ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (2 ธ.ค.65) แข็งค่าขึ้นมาก ที่ระดับ 34.78 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (2 ธ.ค.65) ที่ระดับ 34.78 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” (แข็งค่าสุด นับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2022) จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า บรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น โดยดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.13% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.09% หลังดัชนี PMI ภาคการผลิต โดย ISM (ISM Manufacturing PMI) เดือนพฤศจิกายน ปรับตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 49 จุด แย่กว่าที่ตลาดคาด สะท้อนถึงภาวะหดตัวต่อเนื่องในอัตราเร่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยขายทำกำไรหุ้นบางส่วน ท่ามกลางความกังวแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ (Meta +2.0%, Nvidia +1.3%, Apple +0.2%) หลังผู้เล่นในตลาดตอบรับในเชิงบวกต่อแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว จากรายงานเงินเฟ้อ Core PCE หรือ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน ที่ไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน (ซึ่งเป็นดัชนีเงินเฟ้อที่เฟดติดตามอย่างใกล้ชิด) ได้ชะลอลง +0.2% ในเดือนตุลาคม หรือคิดเป็น 5.0% เมื่อเทียบรายปี

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.80% หนุนโดยแนวโน้มเฟดอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและอาจขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้สูงไปมากกว่าที่ตลาดคาดแถว 5%-5.25% ส่งผลให้ราคาหุ้นเทคฯ ยุโรป ต่างปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ASML +3.8%, Adyen +2.9% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากความหวังว่าทางการจีนจะสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 ได้เร็วขึ้น เพื่อลดแรงกดดันจากการประท้วง

ทางด้านตลาดบอนด์ รายงานเงินเฟ้อ PCE ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง สะท้อนภาพเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุด และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น จากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตที่แย่กว่าคาด ได้หนุนให้ ผู้เล่นในตลาดยังคงเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงต่อเนื่อง -10bps สู่ระดับ 3.52% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายน ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจเริ่มทยอยขายทำกำไรการปรับตัวลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี ได้ในช่วงใกล้ระดับ 3.50% ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับดังกล่าวในระยะสั้น โดยเฉพาะในกรณีที่ ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ไม่ได้แย่ลงอย่างที่ตลาดคาดการณ์ ดังนั้น ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงสู่ระดับ 104.7 จุด ต่ำกว่าโซนแนวรับสำคัญที่ 105 จุด ซึ่งในเชิงเทคนิคัลจะชี้ว่า เงินดอลลาร์ได้เริ่มกลับมาเป็นเทรนด์ขาลงที่ชัดเจนขึ้น โดยปัจจัยกดดันเงินดอลลาร์ยังคงเป็นแนวโน้มเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ตามข้อมูลเงินเฟ้อและภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วทะลุโซนแนวต้านสำคัญ สู่ระดับ 1,815 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจทำให้มีผู้เล่นบางส่วนเข้ามาขายทำกำไรทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ควรจับตาและระมัดระวัง คือ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงเป็นภาคส่วนที่แข็งแกร่งที่สุดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยตลาดประเมินว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยรวมอาจชะลอลง สะท้อนผ่านยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในเดือนพฤศจิกายนที่จะเพิ่มขึ้น 2 แสนตำแหน่ง ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่มีการจ้างงาน +2.6 แสนตำแหน่ง นอกจากนี้ ค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) อาจโตชะลอลงเหลือ +0.3%m/m หรือ +4.6%y/y ซึ่งอาจช่วยลดแรงกดดันต่อสถานการณ์เงินเฟ้อหรือลดความเสี่ยงของ Wage-Price Spiral ที่เฟดกังวล

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ค่าเงินบาทได้แข็งค่าอย่างรวดเร็ว หลังหลุดจากโซนแนวรับที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ สู่ระดับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราได้ประเมินในวันก่อนหน้า ว่าอาจเป็นระดับที่เงินบาทสามารถแข็งค่าไปได้ หากหลุดจากแนวรับสำคัญ โดยปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทยังคงเป็นการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึง โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ และฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เดินหน้าซื้อสุทธิหุ้นและบอนด์ไทย ซึ่งเราประเมินว่า ค่าเงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากปัจจัยฝั่งแข็งค่าดังกล่าวในวันนี้ได้บ้าง โดยเฉพาะโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ และอาจมีโฟลว์ซื้อสุทธิบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติม หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาท (ซึ่งใกล้ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินว่า อาจเป็นระดับของเงินบาทในปลายไตรมาสแรกของปีหน้า) จะส่งผลให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาช่วยดูแลความผันผวนของค่าเงินบาทได้บ้าง นอกจากนี้ ผู้เล่นบางส่วนที่มีสถานะ Short USDTHB (มองว่าเงินบาทแข็งค่า) ก็อาจเริ่มทยอยขายทำกำไรได้บ้าง เนื่องจากโซน 34.75 บาทต่อดอลลาร์ก็เริ่มเป็นโซนแนวรับเชิงเทคนิคัล ทำให้การแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลงได้บ้างในระยะสั้นนี้ นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอติดตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งต้องระวังว่า หากการจ้างงานสหรัฐฯ ชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ แย่ลง ก็อาจยิ่งหนุนแนวโน้มเฟดขึ้นดอกเบี้ยได้อีกไม่มาก หนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นใกล้โซนแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ แต่หาก การจ้างงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งหรือดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ตลาดเริ่มกังวลต่อมุมมองดังกล่าว ซึ่งเราอาจเห็นการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้บ้าง และเงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านแถว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.65-34.90 บาท/ดอลลาร์ 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ธ.ค. 2565 เวลา : 09:54:23

24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 12:58 pm