ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (27 ต.ค.65) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 37.65 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (27 ต.ค.65) ที่ระดับ 37.65 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.75 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลาง แรงเทขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ จากความผิดหวังต่อรายงานผลประกอบการ อาทิ Alphabet (Google) -9.1%, Microsoft -7.7% และ Meta (Facebook) -5.6% ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -2.04% ส่วนดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลง -0.74% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการคลายกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดของผู้เล่นในตลาด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง ยอดขายบ้านใหม่ (New Home Sales) ลดลงต่อเนื่อง -10.9% จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนภาพตลาดบ้านที่ซบเซามากขึ้น จากผลกระทบของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและราคาบ้านที่ยังอยู่ในระดับสูง

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อ +0.66% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในฝั่งยุโรปที่ส่วนใหญ่ยังคงออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากความหวังการชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง ซึ่งช่วยให้หุ้นกลุ่มเทคฯ ของยุโรป ยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ อาทิ Prosus +4.1%, Adyen +2.6% อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงวิกฤตพลังงานในช่วงฤดูหนาว รวมถึง การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเป็นปัจจัยที่กลับมากดดันตลาดหุ้นยุโรปได้

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับลดคาดการณ์การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนธันวาคมและปรับลดมุมมองต่อจุดสูงสุดของดอกเบี้ยนโยบายเฟด (Terminal Rate) เหลือ 5.00% รวมถึงความกังวลผลประกอบการของบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเข้ามาทยอยซื้อบอนด์ระยะยาวมากขึ้น ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.01% (ลดลงจากระดับเกือบ 4.25% ภายในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์) สอดคล้องกับมุมมองที่เราเคยประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ในการทยอยเข้าซื้อ เพื่อเตรียมพอร์ตให้พร้อมรับมือกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ หรือ การกลับตัวของนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 109.6 จุด หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่าเฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม นอกจากนี้ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ จะกลับมาปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่ผู้เล่นบางส่วนก็ทยอยลดการถือครองเงินดอลลาร์และเลือกที่จะถือสินทรัพย์ปลอดภัยอื่นๆ อาทิ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 146 เยนต่อดอลลาร์ ส่วนสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง ทองคำ ก็ได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เช่นกัน โดยราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวขึ้น สู่ระดับ 1,671 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำอาจมีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยตลาดมองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์จะทำให้ ECB ตัดสินใจเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง +0.75% สู่ระดับ 1.50% (Deposit Facility Rate) อย่างไรก็ดี ควรจับตาการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มนโยบายการเงิน ECB ในช่วงที่ประธาน ECB ออกมาตอบคำถามบรรดาสื่อมวลชน (Press Conference)โดยหาก ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่ชัดเจนและย้ำมุมมอง “Data Dependent” ก็อาจส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดยังมีมุมมองเชิงลบต่อค่าเงินยูโร (EUR) กดดันให้เงินยูโรมีแนวโน้มพลิกกลับมาผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้

และนอกเหนือจากการประชุม ECB ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากผลประกอบการส่วนใหญ่ยังคงออกมาดีกว่าคาด ก็จะสามารถช่วยหนุนบรรยากาศในตลาดการเงินได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คลายกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในช่วงปลายปี คือ ปัจจัยที่หนุนให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ซึ่งในจังหวะเดียวกันก็หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นและทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวสุทธิเป็นครั้งแรกในรอบหลายสัปดาห์ (ยอดซื้อสุทธิราว 6 พันล้านบาท) ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่าที่คาดและหลุดโซนแนวรับ 37.80-37.90 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ก่อนหน้า ทำให้เรามองว่า มีโอกาสที่หากปัจจัยดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลง เงินบาทอาจมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้บ้าง และโซนแนวรับถัดไปอาจอยู่ในช่วง 37.40-37.50 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในตลาดค่าเงินในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB เพราะถึงแม้ว่า ECB จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่หาก ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต หรือ เริ่มแสดงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากขึ้น ก็อาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้ ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขายทำกำไรการรีบาวด์ของค่าเงินยูโร (EUR) ได้บ้าง ทำให้เงินยูโรมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าลงได้

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.50-37.75 บาท/ดอลลาร์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ต.ค. 2565 เวลา : 09:51:22

18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 6:14 pm