมื่อหักราคาพลังงานและอาหารสด (Core-Core Inflation) ก็อยู่ที่ระดับเพียง 1.5% ซึ่งยังไม่สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2.00% ของ BOJ ส่วนธนาคารกลางอื่นๆ ในเอเชียนั้น ตลาดมองว่า แนวโน้มการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของเงินเฟ้อพื้นฐานในหลายประเทศจะยังคงหนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +0.50% สู่ระดับ 4.25% ส่วนธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจขึ้นดอกเบี้ยราว +0.25% สู่ระดับ 4.00%

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าต่อเนื่องตามทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ซึ่งอาจเห็นแรงขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติในวันนี้ได้ นอกจากนี้ การย่อตัวของราคาทองคำรวมถึงราคาน้ำมันดิบ อาจทำให้มีผู้เล่นบางส่วนเข้าซื้อทองคำและน้ำมันในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจเป็นแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าเช่นกัน

นอกจากนี้ เรามองว่า ควรระมัดระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางหลัก ทั้ง BOJ และ BOE โดยในส่วนของ BOJ จะต้องรอติดตามว่า BOJ จะมีการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มการเข้ามาแทรกแซงตลาดการเงินเพื่อพยุงค่าเงินเยนญี่ปุ่นหรือไม่ เพราะในแง่นโยบายการเงิน เราคาดว่า BOJ จะยังคงไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน จนกว่าจะถึงไตรมาส 2 ในปีหน้าที่จะมีการเปลี่ยนผู้ว่าฯ BOJ ส่วนการประชุม BOE นั้น ต้องระวังมุมมองของ BOE ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ เพราะหาก BOE กังวลภาพเศรษฐกิจอังกฤษถดถอยมากยิ่งขึ้น ก็อาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงต่อได้เช่นกัน ทั้งนี้ หลังจากที่เงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 37.20 บาทต่อดอลลาร์ โซนแนวต้านถัดไปที่เป็นไปได้ของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 37.30-37.50 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.15-37.40 บาท/ดอลลาร์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ก.ย. 2565 เวลา : 10:01:11

23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 1:23 pm