ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (10 มี.ค.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 34.96 บาทต่อดอลลาร์


ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (10 มี.ค.66) ที่ระดับ  34.96 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.07 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงขายต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง (และอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย) ของเฟด ซึ่งส่งผลให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลง (Alphabet -2.1%, Apple -1.5%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากการปรับตัวลงแรงของบรรดาหุ้นกลุ่มธนาคาร (Bank of America -6.2%, JPM -5.4%) หลังราคาหุ้น SVB Financial (ซึ่งเป็นธนาคารที่เน้นปล่อยกู้ให้บริษัทกลุ่มเทคฯ) ดิ่งลงแรงเกือบ -80% (รวมช่วงการซื้อ ขาย After Hour) จากการรายงานผลประกอบการล่าสุดที่ย่ำแย่และต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก ทำให้ดัชนี S&P500 ดิ่งลงแรงกว่า -1.85%
 
ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลดลง -0.22% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น จนกว่าจะรับรู้แนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) จากการประชุม ECB ในสัปดาห์หน้า และผู้เล่นในตลาดก็รอประเมินทิศทางนโยบายการเงินเฟด ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ข้อมูลตลาดแรงงาน และอัตราเงินเฟ้อ CPI
 
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ทว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้กลับมาช่วยหนุนให้ ผู้เล่นบางส่วนยังคงต้องการถือบอนด์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในระยะสั้น ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 4.00% ไปได้ไกล ก่อนที่จะย่อตัวลงสู่ระดับ 3.90% ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอทยอยเข้าซื้อบอนด์ในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น และอาจขายทำกำไรในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลง มากกว่าจะไล่ราคาซื้อ เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดนั้นยังไม่จบหรือทิศทางดอกเบี้ยนโยบายก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่
 
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมอ่อนค่าลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ซึ่งเรามองว่า ส่วนหนึ่งอาจมาจากแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD (vs สกุลเงินอื่นๆ) หลังเงินดอลลาร์ได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 105.3 จุด อย่างไรก็ดี เราคาดว่า เงินดอลลาร์จะแกว่งตัว Sideways และมีโอกาสผันผวนสูงในช่วงตลาดทยอยรับรู้ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันนี้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลาง ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) รีบาวด์ขึ้น กลับสู่โซนแนวต้านแถว 1,835 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า อาจมีผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำได้บ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยสิ่งที่ต้องจับตาใกล้ชิด คือ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls: NFP) โดยเรามองว่า หากยอด NFP ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด ราว 2 แสนตำแหน่ง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดมองว่า ภาพรวมตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว ซึ่งถ้าหาก อัตราการเติบโตของรายได้ (Average Hourly Earnings) ปรับตัวขึ้นสูงกว่าคาด (สูงกว่า +4.7%y/y หรือ สูงกว่า +0.3%m/m) ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้น หรือเพิ่มโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.75% ในช่วงไตรมาสที่ 2 ได้ (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ตลาดให้โอกาสเพียง 44%) ในกรณีดังกล่าว เราประเมินว่า มีโอกาสที่จะเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในขณะที่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาจปรับตัวลงได้
 
ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของผู้ว่าฯ Kuroda โดยเราประเมินว่า BOJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.10% พร้อมกับคงเป้าบอนด์ยีลด์ 10 ปี ญี่ปุ่นที่ระดับ 0.00%+/-0.50% (ยังคงทำคิวอีต่อ) ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า BOJ อาจเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ในปีนี้ หลังอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงและจะมีการเปลี่ยนผู้ว่าฯ BOJ ในช่วงไตรมาสที่ 2
 
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งมาจากการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ
 
อนึ่ง เรามองว่า ในวันนี้ ค่าเงินบาท (รวมถึงเกือบทุกสินทรัพย์) มีความเสี่ยงที่จะผันผวนหนัก โดยเฉพาะในช่วงที่ ผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ (ราว 20.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย) ซึ่งหากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและออกมาดีกว่าคาด เช่น ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้นราว 2.5 แสนตำแหน่ง หรือ 3.0 แสนตำแหน่ง พร้อมกับการเติบโตค่าจ้างที่เร่งตัวขึ้นกว่าคาด ก็จะยิ่งทำให้ตลาดเชื่อมั่นว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% ได้ในการประชุมเดือนมีนาคม อย่างไรก็ดี จาก CME FedWatch Tool จะเห็นได้ว่า ผู้เล่นในตลาดได้ให้โอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย กว่า 62% ทำให้ หากข้อมูลตลาดแรงงานไม่ได้ดีกว่าคาดไปมากชัดเจน ก็อาจทำให้โอกาสการเร่งขึ้นดอกเบี้ยทรงตัวใกล้ระดับเดิม ซึ่งอีกเหตุผลหนึ่ง คือ ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ดังนั้น เราจึงประเมินว่า ในกรณีที่ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ดีกว่าคาด (แต่ไม่มาก เหมือนกับในเดือนมกราคม) เงินดอลลาร์อาจไม่ได้แข็งค่าไปมาก และเงินบาทอาจอ่อนค่าทดสอบ แนวต้านแถว 35.25 บาทต่อดอลลาร์ แต่หาก ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ดีกว่าคาด แบบ “เซอร์ไพรส์” เหมือนในเดือนมกราคม (NFP +5 แสนตำแหน่ง) เงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าว และอาจอ่อนค่าต่อทดสอบ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ (เรามองโอกาสเกิดกรณีนี้ไม่มากนัก)
 
ในช่วงนี้ เรามองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
 
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.25 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 มี.ค. 2566 เวลา : 09:56:20

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 12:07 am