เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Krungthai COMPASS วิเคราะห์ "จีดีพีไตรมาส 3/67 ขยายตัว 3.0% จับตาความไม่แน่นอนจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ"


 
เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3/2567 ขยายตัว 3.0%YoY เร่งตัวจากไตรมาสก่อนซึ่งเติบโต 2.2%YoY โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจากการบริโภคและลงทุนภาครัฐที่ปรับตัวดีขึ้นตามการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบกับการส่งออกยังขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม การอุปโภคบริโภคเอกชนชะลอตัวลง สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาส ทั้งนี้สภาพัฒน์ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัว 2.6% ส่วนในปีหน้าคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ในช่วง 2.3%-3.3% (ค่ากลาง 2.8%)  
 
Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังเผชิญความไม่แน่นอน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงด้านต่ำต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะข้างหน้า โดยเฉพาะสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ถือเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาเร่งตัว ทั้งยังสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงิน อันจะกดดันจีดีพีของประเทศต่างๆโดยเฉพาะจีน ทั้งนี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังจีน รวมถึงการแย่งตลาดต่างประเทศและการเข้ามาตีตลาดจากจีน ความไม่แน่นอนข้างต้นเป็นความเสี่ยงต่อประมาณการจีดีพีไทยซึ่งอาจต่ำกว่าคาด

จีดีพีไตรมาส 3/2567 เร่งตัวขึ้น 3.0%YoY หลังการบริโภคและลงทุนภาครัฐปรับตัวดีขึ้นตามการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งการส่งออกที่ขยายตัวดี
 
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3/2567 ขยายตัว 3.0%YoY หรือเพิ่มจากไตรมาสก่อนหน้า 1.2%QoQSA โดยการรายงานเศรษฐกิจด้านรายจ่ายในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 มีประเด็นสำคัญ ได้แก่
 
• การอุปโภคบริโภคเอกชนขยายตัว 3.4% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 4.9% สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับลงจากไตรมาสก่อนสู่ระดับ 50.1 ถือเป็นค่าความเชื่อมั่นต่ำที่สุดในรอบ 6 ไตรมาส ปัจจัยหลักจากการหดตัวของการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทน 9.9% ติดลบสูงกว่าเดิมที่ 7.7% ในไตรมาสก่อน ตามการลดลงของการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะ ส่วนการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนชะลอตัวที่ 2.4% ปัจจัยหลักจากรายจ่ายในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่แผ่วลง เช่นเดียวกับการใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทน และการใช้จ่ายหมวดบริการ ซึ่งต่างชะลอตัวลงสู่ 3.5% และ 6.5% เทียบจากไตรมาสก่อนตามลำดับ
 
• การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลเร่งตัวขึ้นชัดเจน 6.3% เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัวได้เพียง 0.3% จากรายจ่ายเงินโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดซึ่งเร่งตัวถึง 36.9% ประกอบกับรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการ รวมทั้งค่าตอบแทนแรงงานขยายตัวได้ที่ 8.5% และ 1.1% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า
 
• การลงทุนรวมขยายตัว 5.2% กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง จากที่เคยหดตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาส อานิสงส์จากการลงทุนภาครัฐซึ่งขยายตัวแรงถึง 25.9% เทียบจากที่หดตัว 4.0% ในไตรมาสก่อน ตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนหดตัว 2.5% ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว ตามการหดตัวในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือ โดยเฉพาะกลุ่มยานพาหนะเป็นสำคัญ  
 
• การส่งออกสินค้าเร่งตัวขึ้น 8.3% เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัวได้ 1.9% ตามการขยายตัวของการส่งออกทั้งกลุ่มสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการส่งออกข้าวและยางพาราที่เติบโตได้ดี รวมถึงมีแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์ และทูน่ากระป๋อง ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหมวดอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวต่อเนื่อง
 
• การส่งออกบริการขยายตัว 21.9% เร่งตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 19.6% โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 8.6 ล้านคน สูงกว่ายอด 8.1 ล้านคนในไตรมาสก่อน ส่งผลให้รายรับภาคการท่องเที่ยวไตรมาสนี้อยู่ที่ 3.57 แสนล้านบาท
 
 

