ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (22 ก.พ.66) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (22 ก.พ.66) ที่ระดับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.56 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด หลังจากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในเดือนกุมภาพันธ์ ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใส นอกจากนี้ ความกังวลดังกล่าวได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นแตะระดับ 3.95% (สูงสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนปีก่อนหน้า) สร้างแรงกดดันต่อหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ growth ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงแรง -2.50% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -2.00%

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 เคลื่อนไหวผันผวน ก็ที่จะปิดตลาด -0.19% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของฝั่งยุโรป รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (Zew Survey) นั้นออกมาดีกว่าคาด ทำให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ยังคงปรับตัวลดลง (Adyen -2.1%, ASML -1.1%)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะย่อตัวลงบ้าง จากการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์ (GBP) ตามการรายงานดัชนี PMI ฝั่งยุโรปที่ออกมาดีกว่าคาด (สอดคล้องกับสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้) ก่อนที่เงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด (จาก CME FedWatch Tool ตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสราว 28% ที่จะขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.75% สูงขึ้นจาก 19% ในสัปดาห์ก่อนหน้า) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven asset) ท่ามกลางความกังวลว่ารัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการทำสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.2 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ยังไม่สามารถผ่านโซน 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และย่อตัวลงมาแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,844 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เราคาดว่า การย่อตัวลงของราคาทองคำที่ไม่รุนแรงมาก สะท้อนแรงซื้อในจังหวะย่อตัวของผู้เล่นในตลาด ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจมีไม่มากนัก ทว่าในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจเยอรมนี ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตลาดคาดว่า จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 91.4 จุด สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น หลังความกังวลวิกฤตพลังงานในฝั่งยุโรปคลี่คลายลงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ ราว 2.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนต่อได้ หากรายงานการประชุมสะท้อนแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด อย่างที่ตลาดกังวล

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ รวมถึงรายงานการประชุมเฟดดังกล่าว เรามองว่า ในระยะสั้น ควรจับตาสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจกลับมาร้อนแรงได้ (รัสเซียอาจเปิดฉากบุกโจมตียูเครนครั้งใหญ่อีกรอบ)

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว คือ ปัจจัยที่กดดันให้ เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ซึ่งเราประเมินว่า หากตลาดยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากปัจจัยความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เงินบาทก็เสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซนแนวต้านแถว 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ได้ ทำให้ ต้องจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ว่ายังคงขายสุทธิสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่องหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของฟันด์โฟลว์ในฝั่งตลาดหุ้น ซึ่งอาจได้รับอานิสงส์จากข่าวการเลือกตั้งได้บ้าง

ในระยะสั้น เรามองว่า ปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลต่อเงินบาทในช่วงที่เหลือของสัปดาห์นี้ คือ รายงานการประชุมเฟดล่าสุด, รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

อย่างไรก็ดี แม้เราประเมินว่า เงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านดังกล่าวได้ ทว่า เราเริ่มเห็นสัญญาณการขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาดที่เป็นฝั่ง Long USDTHB (เชื่อว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง) โดยเฉพาะในช่วงโซน 34.70-34.75 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ ในมุมมองของผู้เล่นในตลาดก็อาจไมอยากเพิ่มสถานะดังกล่าวมากขึ้น เนื่องจาก Risk-Reward อาจเริ่มไม่คุ้ม ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้ จะไม่รุนแรง ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้เผชิญปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าใหม่ๆ นอกเหนือจากสิ่งที่ตลาดกำลังกังวล

อนึ่ง ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.80 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ก.พ. 2566 เวลา : 10:01:20

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 1:12 pm