ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (7 ธ.ค.65) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 35.10 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (7 ธ.ค.65) ที่ระดับ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.07 บาทต่อดอลลาร์
 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ความกังวลแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนอาจแตะระดับสูงกว่าที่ตลาดคาด (ไม่เกิน 5.00%) หลังจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการบริการโดย ISM รวมถึงข้อมูลตลาดแรงงานนั้นออกมาดีกว่า ได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ต่างเดินหน้าเทขายสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Nvidia -3.8%, Amazon -3.0%, Apple -2.5%) ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -2.00% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.44% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากการปรับตัวลงของราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil -2.8%, Chevron -2.6%) ตามการปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยเฟดอาจฉุดให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงหนัก จนกระทบความต้องการใช้พลังงานได้
 
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.58% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มธนาคารกลางหลัก ทั้งเฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาหุ้นเทคฯ ยุโรป ต่างปรับตัวลดลง อาทิ Adyen -3.2%, ASML -0.8% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงานเช่นเดียวกันกับฝั่งสหรัฐฯ นำโดย BP และ TotalEnergies -1.8%
 
ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะเริ่มกังวลว่า เฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับสูงกว่า 5.00% ตามที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ ทว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดจากความกังวลดังกล่าว รวมถึงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงหนักในปีหน้า ยังคงหนุนความต้องการถือ บอนด์ระยะยาวสหรัฐฯ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลง สู่ระดับ 3.54% ซึ่งเรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวใกล้ระดับ 3.50% ในช่วงนี้ จนกว่าตลาดจะรับรู้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเฟดเดือนธันวาคม (วันพฤหัสฯ หน้า)  
 
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 105.5 จุด หนุนโดยความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินผันผวน ทั้งนี้ แม้บรรยากาศตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง จนทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง แต่ทว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านแถว 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะย่อตัวลงสู่ระดับ 1,782 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ในระยะสั้นราคาทองคำมีโอกาสย่อตัวลงบ้าง และเชื่อว่าอาจมีผู้เล่นบางส่วนรอจังหวะการพักฐานของทองคำในการเข้าทยอยซื้อ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินผลกระทบของการระบาด COVID-19 ต่อภาพเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะในฝั่งการค้าระหว่างประเทศ โดยตลาดมองว่า ภาคการค้าระหว่างประเทศของจีนจะซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัดจากผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ในจีนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง โดยยอดการส่งออก (Exports) ในเดือนพฤศจิกายน อาจหดตัวมากขึ้นถึง -4.3%y/y ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) ก็อาจหดตัวกว่า -7.1%y/y สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่สะท้อนภาวะหดตัวในอัตราเร่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตอุตสาหกรรม
 
ส่วนในฝั่งไทย เราประเมินว่า แนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยที่ได้รับอานิสงส์จากการบริโภคในประเทศจะช่วยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ยังคงอยู่ในระดับ 3.2% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) จะทรงตัวที่ระดับ 6.0% (คิดเป็นการเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า +0.3%) ทั้งนี้ เงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องจากระดับฐานราคาสินค้าและบริการที่สูงในปีนี้ ขณะที่แรงกดดันด้านอุปทานก็เริ่มคลี่คลายลง ทำให้แม้เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ก็ไม่ได้น่ากังวลมากนัก ทำให้เราคงมองว่า ธปท. จะทยอยเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 25bps จนแตะระดับ 2.00% ได้ในปีหน้า
 
ในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในอัตราชะลอลง +25bps (จาก +50bps ในครั้งก่อนๆ) ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นสู่ระดับ 6.15% หลังเงินเฟ้อเริ่มชะลอลงมากขึ้น อีกทั้งสกุลเงินรูปีอินเดีย (INR) ก็เริ่มแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ลดแรงกดดันต่อ RBI ในการเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อช่วยประคองค่าเงิน      
 
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ค่าเงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ หากบรรยากาศในตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในระยะสั้นและกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง (โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้) นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นสัญญาณขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่อาจไหลออกจากตลาดหุ้นไทยก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก โดยยังคงมองแนวต้านสำคัญในโซน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ โดยในฝั่งปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทนั้น เรามองว่าโฟลว์ซื้อสุทธิบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ทั้งบอนด์ระยะสั้นและบอนด์ระยะยาว รวมถึงแรงขายเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้ส่งออกบางส่วนก็อาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง
 
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
 
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.00-35.20 บาท/ดอลลาร์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ธ.ค. 2565 เวลา : 09:18:16

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 6:34 am