สภาพัฒน์คาดเศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวได้ 2.6% สอดคล้องกับกรอบประมาณการเดิมในช่วง 2.3% - 2.8% จากแรงขับเคลื่อนของการส่งออกที่ขยายตัวดีกว่าคาด โดยสภาพัฒน์ได้ปรับคาดการณ์มูลค่าการส่งออกขึ้นเป็น 3.8% (จากเดิม 2.0%) และการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็น 2.4% (จากเดิมมองว่าหดตัวที่ -0.7%) อานิสงส์จากการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ แม้กระนั้นก็ตาม เศรษฐกิจภายในประเทศได้รับแรงกดดันจากการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจหดตัว 0.5% (จากที่เคยมองว่าจะขยายตัวได้ 0.3%) ปัจจัยหลักจากการลงทุนหมวดเครื่องจักรเครื่องมือ โดยเฉพาะยานพาหนะที่มีแนวโน้มติดลบ
 
ส่วนทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2568 สภาพัฒน์ประเมินว่าจะขยายตัวได้ในช่วง 2.3% ถึง 3.3% (ค่ากลาง 2.8%) มีแนวโน้มเติบโตได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2567 จากปัจจัยสนับสนุนทั้ง (1) การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ ตามกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีและรายจ่ายเหลื่อมปีงบประมาณ 2568 (2) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนซึ่งคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง (3) การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและรายรับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น และ (4) การขยายตัวต่อเนื่องของส่งออกสินค้า ส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากวัฏจักรขาขึ้นของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี สภาพัฒน์มองว่าเศรษฐกิจในปีหน้ายังมีปัจจัยกดดันจาก (1) ภาวะผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงด้านต่ำต่อการขยายตัวต่ำกว่ำคาดของเศรษฐกิจและการค้าโลก (2) ภาระหนี้สินของภาคครัวเรือนและธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และ (3) ความผันผวนในภาคเกษตรทั้งเชิงผลผลิตและราคา อีกทั้งยังต้องติดตามสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนสูง
 
 

Implication:
 
• เศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 โตกว่าคาด อานิสงส์จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาครัฐปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการส่งออกสินค้าและบริการยังขยายตัวต่อเนื่อง จีดีพีไตรมาส 3/2567 ขยายตัว 3.0%YoY เร่งตัวจากไตรมาสก่อนซึ่งเติบโต 2.2%YoY ทั้งยังสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 2.6% ปัจจัยหลักจากการเร่งตัวของการใช้จ่ายภาครัฐที่หนุนจีดีพีไตรมาสนี้ราว 1.0ppt. ขณะเดียวกัน การลงทุนภาครัฐยังขยายตัวแรง ซึ่งส่งผลให้การลงทุนรวมกลับมาเติบโตเป็นบวกและช่วยให้จีดีพีเพิ่มขึ้นราว 1.3ppt. นอกจากนี้การส่งออกสุทธิที่อยู่ในทิศทางขยายตัวได้ดี ถือเป็นปัจจัยอีกส่วนหนึ่งช่วยหนุนจีดีพีเพิ่มขึ้นราว 1.2ppt. 
        
 
• สภาพัฒน์คาดเศรษฐกิจปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัว 2.6% สะท้อนว่าจีดีพีไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น โดยในช่วง 9M67 ที่ผ่านมา จีดีพีขยายตัวได้ 2.3%YoY หากจีดีพีปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 2.6% ดังนั้นในไตรมาสที่ 4 จีดีพีต้องเติบโตอย่างน้อย 3.7%YoY เร่งขึ้นจาก 3.0%YoY ในไตรมาสที่ 3 ซึ่ง Krungthai COMPASS มองว่ามีความเป็นไปได้จากจากการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการขับเคลื่อนของภาครัฐเป็นสำคัญ โดยเฉพาะโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเติมเงินสู่ระบบให้กับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายละ 10,000 บาท จำนวน 14.5 ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 1.45 แสนล้านบาท โดยมีสัดส่วนถึงประมาณ 5% ของจีดีพีในไตรมาสที่ 4 นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าของไทยยังมีโอกาสเติบโตได้ในช่วงที่เหลือของปี ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในช่วงขาขึ้น
 
• Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังต้องเผชิญความไม่แน่นอน ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงด้านต่ำต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะข้างหน้า โดยเฉพาะสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นชัดเจน จากการประกาศขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯตามนโยบายของว่าที่ ปธน. ทรัมป์ ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในเดือนมกราคม 2568  จากรายงาน Word Economic Outlook (WEO) ฉบับเดือนตุลาคม 2567 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าที่ยกระดับ นอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศแล้ว ยังจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาเร่งตัว และสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงิน ซึ่งต่างเป็นปัจจัยลบที่กดดันจีดีพีของประเทศต่างๆรวมถึงสหรัฐฯ ในภาพรวมการเพิ่มกำแพงภาษีรอบใหม่จะปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าต่อประเทศต่างๆประมาณ 10-20% ส่วนจีนจะถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 60% แรงกดดันซึ่งพุ่งเป้าต่อจีนเป็นหลักดังกล่าว นอกจากจะส่งผลลบต่อการส่งออกและจีดีพีของจีนแล้วยังกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเอเชียรวมถึงไทย ทั้งจากการชะลอตัวของการส่งออกไปจีน การแย่งตลาดต่างประเทศรวมถึงการตีตลาดในประเทศของสินค้าจีน ทั้งนี้จีนถือเป็นประเทศที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นคู่ค้าหลักอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนถึง 12% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
 
• สำนักวิจัยต่างประเทศบางแห่งมองจีดีพีไทยมีโอกาสโตเพียง 2% สะท้อนว่า การประมาณการจีดีพีปี 2568 ของสภาพัฒน์มีความเสี่ยงที่ตัวเลขจะออกมาต่ำกว่าที่คาด โดยเฉพาะการส่งผ่านผลกระทบจากสงครามการค้าต่อจีนมายังไทย ซึ่งนักวิเคราะห์บางส่วนคาดว่าอัตราการเติบโตของจีนในปีหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 4% หรือต่ำกว่านั้น จากการประเมินความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกันพบว่า จีดีพีของไทยและจีนมีความสัมพันธ์ค่อนข้างสูง (Corr=0.57) หากจีนโตช้าลงจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ส่วนหนึ่งต้องพึ่งพาจีน จึงมีความเป็นไปได้ที่จีดีพีของไทยอาจโตต่ำกว่าที่คาด โดยบางรายประเมินว่าจีดีพีในปี 2568 ของไทยอาจโดได้เพียง 2% เท่านั้น
 
 
 
ฉมาดนัย มากนวล
Krungthai COMPASS 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 พ.ย. 2567 เวลา : 11:30:30
23-11-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (22 พ.ย.67) บวก 5.84 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,446.30 จุด

2. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (22 พ.ย.67) บวก 8.45 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,448.91 จุด

3. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับที่ระดับ 2,650 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,700 เหรียญ

4. ตลาดหุ้นไทยเปิด (22 พ.ย.67) บวก 4.22 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,444.68 จุด

5. ทองเปิดตลาดวันนี้ (22 พ.ย. 67) พุ่งขึ้น 300 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 44,500 บาท

6. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (21 พ.ย.67) พุ่ง 461.88 จุด รับปัจจัยบวกแรงซื้อหุ้นวัฏจักร

7. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (21 พ.ย.67) พุ่ง 23.20 เหรียญ นักลงทุนแห่ซื้อทองสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครนรุนแรงขึ้น

8. "ยอดดอย" อากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7 องศา , มรสุมพัดปกคลุมภาคใต้ ส่งผลภาคใต้ ฝนฟ้าคะนอง 70-80%

9. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (22 พ.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์

10. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 34.65-34.90 บาท/ดอลลาร์

11. ตลาดหุ้นปิด (21 พ.ย.67) ลบ 22.02 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,440.46 จุด

12. ประกาศ กปน.: 26 พ.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนเพชรเกษม

13. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (21 พ.ย.67) ลบ 18.69 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,443.79 จุด

14. MTS Gold คาดมีกรอบแนวรับ 2,630 เหรียญ และมีแนวต้านที่ 2,675 เหรียญ

15. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (20 พ.ย.67) พุ่งขึ้น 20.70 เหรียญ เหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครน หนุนแรงซื้อทอง

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 3:09 pm